หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วีรชัย อนันต์เธียร
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๐ ครั้ง
กลยุทธ์การพัฒนาจริยธรรมสำหรับเยาวชนไทย
ชื่อผู้วิจัย : วีรชัย อนันต์เธียร ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  .สุรพล สุยะพรหม
  นภัทร์ แก้วนาค
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

                                                         บทคัดย่อ


   การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๔ ข้อคือ ๑) เพื่อศึกษาประเด็นปัญหาของของเยาวชน ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกระทำผิดของเยาวชน  ๓) เพื่อศึกษาวิธีการประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการขัดเกลาจิตใจของเยาวชนให้มีพฤติกรรมที่ดี ๔) เพื่อกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาจริยธรรมของเยาวชนโดยการใช้หลักธรรมที่เหมาะสม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามสำหรับการวิจัยเชิงปริมาณโดยแบ่งกลุ่มผู้ตอบออกเป็น ๒ กลุ่มคือกลุ่มเยาวชนที่กระทำผิดจำนวน ๓๕๐ ชุด และกลุ่มผู้ปกครองของเยาวชนอีก ๓๕๐ ชุด ในการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๒๐ ท่าน แบบสอบถามและข้อคำถามสำหรับสัมภาษณ์เชิงลึกได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญก่อนนำไปใช้จริง การวิจัยจะได้รับประโยชน์คือ ทำให้ทราบประเด็นปัญหา ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาของเยาวชน ทางแก้ปัญหาเหล่านั้น หลักธรรมที่เหมาะสมและแผนกลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร
   ผลการวิจัยพบว่า
             ประเด็นปัญหาของของเยาวชน คือ ปัญหาทางร่างกายของเยาวชน ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาเพื่อนและบุคคลใกล้ชิด ปัญหาด้านแรงบันดาลใจและเป้าหมายในชีวิต ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมๆ  ปัญหาประวัติการทำผิด ปัญหาภูมิหลังและโอกาสของการศึกษา ปัญหาด้านพฤติกรรมเบี่ยงเบน และปัญหาด้านระบบการศึกษาของชาติ
   ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการกระทำผิดของเยาวชนมีปัจจัย ๔ ด้าน คือ ปัจจัยด้านสังคม เช่น สภาพสังคม เพื่อนของเยาวชน ชุมชนที่อยู่อาศัย การเข้าถึงสิ่งผิดกฎหมายและอบายมุขได้ง่าย ฯลฯ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เช่น ความต้องการเกินปัจจัย ๔ ค่าครองชีพสูง การขาดโอกาสในการทำงาน เป็นต้น ปัจจัยด้านครอบครัว เช่น ลักษณะการเลี้ยงลูก ลักษณะครอบครัว ลักษณะพ่อแม่ เป็นต้น และปัจจัยด้านตัวเยาวชนเอง เช่น ลักษณะของพันธุกรรม วุฒิภาวะที่ยังไม่พัฒนา ปัญหาการเจ็บป่วยของเยาวชน เป็นต้น โดยปัจจัยทั้ง ๔ ด้านนี้ส่งผลต่อเยาวชนแตกต่างกันไป
   วิธีการนำหลักธรรมมาใช้กับเยาวชนทำได้ใน ๒ มิติ คือ การประยุกต์วิธีการสอนหลักธรรม เช่นการเปิดใจเยาวชน กิจกรรมนอกหลักสูตร การเข้าค่ายต่างๆ เป็นต้น และการขัดเกลาจิตใจ เช่น การทำให้เยาวชนมีโอกาสเข้าใกล้ศาสนา การสร้างสำนึกที่ดีให้กับเยาวชน เป็นต้น
   กลยุทธ์การพัฒนาจริยธรรมของเยาวชนโดยใช้หลักธรรมที่เหมาะสมสำหรับเยาวชน ได้แก่ หลักเบญจศีล อริยสัจ ๔ มรรค พรหมวิหาร ๔ เป็นต้น ผู้วิจัยได้ค้นพบแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาเยาวชน ๔ แผน คือ แผนกลยุทธ์ด้านการอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ และบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างสงบสุข แผนกลยุทธ์ด้านการสร้างเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรมของเยาวชนและค่านิยมที่ถูกต้อง แผนกลยุทธ์ด้านการการปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมและกฎกติกาของสังคม และแผนกลยุทธ์ด้านการสั่งสอนให้มีแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ดี
            ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะจากงานวิจัยนี้ใน ๓ แนวทาง คือ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การปรับ แก้กฎหมาย การทำแผนพัฒนาแห่งชาติ การวางแผนระยะยาว เป็นต้น ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ การกำหนดให้เยาวชนไปวัด การบรรพชาสามเณร การเข้าค่ายคุณธรรม เป็นต้น และข้อเสนอแนะสำหรับการทำการวิจัยต่อ ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมกับเยาวชนเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศ กลยุทธ์การฝึกเยาวชนให้มีโอกาสทำความดีทุกวันเพื่อเป็นรากฐานชีวิตที่ดี การสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทางและเป้าหมาย การสร้างสรรค์กิจกรรมทางศาสนาเพื่อสนับสนุนการเข้าค่ายคุณธรรมของเยาวชน เป็นต้น

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕