เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง |
ความรู้จักพอประมาณในพระพุทธศาสนากับหลักเศรษฐกิจในแนวพระราชดำริ(๒๕๔๘) |
|
ชื่อผู้วิจัย : |
พระมหามิตร ฐิตปญฺโญ (วันยาว) |
ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๗/๒๐๑๐ |
ปริญญา : |
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา) |
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : |
|
พระปลัดสมชาย กนฺตสีโล |
|
รศ. อุดม บัวศรี |
|
รศ. ดร. เอกฉัท จารุเมธีชน |
วันสำเร็จการศึกษา : |
๒๑ มีนาคม ๒๕๔๘ |
|
บทคัดย่อ |
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความรู้จักพอประมาณใน พระพุทธศาสนากับหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยวิธีการศึกษาจากเอกสารตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏกและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ส่วนภาคสนามใช้วิธีการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่
ผลวิจัยพบว่า ความรู้จักพอประมาณได้เริ่มจากสมมติฐานภายใต้จิตสำนึกใน ตัวมนุษย์ และเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ตามหลัก ปฏิบัติที่คำนึงถึงศีลธรรมในการประกอบสัมมาอาชีวะ โดยใช้สติปัญญาควบคุมความอยากและกำหนดเป้าหมายของการดำเนินชีวิตไปสู่การมี คุณภาพและจิตวิญญาณที่อิสระ ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นความพอเพียงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เริ่มจากการจัดระบบโครงสร้างการผลิตที่ตอบสนองการบริโภคบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง ตามแนวทฤษฎีใหม่ ขั้นตอนที่ ๑ พึ่งตนเองระดับครอบครัว ด้วยการจัดสรรพื้นที่และแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับการผลิต ขั้นตอนที่ ๒ การรวมกลุ่มระดับชุมชนในรูปแบบของสหกรณ์ ขั้นตอนที่ ๓ ธุรกิจชุมชน ขยายโครงสร้างการผลิตและการค้า ร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการส่งออกส่วนที่เหมือนกัน คือ มิติทางจริยธรรมและสังคม ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกแห่งการพึ่งตนเอง ความสัมพันธ์ในชุมชน มีการรวมกลุ่ม การแบ่งปัน เหล่านี้บ่งบอกถึงจริยธรรมที่สังคมจะต้องมี ต้องปฏิบัติรวมกัน คือ การเสียสละ และ ความสามัคคี อันเป็นคุณสมบัติของปัจเจกบุคคล ที่สามารถพัฒนาศักยภาพ และยกระดับคุณธรรมตนเองได้ ขณะเดียวกันก็เป็นทุนทางสังคม ที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้
ส่วนจุดแตกต่างกัน คือ ความรู้จักพอประมาณเป็นคำสอนที่แสดงถึงโครงสร้างทางกายกับจิตที่มีความสัมพันธ์กันเป็นระบบชีวิตที่อาศัยปัจจัยสี่เป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงมีแนวคิดที่แสดงถึงระบบโครงสร้างการผลิตที่สอดคล้องกับการบริโภคบนพื้นฐานของการดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับระบบนิเวศ
จากการนำแนวคิดความรู้จักพอประมาณ และเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติจริง ต้องอาศัยตัวอย่าง ดังกรณีของกลุ่มที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้นนั้น ได้นำความเชื่อทางศาสนามาเป็นเป็นวิธีการแก้ปัญหา โดยนำหลักศีลธรรมเข้ามายึดเหนี่ยวจิตใจ ตามแบบอย่างของชาวพุทธ ขณะเดียวกันก็ดำเนิน กิจกรรมแบบรวมกลุ่ม ซึ่งนำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจกันทำการเกษตร มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น เช่น กลุ่มไร่นาสวนผสม กลุ่มศูนย์การตลาด กลุ่มแปรรูปอาหาร เป็นต้น และแปลงนาการสาธิตเกษตรแบบธรรมชาติเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องในการปฏิบัติของชาวบ้าน ที่เสนอเป็นทางเลือกของการแก้ปัญหา
จะเห็นว่า ความรู้จักพอประมาณ เป็นหลักการดำเนินชีวิตให้เกิดความพอเพียงอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมอันเป็นหลักจริยธรรมที่ดีงามที่ปรากฏในตัวมนุษย์ อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์ที่เป็นระดับโลกียะ (ความร่ำรวย ความสุขสบาย) และเป็นหลักนำไปสู่ความพ้นทุกข์ที่สูงสุด อันเป็นโลกุตตระ (นิพพาน) ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง ได้เน้นระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันระหว่างการผลิตกับการบริโภคบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมแล้วให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกอย่างสงบสุขไม่เดือดร้อน ในภาพรวมจะเห็นการสร้างจิตวิญญาณ โดยความยั่งยืนแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้โดยหลักวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่จะเน้นที่ความพอดีและยั่งยืนอันเป็นแก่นแท้ของความสมดุลของชีวิต
Download : 254817.pdf |
|
|