หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ณฐภัทร อ่ำพันธุ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
วิธีการสอนหลักพุทธธรรมตามหลักวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุ
ชื่อผู้วิจัย : ณฐภัทร อ่ำพันธุ์ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  อำนาจ บัวศิริ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการสอนหลักพุทธธรรมและวิธีการสอนทางวิทยาศาสตร์, (๒) เพื่อศึกษาวิธีการสอนหลักพุทธธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ และ (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการสอนหลักพุทธธรรมตามหลักวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุ

             ผลการศึกษาพบว่า พุทธวิธีการสอนมีความสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ เนื่องด้วย     มีหลักการสอนเพื่อการพัฒนาความรู้หรือปัญญาให้มีขึ้นด้วยตัวผู้เรียนเองผ่านประสบการณ์ตนเอง  และเอื้อประโยชน์แก่ผู้เรียน  มีวิธีการสอนที่เป็นขั้นตอนอย่างมีระบบ ได้แก่ วิธีสอนด้วยการอุปมา การยกตัวอย่าง การแสดงให้เห็นโดยประจักษ์เป็นรูปธรรม  ด้วยวิธีสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น วิธีสอนโดยการบรรยาย การสนทนา การวางระเบียบปฏิบัติ และการทดลอง เป็นต้น  โดยที่เป้าหมายของการสอนนั้นเป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง คือการบรรลุนิพพาน

             วิธีการสอนหลักพุทธธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ มีหลักการเช่นเดียวกันกับหลักการของพุทธวิธีการสอน  และเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ความมีเหตุผล การพิสูจน์เชิงประจักษ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า และการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์  ตัวอย่างเช่น วิธีการสอนสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม  วิธีการสอนเรื่องที่เห็นตามได้ยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้โดยง่ายด้วยการตระหนักรู้ทางใจ และวิธีการสอนการปฏิบัติจิตตภาวนาแบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์  โดยมีเป้าหมายของการสอนมุ่งเพื่อมรรคผลนิพพาน และนิพพานที่นี้เดี๋ยวนี้  ท่านพุทธทาสภิกขุใช้หลักธรรมเป็นแนวทางการอธิบายคำสอน ได้แก่ “หลักอริยสัจ ๔”, “หลักธรรมลักษณะ ๘” และ “หลักปฏิจจสมุปบาท”  โดยใช้วิธีสอนแบบต่างๆ ได้แก่ วิธีสอนโดยการบรรยาย, การอภิปราย,  การสัมมนา, การสาธิต, ผลงานงานเขียน, งานประพันธ์ร้อยกรอง, การใช้งานศิลปะ และการกระทำเป็นแบบอย่างที่ดี 

             งานวิจัยนี้ได้เสนอรูปแบบการสอนหลักพุทธธรรมตามหลักวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นดังนี้ คือ ๑) กำหนดหัวเรื่องที่สอน และความสำคัญ, ๒) สร้างฉันทะการเรียนรู้, ๓) อธิบายเนื้อหาโดยสรุปและโดยละเอียด, ๔) แนะนำการปฏิบัติทดลอง, และ ๕) การประเมินผลและสรุป  ซึ่งแสดงเป็นคำย่อได้ว่า “SIELEC” 

             ผลการศึกษานี้ยังพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดเรื่องการสอนพระพุทธศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า อุปนิสัยใฝ่ศึกษาหาความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ด้วยการเรียนรู้จากธรรมชาติ และความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การศึกษาพระพุทธศาสนาตามแนวทางท่านพุทธทาสภิกขุ คือการศึกษาอย่างเป็นลำดับ เริ่มจากที่ “การมีสติขณะผัสสะ” ที่เรียกว่า หลักปฏิจจสมุปบาทแบบขณะจิต,  การเรียนรู้หลักพุทธธรรมเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ ได้แก่ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ, การจดจำหลักธรรมสำคัญสำหรับการปฏิบัติได้  และการฝึกฝนปฏิบัติอานาปานสติภาวนา  เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์,  หลักธรรมะ ๙ ตา และพระรัตนตรัยในความหมายของภาษาธรรม

งานวิจัยนี้ ได้เสนอแนวคิดในการสังเคราะห์วิธีการสอนแบบใหม่ โดยอาศัยหลักการและวิธีการสอนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของท่านพุทธทาสภิกขุ ผสมผสานกับพรสวรรค์หรือความสามารถเฉพาะตนของผู้สร้างสรรค์  ซึ่งผู้วิจัยได้เสนอวิธีการสอนหลักพุทธธรรมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในชื่อว่า วิธีสอนหลักปฏิจจสมุปบาทภาคปฏิบัติโดยใช้บทกลอนโต้ตอบตนเอง.

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕