หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบุญทรง ปุญฺญธโร (หมีดำ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
วิธีปรับแก้วิปัสสนูปกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระบุญทรง ปุญฺญธโร (หมีดำ) ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี
  จำลอง ดิษยวณิช
  ปรุตม์ บุญศรีตัน
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

                                                                         บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่องวิธีปรับแก้วิปัสสนูปกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษา ความหมาย ประเภทและลักษณะของวิปัสสนูปกิเลสในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาวิธีปรับแก้วิปัสสนูปกิเลสแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาในพระพุทธศาสนาเถรวาท

การวิจัยแบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน คือ ๑) การวิจัยเอกสาร ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถาตำราวิชาการเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วทำการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำมาเรียบเรียงนำเสนอในเชิงพรรณนา ๒) การวิจัยภาคสนาม ผู้วิจัยศึกษาวิธีปรับแก้วิปัสสนูปกิเลสจากสำนักปฏิบัติธรรม ๕ แห่งโดยการสัมภาษณ์เจ้าสำนักและผู้เชี่ยวชาญ

จากการศึกษาพบว่า วิปัสสนูปกิเลส คือ สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาหม่นหมอง มี ๑๐ ประการ คือ ๑) โอภาส แสงสว่าง ๒) ญาณ ความรู้ที่คมชัด ๓) ปีติ ความอิ่มใจ ๔) ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายใจ ๕) สุข ความสุขอันประณีต ๖) อธิโมกข์ ความศรัทธาแรงกล้า ๗) ปัคคาหะ ความเพียรที่พอดี   ๘) อุปัฏฐาน สติความระลึกได้ที่คมชัด ๙) อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย ๑๐) นิกันติ ความยินดีพอใจ และปัจจัยที่ทำให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสได้แก่ผลของการปฏิบัติวิปัสสนาโดยการกำหนดรูปนามขันธ์ ๕ ที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางจิตขึ้น ส่วนวิธีปรับแก้วิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้นต้องประกอบด้วยปัจจัย ๒ อย่าง คือ ปัจจัยภายใน หมายถึง ตัวผู้ปฏิบัติเองจะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือ การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย กับการกำหนดรู้โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งตรงกับหลักในพระไตรปิฎกที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า การมนสิการวิปัสสนูปกิเลส โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และปัจจัยภายนอก คือ กัลยาณมิตร หมายถึง มิตรที่ดีเป็นบุคคลที่มีส่วนในการประพฤติปฏิบัติธรรมที่คอยแนะนำสั่งสอนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติจนสามารถผ่านอุปสรรคเกี่ยวกับวิปัสสนูปกิเลสไปได้แล้วพัฒนาปัญญาญาณขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัจจเวขณญาณเป็นที่สุด

              การปรับแก้วิปัสสนูปกิเลสนั้นอาจต้องปรับใช้ไปตามสถานการณ์ของแต่ละบุคคลผู้ที่เกิดสภาวะที่ต่างกัน เช่น แนะนำ ตักเตือน ปลอบโยน และตำหนิให้โกรธเพื่อเตือนสติ เช่น พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีขับไล่พระวักกลิให้ออกไป พระราชวุฒาจารย์ (ดุลย์ อตุโล) ใช้คำด่าหลวงตาพวงว่า “เออ สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้” พระภัททันตะอาสภมหาเถระ กล่าวว่าอย่าให้โยคีหลงผิดอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเป็นอันขาด ควรดุก็ต้องดุ ควรว่าก็ต้องว่า อย่าได้เกรงใจเป็นอันขาดเพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕