หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิธานสุตาภรณ์ สมาจาโร (มั่นประสงค์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักสาราณียธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย(การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิธานสุตาภรณ์ สมาจาโร (มั่นประสงค์) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสม กลฺยาโณ
  ผศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

 การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักสาราณียธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย (๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการประยุกต์หลักสาราณียธรรม ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลและสังคม (๓) เพื่อเสนอแนะแนวทางการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลากรที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ดำเนินการโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากรในพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย จำนวน ๒๐๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม โดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๗๙ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว   (One way ANOVA) 

 ผลการวิจัยพบว่า 
  ๑. ประชาชนมีความคิดเห็นต่อการประยุกต์ใช้หลักสาราณียธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๔๐) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ประชาชนมีความคิดเห็น อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน มีค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ คือ ด้านสาธารณโภคี เมตตาวจีกรรม เมตตากายกรรม สีลสามัญญตา         เมตตามโนกรรม และด้านทิฏฐิสามัญญตา

๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อการประยุกต์ใช้หลักสาราณียธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยจำแนกตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือน พบว่า ประชาชนที่มีระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่างกันมีความคิดเห็น แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนประชาชนที่มี อายุต่างกัน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. แนวทางในการประยุกต์ใช้หลักสาราณียธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย พบว่า ด้านเมตตากายกรรม เจ้าหน้าที่ ควรทำงานบริการประชาชนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ควรให้ความเอื้อเฟื้อต่อประชาชนที่มาขอรับบริการ ตั้งใจปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างดียิ่งไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มาขอรับบริการ ด้านเมตตาวจีกรรม เจ้าหน้าที่ควรใช้วาจาสุภาพ เอื้อเฟื้อมีไมตรีจิตเหมาะสมต่อผู้มาขอรับบริการ ด้านเมตตามโนกรรม เจ้าหน้าที่ ควรสร้างจิตสำนึกการทำงานด้วยความมีน้ำใจที่ดีต่อผู้มาขอรับบริการ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ ด้านสาธารณโภคี เจ้าหน้าที่ ควรใช้งบประมาณของรัฐอย่างคุ้มค่าเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ด้านสีลสามัญญตา เจ้าหน้าที่ ควรปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบวินัยข้อบังคับของหน่วยงานและองค์กร กระทำตัวให้เป็นที่ศรัทธาของประชาชนและสังคมส่วนรวม ด้านทิฏฐิสามัญญตา เจ้าหน้าที่ ควรเคารพความคิดเห็นของเพื่อนสหธรรมิก และประชาชนที่เข้ามาขอรับการบริการ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมประชุม    รับฟังปัญหาและรับฟังคำแนะนำต่างๆ จากผู้นำเพื่อปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่บกพร่อง จะได้นำไปพัฒนาตนเองและองค์กรให้เจริญรุ่งเรืองไปในทางที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อสังคมส่วนรวม
 
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕