หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาญาณวัฒน์ ิตวฑฺฒโน (บุดดาวงษ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๒ ครั้ง
การวิเคราะห์แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พุทธบริหารการศึกษา))
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาญาณวัฒน์ ิตวฑฺฒโน (บุดดาวงษ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมศักดิ์ บุญปู่
  แสวง นิลนามะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

 การวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ.    ปยุตฺโต)” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีทางการศึกษาของไทย          ๒) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ๓) เพื่อเสนอนโยบายการปฏิรูปการศึกษาตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์    (ป. อ. ปยุตฺโต) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสัมภาษณ์ ๙ รูป/คน และในการสัมมนา ๙ รูป/คน ใช้เครื่องมือวิจัย ซึ่งประกอบด้วย ๑) แบบวิเคราะห์เอกสาร คือ ผลงานนิพนธ์ที่เกี่ยวกับแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ๒) แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงสร้าง เนื้อหา และภาษาของร่างนโยบายการปฏิรูปการศึกษาตามแนวคิดของ   พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ๓) ประเด็นการสัมมนาเกี่ยวกับการตรวจสอบความเหมาะสมของร่างนโยบายการปฏิรูปการศึกษาตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัยพบว่า

๑) แนวคิดทฤษฎีทางการศึกษาของไทย เป็นแนวคิดที่บูรณาการแนวคิดการศึกษาไทยและแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาไทย ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบาย และเป็นแนวคิดการศึกษาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาที่เรียกว่า “การศึกษาวิถีพุทธ” ที่เน้นพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านความรู้ (วิชชา) และความประพฤติ (จรณะ) หรือความรู้คู่คุณธรรม จึงจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญาได้โดยแท้จริง

๒) แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ๖ ด้าน ได้แก่

๒.๑) แนวการจัดการศึกษา ได้แก่ (๑) ความหมายของการศึกษา (๒) ความมุ่งหมายของการศึกษา (๓) หน้าที่ของการศึกษา (๔) องค์ประกอบของการศึกษา (๕) การจัดการศึกษา คือ ไตรสิกขา และการปฏิรูปการศึกษาเพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย (การศึกษาวิถีพุทธ)

๒.๒) การบริหารและการจัดการศึกษา การบริหารและการจัดการศึกษาจะต้องครอบคลุมชุมชนทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย บ้าน วัด โรงเรียน (“บวร”) ด้วยการสร้างความสมดุลขึ้นมา โดยให้ชุมชนปรับตัวสอดคล้องและส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นชุมชนแห่งการศึกษาที่แท้จริง (ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร)

๒.๓) มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ได้แก่ ก. มาตรฐานการศึกษา เป็นมาตรฐานการศึกษาที่เป็นคุณสมบัติของผู้ได้รับการศึกษาตามแนวพุทธ ได้แก่ (๑) คุณสมบัติของผู้ได้รับการศึกษา คือ ภาวิต ๔ (๒) คุณธรรมของผู้ได้รับการศึกษา คือ มีปัญญา และมีกรุณา (๓) การดำเนินชีวิตของผู้ได้รับการศึกษา คือ การทำประโยชน์ตน และการทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ข. การประกันคุณภาพการศึกษา เป็นการประกันคุณภาพการศึกษาตามแนวพุทธ คือ ภาวนา ๔

๒.๔) ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ก. คุณภาพและมาตรฐาน คือ คุณสมบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วย หน้าที่หลัก คือ สิปปทายก และความเป็นกัลยาณมิตร การจัดการศึกษาทางธรรมวินัย ทศพลญาณ ปฏิสัมภิทา ๔ และลีลาการสอน ๔     ข. การผลิตและการพัฒนา ได้แก่ (๑) การผลิตและการพัฒนาตามระยะเวลา คือ ในระยะสั้นเพื่อสร้างความเป็นนักเรียนที่ดีตามหลักบุพนิมิตของการศึกษา ๗ และในระยะยาวเพื่อสร้างความเป็นบัณฑิต  ผู้มีสัจธรรม มีจริยธรรม มีความสุข และการผลิตและการพัฒนาตามความมุ่งหมายของวิชาการ      คือ วิชาศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างความเป็นบัณฑิต และวิชาเฉพาะวิชาชีพเพื่อสร้างเครื่องมือบัณฑิต      (๒) จริยศึกษา เป็นการผลิตครูที่จะต้องคัดยอดคนให้มาเป็นยอดครู และคัดยอดครูให้มาเป็น         ครูจริยศึกษา

๒.๕) ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ได้แก่ ก. ทรัพยากรเพื่อการศึกษาคือธรรมชาติ    เป็นแนวคิดการจัดการธรรมชาติ ได้แก่ (๑) แนวคิดเก่าที่พิชิตธรรมชาติและเสพบริโภคมากที่สุด    (๒) แนวคิดใหม่ที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ข. ทรัพยากรเพื่อการศึกษาคือมนุษย์ เป็นการพัฒนามนุษย์ ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ และในฐานะที่เป็นมนุษย์ (ชีวิต)

๒.๖) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ได้แก่ (๑) การพัฒนาผู้ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการฝึกอินทรีย์ ๖ ในด้านการศึกษา (๒) การพัฒนาผู้ผลิตเทคโนโลยีด้วยการผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาให้แก่สังคม (๓) ปัญญาที่ควรสร้างขึ้นในยุคไอที คือ ปฏิสัมภิทา ๔

๓) องค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยนี้ คือ ความคิดของนักปราชญ์สู่การจัดการศึกษา หรือการปฏิรูปการศึกษา ที่มีความสอดคล้องกันและมีความเป็นไปได้ในการปฏิรูปการศึกษา กล่าวคือ นโยบายการปฏิรูปการศึกษาตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เป็นการบูรณาการจัดการศึกษาวิถีพุทธกับกระบวนการพัฒนานโยบาย ซึ่งประกอบด้วย ปรัชญาการศึกษา วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ๖ ด้าน ๑๖ ข้อ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕