หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวพรอมรินทร์ อุทัยสมบัติ
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๔ ครั้ง
ศึกษาแนวทางการฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมการเล่นเทนนิส
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวพรอมรินทร์ อุทัยสมบัติ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร.ป.ธ.๙., M.A., Ph.D.
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร ป.ธ.๗, พธ.บ., ศศ.ม. (พุทธศาสนศึกษา)พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  ผศ.รังษี สุทนต์ป.ธ.๙, พธ.ม. (พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักคำสอนเกี่ยวกับอานาปานสติที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาทฤษฎีพื้นฐานของการเล่นเทนนิส
(๓) เพื่อศึกษาแนวทางการฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมการเล่นเทนนิส

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยผู้ศึกษาได้ค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research) ได้แก่ข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความหมาย หลักการเบื้องต้น ผล หลักการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และคุณค่าและประโยชน์ของการเจริญอานาปานสติที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และศึกษาทฤษฎีพื้นฐานของการเล่นเทนนิส ได้แก่ ทักษะเบื้องต้น คุณค่าและประโยชน์ และองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมการเล่นเทนนิส

ผลการวิจัยพบว่า อานาปานสติหมายถึงการมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่อง เป็นการกำหนดรู้กองลมทั้งปวง การปรุงแต่งของจิต ปล่อยจิตให้เป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่น โดยพิจารณาความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับ ความสลัดคืนที่เกิดขึ้นในจิต
อานาปานสตินี้เป็นสัมมาสติ ข้อปฏิบัติหนึ่งของอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อปฏิบัติแล้วจะทำให้ถึงความดับทุกข์ นอกจากนี้ผลของการเจริญอานาปานสติจะทำให้สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการพิจารณาเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ สามารถกำจัดความยินดียินร้ายในโลกได้ หลักการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แก่ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและการกำหนดรู้การเคลื่อนไหวกาย ผลในชีวิตประจำวันคือ ลมหายใจปรุงแต่งกายและใจ ลมหายใจที่ยาว ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ใจสงบ โล่งสบาย จิตตั้งมั่น ควรแก่การงาน ส่งผลให้มีคุณค่าและประโยชน์ในด้านการพัฒนากาย จิต ปัญญา และสังคม ให้เชื่อมโยงกันเป็นสุขภาวะองค์รวมที่สมดุล

ผู้เล่นเทนนิสควรฝึกทักษะเบื้องต้นให้ถูกต้องเพราะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการเล่นเทนนิส เพื่อลดอุบัติเหตุและฝึกทักษะขั้นสูงต่อไป ผลของการเล่นเทนนิสเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ ๓๐ นาที จะทำให้มีการพัฒนากาย จิต ปัญญา และสังคม ให้เชื่อมโยงกันเป็นสุขภาวะองค์รวมที่สมบูรณ์ ซึ่งมีทิศทางเดียวกันกับอานาปานสติ องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมการเล่นเทนนิส มี ๓ ประการ คือ () องค์ประกอบทางกาย () องค์ประกอบทางใจ และ () องค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศในการเล่น

แนวทางการฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมการเล่นเทนนิส มี ๓ ข้อ คือ () การฝึก
อานาปานสติเพื่อส่งเสริมองค์ประกอบทางกายในการเล่นเทนนิส ประกอบด้วย การกำหนดรู้ลมหายใจ และการกำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกาย ได้แก่ ผัสสะทางตา (
Vision) เท้า (Footwork) และหัวไหล่ (Shoulder Turn) ซึ่งสัมพันธ์กับหลักอานาปานสติในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน () การฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมองค์ประกอบทางใจในการเล่นเทนนิส ซึ่งต่อเนื่องมาจากการกำหนดรู้ฐานกาย การกำหนดรู้ลมหายใจและการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ จะทำให้มีสติแน่วแน่ จิตใจแข็งแกร่ง ในภาวะคับขันที่ทำให้เสียสมาธิ ให้ผู้เล่นเทนนิสกำหนดรู้ลมหายใจของตนเอง ปล่อยและวางเฉยกับความรู้สึกไม่ดี โดยให้สังเกตความรู้สึก กำหนดรู้ และกลับมาที่ลมหายใจ ซึ่งสัมพันธ์กับหลักเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานและจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน () การฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการเล่น ให้ผู้เล่นเทนนิสพิจารณาสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการเล่นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ แต่ผู้เล่นเทนนิสสามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งสัมพันธ์กับหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ หมวดรวมกัน คือ
กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕