หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมเกียรติ อคฺคกิตฺติ (ปาวิไล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาเซนกับพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๓๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมเกียรติ อคฺคกิตฺติ (ปาวิไล) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๖/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๖
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาเซนกับพุทธปรัชญาเถรวาท ปรัชญาทั้ง ๒ ระบบนี้เป็นปรัชญาอินเดียที่ไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวท และเป็นฝ่ายอเทวนิยม ด้วยเหตุนี้ปรัชญาทั้งสองจึงมีทรรศนะหลัก ๆ ที่คล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ประเด็น การศึกษาปรัชญาทั้ง ๒ ระบบนี้ผ่านกรอบปรัชญาตะวันตก คือ ด้านอภิปรัชญา ญาณวิทยา และจริยศาสตร์เพื่อช่วยให้ทราบปรัชญาเซนและพุทธปรัชญาเถรวาทได้ชัดเจนและกว้างขวางยิ่งขึ้น
 จากการวิจัยทำให้ทราบว่า  ปรัชญาเซนและพุทธปรัชญาเถรวาท มีโครงการทางความคิดที่เป็นหลัก ๆ คล้ายคลึงกันทั้ง ๓ ด้าน กล่าวคือ ก. ด้านอภิปรัชญา ทั้งสองระบบยอมรับว่าความจริงสูงสุด มี ๒ อย่าง คือ จิตกับสสาร  ข. ด้านญาณวิทยา ทั้งสองระบบเห็นว่าธรรมชาติของความรู้ได้แก่ สภาวะที่จิตปราศจากอวิชชา และยังได้แบ่งความรู้ออกเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับ โลกิยะ (ความรู้ที่ยังเจือด้วยกิเลส) และระดับโลกุตตระ(ความรู้ที่ปราศจากกิเลส) และ ค. ด้านจริยศาสตร์ ทั้งสองระบบเห็นเหมือนกันว่า การจะเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในชีวิตได้นั้นจักต้องกำจัดกิเลส ซึ่งเป็นสาเหตุให้วิญญาณติดข้องในสังสารวัฏให้ได้อย่างสิ้นเชิง
 จะอย่างไรก็ตาม แม้ปรัชญาเซนและพุทธปรัชญาเถรวาท จะมีทรรศนะที่คล้ายคลึงกันในประเด็นหลัก ๆ ก็ตาม  แต่เมื่อศึกษาโดยละเอียดแล้วทำให้ทราบว่า ยังมีประเด็นสำคัญอยู่ ๒ ประเด็นที่ปรัชญาทั้งสองมีทรรศนะที่ไม่ลงรอยกัน นั้นก็คือ เรื่อง จิต กับเรื่อง กรรม
 ชีวะในปรัชญาเซนนั้น มีสภาวะเป็นอัตตา คือ มีสภาพเที่ยงแท้ยั่งยืนซึ่งต่างจากจิตในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทโดยสิ้นเชิง พุทธปรัชญาเถรวาทยอมรับว่าจิตมีอยู่ในสภาวะที่เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เป็นสันตติ
 กรรมในทรรศนะของปรัชญาเซนนั้น เป็นสสาร เป็นอนุภาคเล็ก ๆ จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการกระทำ และอนุภาคเหล่านี้จะซึมซับติดอยู่กับชีวะทันที ชีวะที่ถูกอนุภาคของกรรมซึมซับติดอยู่ ก็จะเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏต่อไป จนกว่าจะสามารถแยกอนุภาคของกรรมให้ออกไปจากตัวเองได้อย่างเด็ดขาด ส่วนกรรมในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา เจตนาและเจตสิกอีกจำนวนหนึ่งเป็นตัวบ่งชี้ให้ทราบว่ากรรม นั้นเป็นกรรมดีหรือชั่ว กรรมที่ทำลงไปจะถูกเก็บไว้ในภวังคจิต จิตที่สะสมกรรมเอาไว้ก็จะติดข้องในสังสารวัฎเช่นเดียวกัน
 ในการจัดระดับผลของกรรมนั้น ปรัชญาเซนจัดกรรมทางกายว่ามีโทษหนักที่สุด ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาทถือว่า กรรมทางใจมีโทษหนักที่สุด เพราะให้ความสำคัญแก่กรรมต่างกันเช่นนี้ ปรัชญาทั้ง ๒  จึงเน้นหลักปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นต่างกันตามไปด้วยกล่าวคือ ปรัชญาเซน เห็นว่าด้วยการทรมานตนให้ลำบากเท่านั้น บุคคลจึงจักทำลายกรรมให้หมดสิ้นลงได้ ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาท เห็นว่า ผู้ประสงค์จะหลุดพ้นจากอำนาจของกรรมจักต้องบำเพ็ญเพียรทางจิตเท่านั้น
 ประการสุดท้าย มีข้อที่น่าสังเกตว่า เป้าหมายสำคัญของปรัชญาทั้ง ๒ ระบบ นี้อยู่ที่หลักจริยศาสตร์ ปรัชญาทั้ง ๒ นี้ มีลักษณะเป็นปรัชญาเพื่อชีวิตคือมีความมุ่งหวังให้สรรพสัตว์แสวงหาความสุขอันเกิดจากการไม่เบียดเบียนกัน ตลอดจนส่งเสริมให้เข้าถึงความสุขที่ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหา ปรัชญาทั้ง ๒ ระบบ จึงเป็นปรัชญาที่มีชีวิต มิใช่เป็นเพียงปรัชญาในฝันเท่านั้น

Download : 253607.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕