หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วิไลวรรณ อาจาริยานนท์
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๒ ครั้ง
รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรม สำหรับผู้สูงอายุ
ชื่อผู้วิจัย : วิไลวรรณ อาจาริยานนท์ ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 การศึกษาเรื่องรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้สูงอายุ
มีวัตถุประสงค์การวิจัย ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ๒. เพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขสำหรับผู้สูงอายุตามหลักพุทธธรรม ๓. เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรม

ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุศึกษาจาก ๑. ผู้สูงอายุทั่วไป ใน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ๑) ความต้องการความสุขของผู้สูงอายุแยกเป็น ๒ ด้าน คือ ความต้องการความสุขทางกาย และความต้องการความสุขทางใจ  ๒) ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิตที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุขมี ๒ ด้าน คือ อุปสรรคทางกายและอุปสรรคทางใจ ๓) รูปแบบในการดำเนินชีวิตที่ผู้สูงอายุคาดหวังหลังวัยเกษียณ พบว่า แนวคิดเรื่องความสุขของผู้สูงอายุให้ความสำคัญต่อความสุขมากขึ้นกว่าเดิมทั้ง ๒ ด้าน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความพอใจในรูปแบบการดำเนินชีวิตปัจจุบันแล้ว มีส่วนน้อยที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
๒.
ศึกษาจากหลักการและแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ พบว่า ล้วนให้ความรู้และข้อแนะนำที่ดีในการปฏิบัติตนในวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้สูงอายุสามารถนำไปใช้เพื่อสุขภาวะที่ดีต่อไปได้

การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขสำหรับผู้สูงอายุตามหลักพุทธธรรมมีคำอธิบายความสุขไว้ทุกแง่มุม การดำเนินชีวิตในทางพระพุทธศาสนาสอนว่าควรดำเนินชีวิตตามแนวทางมัชฌิมาปฏิปทาจึงจะมีความสุขและพ้นจากความทุกข์ได้ หลักการสำคัญในพุทธธรรมมีความสมบูรณ์ ชัดเจน ทั้งด้านปริยัติ และข้อเสนอทางการปฏิบัติที่จะสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตที่ดี และมีความสุขได้จริง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติ ทรงตรัสรู้ และทรงเข้าสู่นิพพาน (บรมสุข) อันเป็นความสุขในขั้นสูงสุดด้วยพระองค์เองแล้ว ดังนั้น การดำเนินชีวิตตามหลักพุทธธรรมเป็นการเจริญรอยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงสามารถแก้ปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุขาดความสุขได้ และจะนำพาชีวิตของผู้สูงอายุไปสู่ความสุขที่ประณีตขึ้นต่อไป


รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีความสุขได้จากการบูรณาการองค์ความรู้จากการศึกษาการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ หลักการและแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมกับพุทธธรรมเป็น ๒ รูปแบบ คือ ๑) รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรม ใช้เป็น
คู่มือในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของผู้สูงอายุ และ ๒) รูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้สูงอายุ ใช้เป็น ระบบการปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข รูปแบบที่ ๑ ผู้วิจัยสรุปคู่มือการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรมเป็นคำย่อคือ GAPPSIDE ประกอบด้วยวิทยาการ ๘ หัวข้อ ได้แก่ (๑) จุดหมายของการดำเนินชีวิตคือความสุขในระดับต่าง ๆ (Goal) (๒) แนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม คือ แก้ทุกข์ สร้างสุข (Attitude) (๓) หลักการในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรม (Principle) มีส่วนประกอบ ๕ ข้อ คือ (๓.๑) ไตรสิกขา (๓.๒) หน้าที่ต่ออริยสัจ (๓.๓) หลักพุทธธรรมเรื่องความสุข (๓.๔) จุดหมายในการดำเนินชีวิต (๓.๕) วิธีปฏิบัติต่อความสุข (๔) แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และมีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา (Right Path) คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์แปด ได้แก่ (๔.๑) สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) (๔.๒) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) (๔.๓) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) (๔.๔) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) (๔.๕) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) (๔.๖) สัมมาวาจา (วาจาชอบ) (๔.๗) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) (๔.๘) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) (๕) ระบบการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและมีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา (System of happy life) มี ๔ แง่ คือ (๕.๑) ในแง่การรับรู้ รับรู้เป็น (๕.๒) ในแง่การเสพบริโภค กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น (๕.๓) ในแง่การทำกรรม คิดเป็น พูดเป็น สื่อสารเป็น เสวนา คบหาเป็น (๕.๔) ในแง่การล่วงพ้นปัญหา แก้ปัญหาเป็น โดยคำว่า เป็น มีความหมายว่า พอดี ที่จะบรรลุจุดหมายของกุศลฉันทะได้ (๖) วิธีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและมีความสุขตามหลักพระพุทธศาสนา (The Implementation or Procedure of the happy life) มีการฝึก ๒ ด้าน คือ (๖.๑) ฝึกหลักจริยะอันประเสริฐ ใน ๓ ขั้น คือ ขั้นที่ ๑ เข้าใจ ความจริงของธรรมชาติ ขั้นที่ ๒ คือ กระทำการที่เป็นเหตุให้เกิดผลสอดคล้องกับธรรมชาติ ขั้นที่ ๓ คือ วางใจเป็นอิสระ ไม่เอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้อง (๖.๒) ฝึกพัฒนาตนให้ดำเนินชีวิตไปในทางแห่งความสุขตามหลักพุทธธรรม โดยวิธีที่จะเข้าสู่เส้นทางของมรรคมีองค์แปดคือ ๑. สร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒. สร้างปัจจัยแก่สัมมาสังกัปปะให้เกิดขึ้น ๓. ฝึกบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ๔. ฝึกพัฒนาการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ๓ ด้าน คือ ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาภาวะจิต และด้านการพัฒนาปัญญา (๗) หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข (Dhamma for the happy life) คือ ธรรมที่เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ สุจริต ๓ อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา สติสัมปชัญญะ โยนิโสมนสิการ ศรัทธา สัทธรรม และ
(๘) กระบวนการวัดผลการดำเนินชีวิตที่ดีตามหลักพุทธธรรม
(Evaluate the happy life) คือ ภาวนา ๔ ได้แก่ (๘.๑) กายภาวนา (๘.๒) ศีลภาวนา (๘.๓) จิตภาวนา (๘.๔) ปัญญาภาวนา ส่วนรูปแบบที่ ๒ การดำเนินชีวิต ประจำวันอย่างมีความสุขตามหลักพุทธธรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้วิจัยได้ออกแบบระบบให้แก่ผู้สูงอายุที่ต้องการพัฒนากระบวนการสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน โดยใช้รูปแบบที่ ๑ เป็นกรอบหลัก แล้วแยกระบบการดำเนินชีวิตที่ดี (S) จาก GAPPSIDE กับรายละเอียดข้อแนะนำที่ดีจากหลักการและแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มานำเสนอให้ผู้สูงอายุเลือกใช้ตามจริตของตน สรุปเป็นคำย่อ คือ SCAS ซึ่งเป็นระบบการดำเนินชีวิตโดยรู้จักใช้ปัญญาในการกระทำตามแนวทางแห่งมัชฉิมาปฏิปทาซึ่งพอดีที่จะบรรลุจุดหมายได้ในระบบทั้ง ๔ แง่ คือ ๑. การรับรู้เป็น (Sense)  ๒. การเสพบริโภคเป็น (Consumption) ๓. การกระทำกรรมเป็น (Action) ๔. การล่วงพ้นปัญหาเป็น (Solve the problem)

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕