หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอุดม สารเมธี (สารบรรณ)
 
เข้าชม : ๒๐๑๑๘ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมในพระพุทธศาสนา : ศึกษาเฉพาะกรณีนิคหกรรมในพระวินัยปิฎกกับกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอุดม สารเมธี (สารบรรณ) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  นายสนิท ศรีสำแดง
  นายแสวง อุดมศรี
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมในพระพุทธศาสนา โดยศึกษาเปรียบเทียบนิคหกรรมในพระวินัยปิฎกกับกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม
     จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้พบว่า นิคหกรรมในพระวินัยปิฎกเป็นมาตรการทางพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ใช้เป็นเครื่องข่ม กำราบ หรือลงโทษแก่พระภิกษุผู้ประพฤติผิดต่อพระธรรมวินัย หรือแก่คฤหัสถ์ผู้มีความปรารถนาที่ไม่ดีต่อพระรัตนตรัย โดยทรงวางกฎเกณฑ์การลงโทษแบบต่างๆ ตามสมควรแก่ความผิด
     ส่วนกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม อันได้แก่กฎมหาเถรสามคม ฉบับที่ ๑๑ นั้นเป็นมาตรการทางการปกครองคณะสงฆ์ที่มหาเถรสมาคมกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการข่ม กำราบ หรือลงโทษพระภิกษุผู้ประพฤติผิดต่อพระธรรมวินัย โดนดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ กำหนดไว้
     นิคหกรรมในพระวินัยปิฎกกับกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม มีความเหมือนกันในประเด็นต่อไปนี้ คือ ประเภทของนิคหกรรม ลักษณะของความผิดที่เป็นเหตุให้ถูกลงนิคหกรรม กฎนิคหกรรมในฐานะที่มีความสัมพันธ์กับศีลธรรมและจริยธรรม และกฎนิคหกรรมในฐานะที่เป็นกระบวนการกำราบหรือฝึกฝนบุคคลผู้เก้อยาก
     ส่วนประเด็นที่มีความแตกต่างกัน คือ วิธีการลงนคหกรรม วิธีการที่จะพ้นจากความผิดคุณสมบัติของผู้ตัดสินหรือพระวินัยธร และความถูกต้องตามพระธรรมวินัย
     นิคหกรรมในพระวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าทรงกำหนดให้สงฆ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการทุกขั้นตอน จัดเป็นสังฆกรรมที่มีความสำคัญ สงฆ์จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวิธีการตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้
     ส่วนกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคมนั้น มหาเถรสมาคมได้กำหนดขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินการลงนิคหกรรมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระสังฆาธิการที่มีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป เพียงรูปเดียวหรือ ๓ รูป ที่เรียกว่า "ผู้พิจารณาและคณะผู้พิจารณา" เทียบได้กับตำแหน่งผู้พิพากษาและคณะผู้พิพากษาของศาลฝ่ายบ้านเมือง ท่านไม่ได้กำหนดให้สงฆ์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการลงนิคหกรรมแต่อย่างใด
     ในปัจจุบันนี้ นิคหกรรมในพระวินัยปิฎกและกฎนิคหกรรมของมหาเถรสมาคม เป็นคู่มือสำคัญสำหรับการปกครองคณะสงฆ์ จำเป็นอย่างยิงที่พระสังฆาธิการ พระภิกษุสามเณรตลอดถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องต่อไป

Download : 254633.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕