วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ อย่าง คือ (๑) เพื่อศึกษาความหมายและความสำคัญของธาตุ (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาท และ (๓) เพื่อวิเคราะห์ฐานะและความสำคัญของธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาท การศึกษาวิจัยเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพจากเอกสารต่างๆ ทั้งข้อมูลปฐมภูมิในพระไตรปิฏก ตำรา เอกสาร และสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ธาตุมีความหมายและความสำคัญอย่างหลากหลาย มีความหมายว่า “ธาตุ” เป็นเอกรูปเชิงสสาร(รูป) เอกรูปเชิงจิต(นาม) และทวิรูปคือสสาร(รูป)กับจิต (นาม) และธาตุเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโลก จักรวาล เอกภพและสิ่งที่มีชีวิตต่างๆเช่น มนุษย์ สัตว์และพืช
การศึกษาเรื่องธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาทพบว่า ธาตุเป็นพื้นฐานสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ธาตุเป็นความจริงได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นความจริงได้ทั้งจิตและสสารธาตุเป็นสัมพันธภาพดั้งเดิมของมนุษย์ที่มนุษย์มีต่อกัน เมื่อเข้าใจปรากฏการณ์ของธาตุทั้งภายนอกและภายใน จะทำให้มีมุมมองต่อโลกและชีวิตว่าสิ่งทั้งหลายล้วนต้องอิงอาศัยกัน(ปฏิจจสมุปบาท) ธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาทมีความความสอดคล้องบางประการกับแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ และธาตุในพุทธปรัชญาเถรวาทมีคุณค่าใน ๒ ระดับคือคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม
|