หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สายรุ้ง บุบผาพันธ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
การพัฒนาทุนมนุษย์ตามหลักพุทธธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ชื่อผู้วิจัย : สายรุ้ง บุบผาพันธ์ ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๑/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์
  พิเชฐ ทั่งโต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ


                                                 บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ (๒) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามหลักพุทธธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาทุนมนุษย์ตามหลักพุทธธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
           ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลสองขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่งจากผู้ให้ข้อมูลหลัก ๒๕ รูป/คน เลือกแบบเจาะจงจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักพุทธธรรม ด้วยแบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ขั้นตอนที่สองเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนร่วมในการสนทนากลุ่มเฉพาะจำนวน ๑๑ รูป/คนเลือกแบบเจาะจงจากผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ข้อมูลจากทั้งสองขั้นตอนด้วยการพรรณนาความ
     ผลการวิจัยพบว่า
       ๑) การพัฒนาทุนมนุษย์ตามแนวคิดของ ลีโอนาร์ด แนดเลอร์ (Leonard Nadler) คือ       การพัฒนาที่ตัวบุคคล เพื่อให้บุคคลนั้นๆมีศักยภาพในการสนองตอบต่อความต้องการขององค์การและสังคม โดยมีกิจกรรมต้องปฏิบัติได้แก่ การฝึกอบรม (Training) การศึกษา (Education) และการพัฒนา (Development) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เพิ่มพูนความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) ความสามารถ (Capacities) ตลอดจนทัศนคติ (Attitude) ตามคุณลักษณะหลักของข้าราชการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้แก่ การปรับทัศนคติเสริมสร้างอัตลักษณ์ เพิ่มศักยภาพสู่ความเป็นมืออาชีพ และการพัฒนาทักษะก้าวสู่สากล
      ๒) สภาพทั่วไปในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามหลักพุทธธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง มีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ทักษะ ตลอดจนทัศนคติในการปฏิบัติงาน โดยได้มีการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้าง โดยยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้มาเป็นแนวทางในการพัฒนาข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้าง เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน ส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ ส่งเสริมความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และส่งเสริมทัศนคติในการอยู่ร่วมกัน โดยผ่านกระบวนการการฝึกอบรม (Training) การศึกษา (Education) และการพัฒนา (Development)   
       ๓) รูปแบบในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามหลักพุทธธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยนำหลักภาวนา ๔ มาใช้เป็นกรอบในการพัฒนา ประกอบด้วย ๑) กายภาวนา พัฒนากาย ๒) ศีลภาวนา พัฒนาศีล ๓) จิตภาวนา พัฒนาจิตใจ และ         ๔) ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา บูรณาการเข้ากับการพัฒนาทุนมนุษย์ตามแนวคิดของ ลีโอนาร์ด แนดเลอร์ (Leonard Nadler) กำหนดเป็นรูปแบบการพัฒนาทุนมนุษย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ๓ รูปแบบ ดังนี้
    ด้านการฝึกอบรม เพื่อเป็นการปรับทัศนคติเสริมสร้างอัตลักษณ์ โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้ ๑) ส่งเสริมการฝึกอบรมและจัดโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่น               ๒) ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะการใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง ๓) ส่งเสริมโครงการฝึกอบรมข้าราชการที่ดี และเสริมสร้างทัศนคติที่จำเป็น ๔) ส่งเสริมโครงการฝึกอบรมทักษะสู่อาเซียน ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
    ด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ๑) ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับบริบทนานาชาติ ได้แก่ การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ๒) ส่งเสริมการศึกษาด้านกฎหมาย และโครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ๓) เสริมสร้างความรู้ เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมนธรรม เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานเดียวกัน ๔) ส่งเสริมการศึกษาของบุคลากร และเสริมสร้างความชำนาญในอาชีพอย่างต่อเนื่อง
    ด้านการพัฒนา เพื่อพัฒนาทักษะก้าวสู่สากล โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ๑) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ๒) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง และการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำในทุกระดับ ๓) ส่งเสริมโครงการปฏิบัติธรรม รักษาศีล เสริมสร้างทักษะทางจิตให้มีสมาธิในการปฏิบัติงาน ๔) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านภาษา และการใช้เทคโนโลยี

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕