หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วีระพงษ์ แสงทอง
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๕ ครั้ง
ศึกษาการบริจาคทานของพุทธศาสนิกชนกรณีศึกษา : ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อผู้วิจัย : วีระพงษ์ แสงทอง ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๘/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูธรรมธรศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน
  สุพิมล ศรศักดา
  เรืองเดช เขจรศาสตร์
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

           การวิจัยเรื่อง ศึกษาการบริจาคทานของพุทธศาสนิกชน กรณีศึกษา ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑.ศึกษาการให้ทานตามหลักพุทธศาสนาเถรวาท ๒.เพื่อศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคทานทางพุทธศาสนา ในพื้นที่ตำบลไร่น้อย ๓.เพื่อศึกษาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการบริจาคทานในพื้นที่ ตำบลไร่น้อย  การให้ทานโดยทั่วไป คือการเสียสละ ลดความเห็นแก่ตัว มุ่งประโยชน์ของผู้อื่น ช่วยเหลือสังคมตามโอกาส สำหรับทานในทางพระพุทธศาสนา คือการให้ ให้ในสิ่งที่ควรให้ ให้แก่บุคคลที่ควรให้ แบ่งปันความสุขให้สังคมส่วนรวมประเภททานที่ให้ ได้แก่ อามิสทาน การทานด้วยปัจจัย ๔ ธรรมทาน เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ  อภัยทาน คือ การให้ความปลอดภัย ความไม่มีภัยแก่ตนและผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคืองในการล่วงเกินของผู้อื่น ไม่มีเวรไม่ผูกเวรกับผู้ใด ทั้งยังมีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นนิตย์

          ทานในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการทำความดีขั้นต้น โดยมีหลักหลักปฏิบัติ คือ ศีล ๕ เป็นมาตรฐานวัดการทำความดีของสังคม และสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลในการสร้างเสริมสิ่งดีงามเป็นรากฐานที่จะก้าวขึ้นไปในธรรมที่ระดับสูงขึ้นไปมี ๓ ระดับ

          ๑.  ทานระดับต้น คือ การให้ปันสงเคราะห์กันด้วยวัตถุสิ่งของหรือปัจจัย ๔

          ๒. ทานระดับกลาง คือ การงดเว้นจากการทำบาปโดยปฏิบัติตามศีล ๕

          ๓. ทานระดับสูง คือ การไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวร การชนะความชั่วด้วยความดี ส่วนธรรมทานมีอยู่ ๒ ระดับ คือ ระดับโลกิยะและระดับโลกุตตระ ผลของทานก้าวล่วงวัฏฏะสงสารได้ ผลทาน ๓ ระดับนี้ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งการหลุดพ้น

          การให้ทางพุทธศาสนา เชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรม ที่สอดคล้องกับการให้ทานในพระพุทธศาสนา จึงหมายรวมถึงอามิสทานและธรรมทานการให้ทานมีจุดประสงค์ ๒ อย่างคือส่วนตนเพื่อกำจัดกิเลสคือความโลภ และ ความตระหนี่ในจิตสันดานส่วนสังคม คือการช่วยเหลือผู้อื่นการให้ทานเป็นการผูกมิตรไมตรีและความสามัคคีต่อกัน จุดหมายที่พุทธศาสนิกชนให้ทาน คือให้ความสำคัญแก่วัตถุทาน และตัวผู้รับเช่นให้ทานด้วยความเคารพ ให้ทานด้วยศรัทธา ให้ทานโดยไม่เบียดเบียนตน และผู้ตนให้ทานโดยมีจิตอนุเคราะห์  ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น

          ทานจะมีอานิสงส์มาก ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลัก๓ประการ คือผู้ให้ผู้รับ และวัตถุสิ่งของที่ให้ผู้ให้ต้องมีเจตนาดี ก่อนให้กำลังให้ และหลังให้ทานไปแล้ว การให้ทานยังมีความสำคัญ คือมีความสำคัญต่อบุคคล ความสำคัญต่อส่วนรวม ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่ตลอดไปด้วยการให้ทานของพุทธศาสนิกชน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕