หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสมุห์สนั่น ฐานกโร (พิธิยานุวัฒน์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อุเบกขาในพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสมุห์สนั่น ฐานกโร (พิธิยานุวัฒน์) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุริโย อุตฺตมเมธี ป.ธ.๙, M.A., Ph.D.
  ดร.แสวง นิลนามะ ป.ธ.๗, พธ.บ.,พธ.ม.(ปรัชญา),พธ.ด.
  อาจารย์กฤต ศรียะอาจ ป.ธ. ๔, พธ.บ, พธ.ม. (ปรัชญา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  ต้องการศึกษาเชิงปรัชญาเรื่องอุเบกขา ในกรอบของวัตถุประสงค์  ๓ ประการ  คือ  ๑)  เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องอุเบกขาในพุทธปรัชญา ๒)  เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอุเบกขาในพุทธอภิปรัชญา  และ ๓)  เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของอุเบกขาในพุทธเถรวาท

ผลการวิจัยพบว่า

จากการศึกษาพบว่า อุเบกขาหรือความวางเฉยที่ถูกต้อง หมายถึง ท่าทีการถืออุเบกขาหรือความวางเฉยแบบมีปัญญากำกับ ที่เรียกว่า “ญาณุเบกขา” เป็นอุเบกขาที่อิงอาศัยความรู้คือปัญญา และต้องมาควบคู่กับปัญญาเสมอ เพื่อที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ขัดว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรคือหลักการ โดยมีเป้าหมายหลักคือ  (๑) เป็นการปฏิบัติอุเบกขาเพื่อรักษาบุคคล (๒) เป็นการปฏิบัติอุเบกขาเพื่อรักษาสังคม และ(๓) เป็นการปฏิบัติอุเบกขาเพื่อรักษาธรรม

แนวคิดเรื่องอุเบกขาในเชิงอภิปรัชญา  ทำให้พบว่า อุเบกขาในทางพุทธปรัชญา  มีทัศนะเน้นไปในด้านนามธรรม ซึ่งสามารถที่จะจัดเข้ากับหลักอภิปรัชญาได้ ๒ แบบ  คือ

๑.อุเบกขาแบบจิตนิยม เป็นการมองโลกด้วยภาวะความเป็นจริงทางด้านจิตใจ  ไม่ยึดมั่นถือมั่นในวัตถุสิ่งของ  ลักษณะแนวคิดเรื่องเป็นจริงของโลกและสรรพสิ่งแบบจิตนิยมทำให้มองเห็นว่า นอกจากสภาวะอันเป็นจริงที่มนุษย์รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสแล้วยังมีความเป็นจริงอีกในสภาวะหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังสภาพที่ปรากฏของสิ่งนั้น  โลกแห่งความเป็นจริงของสรรพสิ่งในทัศนะของจิตนิยมจึงหมายถึงแนวคิดที่อยู่นอกประสบการณ์

๒.อุเบกขาแบบธรรมชาตินิยม คือการที่จิตมองเห็นความจริงตามเหตุปัจจัย แล้ววางใจเป็นกลางได้ธรรมชาติที่เป็นกลาง ๆ ไม่มีจิตใจ ไม่มีความคิดร้าย หรือคิดดี ความเป็นไปของธรรมชาตินั้น บางคราวก็อ่อนโยนละมุนละไมอำนวยประโยชน์ทำให้มนุษย์พอใจและมีความสุข บางคราวก็ร้ายรุนแรงเป็นโทษก่อความทุกข์แก่มนุษย์

พุทธจริยธรรมนั้นเป็นหลักการหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดี ที่ประเสริฐ อันเป็นวิธีการ หรือเครื่องมือในการไปสู่จุดมุ่งหมายอันเป็นประโยชน์สูงสุด เป็นอุดมคติของชีวิต ครอบคลุมถึงเกณฑ์ตัดสินว่า การกระทำใดดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร พุทธจริยธรรมจึงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีของชาวพุทธ  ซึ่งสามารถสรุปตามวัตถุประสงค์ได้เป็น ๓ ระดับด้วยกัน คือ

๑) พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เป็นเบื้องต้นของธรรมจริยา ได้แก่ เบญจศีล อันได้แก่ ศีล ๕ (Five percepts) และเบญจธรรม อันได้แก่ ธรรม ๕ ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติฝ่ายศีลและธรรมที่สนับสนุนกัน เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กัน

๒) พุทธจริยธรรมขั้นกลาง จริยธรรมที่มีไว้ให้บุคคลปฏิบัติ เพื่อยกระดับคุณธรรมจริยธรรมให้สูงขึ้น ได้แก่ กุศลกรรมบถและเว้นกุศลกรรมบถควบคู่กันไปด้วย

๓) พุทธจริยธรรมขั้นสูง เป็นจริยธรรมระดับสูงสุดอันเป็นทางที่บุคคลประพฤติปฏิบัติตามแล้วจะห่างไกลจากข้าศึกภายใน คือ กิเลสเครื่องเศร้าหมอง ได้แก่อริยอัฏฐังคิกมรรคหรือมรรคมีองค์ ๘

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕