หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาศรีญญู ปญฺญาธโร (นุชมิตร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
การศึกษาหลักการและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศรีญญู ปญฺญาธโร (นุชมิตร) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดเสน่ห์ ธมฺมวโร
  ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
  นายถาวร เสาร์ศรีจันทร์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์เรื่อง "การศึกษาหลักการและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา)" นี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์หลักการและวิธีการ ที่ท่านครูบายึดถือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาจากข้อมูลเอกสาร สิ่งตีพิมพ์ และสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่า
     ครูบาอินทจักรรักษาเป็นพระสงฆ์ที่ถือหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ หลักวิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้น ทุกอิริยาบถที่แสดงออกเป็นเสมือนท่านกำลังสื่อวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสู่พุทธบริษัท โดยท่านครูบายืนอยู่บนหลักการนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าคำสอนใดผิดไปจากหลักการที่ว่ามา ท่านครูบาจะออกมาชี้แจง แก้ไข ตอบโต้ คำสอนที่ผิดเหล่านั้นโดยมีหลักสำคัญที่ยึดถือ สรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ ๕ ประการ คือ
     ๑) หลักสติปัฏฐาน ๔
     ๒) หลักไตรสิกขา
     ๓) หลักตระหนักถึงศักยภาพของผู้ฟัง
     ๔) หลักธรรมาธิปไตย
     ๕) หลักสร้างปัญญา
     หลักสำคัญที่ครูบายึดถือ ๕ ประการนี้ อยู่ในกรอบของหลักการทางพระพุทธศาสนาที่แสดงไว้ในงานวิจัย หลักทางพระพุทธศาสนาที่ท่านครูบายึดถือจึงสงเคราะห์เข้าในหลักที่สำคัญ คือ
     - หวังให้เกิดเป็นประโยชน์แก่มหาชน (ผู้ฟัง) เป็นสำคัญ
     การปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อความเชื่อบางประการของพุทธบริษัทในล้านนาของท่านครูบา ถือเป็นอุบายและวิธีการในการนำเสนอหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะกว่าที่จะชี้แจงให้คนบางกลุ่มเข้าใจหลักธรรมที่ถูกต้องทางพระพุทธศาสนาได้ ต้องใช้กลอุบายในการสอนและวิธีการต่างๆ มากมาย เช่นวิธีการแบบ ไตรสิกขา เป็นต้น โดยวิธีการใดที่ใช้ได้ผลดีที่สุดในขณะนั้นก็ใช้วิธีนั้นโดยให้เข้ากับสถานการณ์มากที่สุด ตามหลักสับปุริสธรรม ๗ คือ
     ๑) รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล
     ๒) รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก
     ๓) รู้จักตน ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรมอย่างไร เพื่อประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ฟัง
     ๔) รู้จักความพอดีในการแสดงธรรม
     ๕) รู้กาลเหมาะสมในการแสดงธรรม
     ๖) รู้จักบริษัท รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ รู้จักที่จะสงเคราะห์ด้วยธรรมหมวดนั้นหมวดธรรมนี้
     ๗) รู้จักความแตกต่างของบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรมเพื่อจะแสดงธรรม ตำหนิ ยกย่อง แนะนำสังสอนอย่างไรต่อบุคคลนั้นๆ
     ทั้งนี้ เหล่าพระสาวกตั้งแต่อดีต นับจนถึงสมัยของท่านครูบาต้องใช้วิธีการอันหลากหลายในการนำเสนอหลักธรรม เพราะผู้ฟังเปรียบเหมือนบัวเหล่าต่างๆ ที่ต้องฝึกฝนอบรมพัฒนาตน โดยการแสดงหลักธรรมนั้นๆ มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นสำคัญ
     การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของครูบาอินทจักรรักษาประสบผลสำเร็จ เพราะท่านเป็นพระภิกษุที่ยึดมั่นในหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง และมิใช่แต่เพียงท่านครูบาเท่านั้นที่ประสบผลสำเร็จดังเช่นผลการวิจัยที่ปรากฏ พุทธบริษัทผู้ใดก็ตามที่ดำรงมั่นในหลักการและวิธีการเช่นนี้ ก็ย่อมยังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ฟังและนำมาซึ่งสัมฤทธิผลในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่น เฉกเช่น ครูบาอินทจักรรักษา อย่างแน่นอน

Download : 254629.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕