หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พิรัชย์ ศรีราม
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๔ ครั้ง
ยุทธศาสตร์การพัฒนาธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยหลักพุทธธรรมในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน
ชื่อผู้วิจัย : พิรัชย์ ศรีราม ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุรพล สุยะพรหม
  นภัทร์ แก้วนาค
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                 การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสภาพทั่วไป ปัญหาและผลกระทบด้านการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน ๒) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีหลักธรรมาภิบาลและหลักพุทธธรรมที่เหมาะสมกับการปกครองท้องถิ่น ๓) เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นสู่ความเป็นองค์กรธรรมาภิบาลโดยบูรณาการตามหลักพุทธธรรม

                 ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน ระหว่างวิธีวิจัยเชิงประมาณและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ บุคลากรเทศบาลและประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน  กลุ่มประชากรที่ใช้วิจัยเชิงปริมาณ คือบุคลากรเทศบาลและประชาชนในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน จำนวน ๔๐๐ คน ได้แก่ กลุ่มบุคลากรเทศบาล จำนวน ๒๐๐ คน และกลุ่มประชาชนผู้รับบริการ จำนวน ๒๐๐ คน โดยใช้สูตรของทาโร ยามาเน่ และกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนเท่ากับ ๕ เปอร์เซ็นต์ เลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในแบบสอบถาม มีระดับความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๗๘ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

               การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน ๑๘ รูป/คน แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้รู้หลักพุทธธรรม จำนวน ๔ รูป กลุ่มบุคคลากรเทศบาลที่เป็นผู้ให้การบริการและประชาชนผู้รับบริการ จำนวน ๘ คน กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๓ คน และกลุ่มนักวิชาการ จำนวน ๓ คน และการสนทนากลุ่ม จำนวน ๑๒ รูป/คน ได้แก่พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๓ รูป ผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน ๒ คน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จำนวน ๒ คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปกครอง จำนวน ๓ คน ภาคประชาชน จำนวน ๒ คน  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การบรรยายเชิงพรรณาด้วยเทคนิค 6C’s

                 ผลการวิจัยพบว่า

                 ๑) สภาพทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นชุมชนอยู่ในเขตเกษตรกรรมและเขตอุตสาหกรรม การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่ามีปัญหาและผลกระทบด้านการบริหารงาน ๕ ด้าน ดังนี้ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริการสาธารณะ ด้านการบริหารบุคคล ด้านบริหารการศึกษา และด้านบริหารสาธารณะสุข

                 ๒) การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยหลักพุทธธรรมในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน ตามหลักธรรมาภิบาล ๖ ด้าน และหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ด้าน พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารงานอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งเป็นหลักการบริหารงานและเป็นหลักพุทธธรรมที่เหมาะสมกับการบริหารงาน

                 ๓) ยุทธศาสตร์การพัฒนาธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยหลักพุทธธรรมในเขตจังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ PIRAT MODEL ดังนี้ (๑) Participation การมีส่วนร่วมของบุคลากรเทศบาลกับประชาชน ในด้านการบริหาร การบริการ และการสนับสนุน บุคลากรเทศบาลและประชาชนต้องมีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารงานของเทศบาล การบริหารงานที่ยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม และการเสียสละ เพื่อให้การบริหารงานบรรลุเป้าหมาย

                 (๒) Importance ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร ในด้านการบริหาร การบริการ และการสนับสนุน บุคลากรเทศบาลและประชาชน วัฒนธรรมขององค์กรเป็นหัวใจสำคัญในการให้การบริการสาธารณะเพราะเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้รับบริการและผู้ให้บริการอย่างสม่ำเสมอ การประเมินผลความพึงพอใจมีความสำคัญสูงมากต่อการบริการ และต้องยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม และการเสียสละในการบริหารงานมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างมาก

                 (๓) Responsibility ความรับผิดชอบร่วมกับระบบการบริหาร ในด้านการบริหาร การบริการ และการสนับสนุน บุคลากรเทศบาลและประชาชน เพราะเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นจะต้องดำเนินงานโดยรับผิดชอบต่อหลักกฎหมาย และต่อประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม และการเสียสละ ร่วมรับผิดชอบต่อระบบการบริหารงานร่วมกันระหว่างประชาชนกับบุคลากรเทศบาล

                 (๔) Authority ปฏิบัติหน้าที่ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา ในด้านการบริหาร การบริการ และการสนับสนุน บุคลากรเทศบาลมีหน้าทีต้องปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารเทศบาลปฏิบัติตามนโยบายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีธรรมาภิบาลการกำหนดเป้าหมายและทิศทางขององค์กรให้ชัดเจน การกำหนดกลยุทธ์การบริการที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาคุณภาพและความสัมพันธ์ในกลุ่มบุคลากรเทศบาล และการนำกลยุทธ์การสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ และต้องยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม และการเสียสละ ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่กำหนดและ

          (๕) Transparency หลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมภาคสังคม ในด้านการบริหาร การบริการ และการสนับสนุน บุคลากรเทศบาล ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมภาคสังคมคือการบริหารงานของเทศบาล ผู้บริหาร และบุคลากรเทศบาลต้องมีความเป็นธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสในการร่วมมือการบริหารจัดการทุกกิจกรรมของเทศบาล ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในการบริหาร การบริการ ตลอดจนการสนับสนุน บุคลากรเทศบาลต้องยึดมั่นในหลักการ ยึดมั่นในหลักคุณธรรม และการเสียสละ เพื่อการบริหารงานให้มีความโปร่งใสและเกิดประสิทธิผล

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕