บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาเนื้อเรื่องและสาระสำคัญของวรรณกรรมสี่แผ่นดิน (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในวรรณกรรมสี่แผ่นดิน และ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางการดำเนินชีวิตด้วยหลักพุทธธรรมจากวรรณกรรมสี่แผ่นดิน
การศึกษาเรื่องนี้ ผู้วิจัยได้นำวรรณกรรมสี่แผ่นดิน บทประพันธ์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หลักพุทธธรรมจากพระไตรปิฎก และเอกสารอ้างอิงอื่นๆ มาเป็นข้อมูลในการวิจัย
จากการศึกษาพบว่า วรรณกรรมสี่แผ่นดินมีหลักพุทธธรรมคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่บุคคลพึงนำไปประพฤติปฏิบัติ ได้แก่ ไตรลักษณ์ โยนิโสมนสิการ มรณสติ
พรหมวิหารธรรม อิทธิบาทธรรม และ ทิศ ๖ ซึ่งหลักพุทธธรรมเหล่านี้พลอยตัวละครเอกของเรื่องน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติในการเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมตลอดช่วงวัยชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชราอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เป็นการใช้ชีวิตด้วยหลักพุทธธรรมในชีวิตประจำวันให้ไปสู่ความสุขสงบ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการละสังขารจากโลกนี้ไปอย่างสงบ โดยมีสติสัมปชัญญะจนขณะจิตสุดท้ายหลุดลอยออกจากร่าง ด้วยสำนึกว่าได้ทำหน้าที่ทุกอย่างครบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งผู้วิจัยให้ความสำคัญว่าเป็นการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จอย่างสุขสงบอันแท้จริงโดยสมบูรณ์แบบและตรงตามกฎแห่งสัจธรรมความจริงแห่งชีวิตของการเกิดเป็นมนุษย์
นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังพบคุณประโยชน์จากวรรณกรรมสี่แผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อคิดสำคัญที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คือ
(๑) ทุกสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ สัจธรรมที่มุ่งแสดงให้เห็นว่าอย่ายึดติดกับสิ่งใด แต่จงปรับตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลง
(๒) ให้ความรู้เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตให้ไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นแนวทางที่ผ่านการคัดสรรกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ชีวิตอันล้ำค่าของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การยูเนสโก
(๓) ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์ ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เกิดมาเพื่อพัฒนาตนเองและสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนา ก็คือหน้าที่อันพึงปฏิบัติและปัญหาอุปสรรค์อันนำมาซึ่งความทุกข์โศกทั้งปวง
(๔) ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาชีวิต อันนำมาซึ่งปัญญาอันชาญฉลาด เพื่อใช้ในการมองให้เห็นสัจธรรมความจริงแห่งชีวิต
(๕) ให้ความรู้ความเข้าใจว่าความทุกข์แท้จริงเกิดจากการเอาใจเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
(๖) ให้ความรู้ความเข้าใจว่าความสุขอันแท้จริงคือความสงบและเกิดจากการให้
ดาวน์โหลด |