หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เจริญ มณีจักร์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๘ ครั้ง
รูปแบบและกระบวนการถอนทิฏฐิเจตสิกตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : เจริญ มณีจักร์ ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติยานุศาสน์
  จำลอง ดิษยวณิช
  พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

                                                   บทคัดย่อ

                     

วิทยานิพนธ์นี้ป็นการวิจัยเชิงเอกสารมีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาทิฏฐิเจตสิกในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒. เพื่อศึกษากระบวนการถอนทิฏฐิเจตสิกด้วยมัชเฌนธรรม ๓. เพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการถอนทิฏฐิเจตสิกตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการวิจัยพบว่า ทิฏฐิเจตสิกกับมิจฉาทิฏฐิมีความหมายเหมือนกันคือ  ความเห็นผิด และยึดถือผิด มีความเห็นไม่ตรงตามสภาวะที่เป็นจริง มีความยึดมั่นโดยไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เป็นลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และส่วนรวม ล้วนแต่มีบทบาทเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศแห่งชีวิตในการสร้างกรรมชั่วหรือชี้นำวิถีชีวิตและสังคมมนุษย์ไปในทางอกุศลธรรม หรือ ส่งผลกรรมข้ามภพชาติ ดังปรากฏในปาฏลิยสูตรว่าหลังจากตายแล้วยังไม่พ้นจากการจะไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก (อบาย ทุคติ วินิบาต นรก) ซึ่งทิฏฐิเจตสิกมีหลายประเภท เช่น สักกายทิฏฐิ (ความเข้าใจผิด ความสำคัญผิดในเรื่องตัวตน) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง) อุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่า อัตตาขาดสูญ) นัตถิกทิฏฐิ (ความเห็นว่าสิ่งที่ทำแล้วไม่มีผลแห่งกรรม) อเหตุกทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มีเหตุปัจจัยแห่งกรรม) อกิริยทิฏฐิ (ความเห็นว่าเหตุแห่งกรรมดีชั่วและผลแห่งกรรมดีชั่วไม่มี) และทิฏฐิ ๖๒ ที่ปรากฏในพรหมชาลสูตรและทิฏฐิที่ปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท

กระบวนการถอนทิฏฐิเจตสิกด้วยมัชเฌนธรรม (ธรรมที่เป็นกลางหรือหลักความจริงเป็นกลางตามธรรมชาติ) คือ การถอนทิฏฐิเจตสิกโดยการไม่เข้าไปยึดติดขันธ์ ๕ และพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา  โดยการพิจารณาอายตนะภายในและ ภายนอก ว่าไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  โดยการพิจารณาทิฏฐิเจตสิกด้วยอาการไม่เที่ยง ใช้กระบวนการถาม - ตอบปัญหาพร้อมยกตัวอย่างคำอุปมาเปรียบเทียบ และโดยกรรมคือ การสร้างกุศลกรรม นอกจากนี้ยังมีรูปแบบและกระบวนการถอนทิฏฐิเจตสิกตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งมีหลากหลายในกระบวนการถอน เช่น การถอนด้วยการศึกษาและการพบกัลยาณมิตร การบำเพ็ญทานบารมี การบำเพ็ญศีลบารมี บำเพ็ญข้อวัตรการเดินธุดงค์ การสร้าง ๒ เหตุปัจจัยทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ การถอนสักกายทิฏฐิโดยไตรลักษณ์ การถอนอันตคาหิกทิฏฐิโดยการไม่ทรงตอบปัญหาเพราะเป็นการโต้เถียงกัน  ไม่มีข้อยุติ  หรือยุติได้ก็ไม่เกิดประโยชน์แต่ได้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ให้ฟัง โดยการไม่ยึดมั่นอุปาทานขันธ์ ๕ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และการถอนนิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ โดยการเว้นอกุศลธรรม ๓ ได้แก่  ๑. กายทุจริต  ๒.วจีทุจริต          ๓.มโนทุจริต  ให้บำเพ็ญกุศลธรรม ๓  ถอนทิฏฐิ ๖๒ โดยการไม่ยึดมั่นทางผัสสะ ๖ ถอนมิจฉาทิฏฐิโดยการไม่ไปคบหากับผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ให้เริ่มต้นตามลำดับคือ ต้องถอน ทิฏฐิเจตสิกด้วยมัชเฌนธรรมอันดับแรก ลำดับต่อไปถอนตามกระบวนการขั้นต้นส่งผลระดับ  ตทังคปหานะ (ถอนได้ชั่วคราว) ขั้นสมถกรรมฐานถอนโดยการเจริญอานาปานสติ ส่งผลระดับวิกขัมภนปหานะ (ถอนด้วยการข่ม)  และขั้นสูงสุด  เป็นระดับสมุจเฉทปหานะคือ  ถอนทิฏฐิเจตสิกโดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วย    มหาสติปัฏฐานสูตร หรือ สติปัฏฐาน ๔  จนเกิดมรรคญาณในจิตตนเองซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕