หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อรอุมา เลาหพิบูลย์กุล
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
วิธีการบำบัดรักษาสุขภาพเชิงพุทธบูรณาการ
ชื่อผู้วิจัย : อรอุมา เลาหพิบูลย์กุล ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวรมุนี
  วีรชาติ นิ่มอนงค์
  สุวิญ รักสัตย์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

      การศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาการบำบัดรักษาสุขภาพแผนปัจจุบัน (๒) เพื่อศึกษาการบำบัดรักษาสุขภาพในพระพุทธศาสนา และ (๓) เพื่อบูรณาการการบำบัดรักษาสุขภาพในพระพุทธศาสนา วิธีการวิจัยเป็นเชิงคุณภาพโดยศึกษาจากเอกสารชั้นปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก และเอกสารทุติยภูมิ ได้แก่ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และปกรณ์วิเสสตลอดจนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพและการรักษาโรคตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันและในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จากนั้นสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๕ ท่าน ตามกรอบการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาสุขภาพเชิงพุทธบูรณาการ 

                  ผลการวิจัยพบว่า

                  การบำบัดสุขภาพตามแผนปัจจุบันเป็นการบำบัดรักษาโดยอาศัยเครื่องมือการแพทย์เป็นแนวทางในการดูแลรักษาสุขภาพนั้นโดยมุ่งมั่นที่จะเอาชนะโรคด้วยยาและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เป็นการบำบัดรักษาแบบแยกส่วน ในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็เน้นความสามารถเฉพาะด้าน ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการแพทย์ทางวิทยาศาสตร์จึงทำให้ละเลยสมุฏฐานของโรคที่มีนอกเหนือจากทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึง ทำให้การรักษาเป็นไปตามที่เครื่องมือตรวจพบเท่านั้น

                  การบำบัดรักษาสุขภาพในพระพุทธศาสนามีแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกและที่มีกล่าวไว้ในพระสุตตันตปิฎก การแพทย์ในพระพุทธศาสนาเน้นทั้งทางด้านกายและจิตใจ มีสมุฏฐานที่ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ อุตุ อาหาร จิต และกรรม ที่สำคัญพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าโรคเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย แต่เป็นปกติของร่างกายที่จะต้องมีโรคาพยาธิเบียดเบียน การรักษาจึงเป็นไปอย่างธรรมชาติ มีทั้งรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้วและการป้องกันรักษาสุขภาพ การบำบัดรักษาสุขภาพต้องอาศัยทั้งยา อาหารและผู้ดูแล สำหรับยารักษาโรคในพระพุทธศาสนามีทั้งที่เป็นสมุนไพร และที่เป็นธรรมโอสถ รวมถึงการบำเพ็ญกุศลเพื่อรักษาโรคกรรม การรักษาโรคทางกายเป็นไปตามอาการและสมุฏฐานของโรค แต่พระพุทธศาสนาได้เน้นถึงการรักษาสุขภาพใจให้สมบูรณ์ด้วยการปฏิบัติธรรมทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะเมื่อจิตสงบ ร่างกายก็ผ่องใสตามไปด้วย  ส่วนการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นคือรู้จักบริหารร่างกายด้วยการรู้จักเลือกรับประทานอาหาร รู้จักรักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และดูแลสิ่งแวดล้อม 

ดาวน์โหลด

                  การบูรณาการรักษาสุขภาพเชิงพุทธบูรณาการ สามารถกระทำได้ ดังนี้:-

                  ๑. การแพทย์แผนปัจจุบันมีระบบการตรวจวินิจฉัยโรคที่ทันสมัยแต่ต้องครอบคลุมทุกมิติของสมุฏฐานโรค คือ อุตุ อาหาร จิต และกรรม  รวมถึงโรคที่เกิดจากสมุฏฐานเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องอื่น ๆ ด้วยที่ทำให้ป่วยไข้ และต้องวินิจฉัยโยงถึงอวัยวะที่เกี่ยวข้องกันด้วย

๒. การใช้อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์แผนปัจจุบันต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วย ต้องใช้อย่างมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นพื้นฐาน และต้องระมัดระวังผลข้างเคียงด้วย สำหรับโรคทางจิตแล้วต้องใช้การพิจารณาความเจ็บป่วยตามแนวพระพุทธศาสนา

๓. ยารักษาโรคต้องใช้เท่าที่จำเป็น เพราะยาตามแผนปัจจุบันนั้นเป็นยาที่มีฤทธิ์สารเคมีทำให้มีผลต่อร่างกาย โรคบางโรคก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาเสมอไป เพียงรู้จักปรับความสมดุลร่างกายก็อาจหายจากโรคได้ โดยเฉพาะธรรมโอสถในพระพุทธศาสนาใช้ได้กับโรคทางใจได้อย่างดีและช่วยให้หายจากโรคทางกายได้ด้วย

                  ๔. วิธีการรักษาโรคทางกายตามวิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การฉายแสง ฉีดยา ผ่าตัด รับประทานยา เป็นต้น รวมถึงวิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วย

๕. จุดมุ่งหมายในการรักษาสุขภาพนอกจากจะให้ผู้ป่วยหายจากโรคแล้ว ควรให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องความเจ็บป่วยอย่างถูกต้องด้วย ไม่เน้นการทำลายเชื้อโรคด้วยเครื่องมือแพทย์และยาเป็นหลัก เพราะการทำลายโรคบางโรคให้หมดไปแต่อาจทำให้โรคอื่นเข้ามาแทรกซ้อนได้โดยง่าย ต้องทำการรักษาแบบองค์รวมคือทั้งทางกายและทางใจไปพร้อมกัน จุดมุ่งหมายของการรักษาสุขภาพที่ดีก็คือการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้มีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕