หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูโพธิสิริวัตร (พยนต์ พุทฺธสีโล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การจัดองค์กรในพระพุทธศาสนาเถรวาท : กรณีศึกษาวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อผู้วิจัย : พระครูโพธิสิริวัตร (พยนต์ พุทฺธสีโล) ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวิรัติ โสภณสีโล ดร. ป.ธ.๕,พธ.บ.,M.A.Ph.D.
  ผศ.ดร.สรเชต วรคามวิชัย ป.ธ. ๙,M.A,Ph.D
  ผศ.บรรจง โสดาดี พธ.บ.,ศศ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                  วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาการจัดองค์กรในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) ศึกษาการจัดองค์กรของวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี             ๓) วิเคราะห์ความสัมพันธ์การจัดองค์ในพุทธศาสนาเถรวาทกับการจัดองค์กรของวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ผลการศึกษาพบว่า

               การจัดองค์กรคือการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มชนที่มารวมตัวกันอย่างมีวัตถุประสงค์ มีระเบียบแบบแผน บ่งบอกให้รู้ว่าใครมีอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไรในองค์กร อันจะทําให้การดําเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดองค์กรของพระพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล ภาพกว้างจัดเป็นพุทธบริษัท ๔ ที่มีบทบาทหน้าที่ต่อกัน โดยมีเป้าหมายอย่างชัดเจนคือพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นและเผยแผ่พระธรรมวินัย หลักการแบ่งงานมีการคัดสรรบุคคลที่มีความสามารถในแต่ละด้านมาช่วยกำกับกิจการภายในคณะสงฆ์ ได้แก่ งานการปกครอง งานด้านการศึกษา งานด้านการเผยแผ่ งานด้านสาธารณูปการ ภายใต้กรอบแห่งธรรมวินัย หลักการมอบหมายหน้าที่ดำเนินตามหลักธรรมวินัยเช่นกันโดยมีการกำหนดคุณสมบัติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกภาพสงฆ์สำหรับปฏิบัติงานภายในอาราม เช่น เจ้าอาวาส เจ้าอธิการแห่งจีวร เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ เป็นต้น  หลักการจัดสายบังคับบัญชาเน้นโครงสร้างเชิงหน้าที่ คือให้บุคลากรในองค์กรมีหน้าที่ปฏิบัติต่อกันมากกว่าการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น  หลักการประสาน องค์กร “สังฆะ” จำแนกสมาชิกภาพเป็นสี่กลุ่มใหญ่ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งทั้งสี่กลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์เกื้อกูลกันและกัน สำหรับการจัดองค์กรสงฆ์ไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างการปกครองบ้านเมืองแต่ละสมัย ส่วนใหญ่มีลักษณะเดียวกับสมัยพุทธกาล

              พระโพธิญาณเถระ (ชา  สุภทฺโท) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าสำนักวัดหนอง ป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดป่าสายกรรมฐานที่มุ่งปฏิบัติตนเองเพื่อขัดเกลากิเลสตามแบบอย่างของพระสงฆ์สมัยพุทธกาล จากการศึกษาพบว่าการจัดองค์กรภายในวัดหนองป่าพงและวัดสาขามีการจัดรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาลคือมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกของวัดหนองป่าพงคือเพื่อต้องการวิมุติความหลุดพ้นจากกิเลส หลักการแบ่งงาน มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบเพื่อบริหารวัดหนองป่าพงและวัดสาขาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันคณะสงฆ์ของวัดหนองป่าพงได้ประชุมและมีมติมอบให้พระเถระ ๑๐ รูปเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านต่างๆ ของวัดหนองป่าพงและวัดสาขาซึ่งประกอบด้วย   ๑)การแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ ๒) การพิจารณาอธิกรณ์ต่างๆ ๓) การพิจารณาพระภิกษุ-สามเณรไปจำพรรษาต่างประเทศ ๔)พิจารณาสงเคราะห์พระภิกษุ-สามเณรในสาขาเมื่อมีเหตุอันควร ๕) ดูแล-รักษามูลนิธิมรดกธรรมโพธิญาณ ๖) อบรมพระภิกษุ-สามเณรในโอกาสต่างๆ พระเถระทั้ง ๑๐ รูปดังกล่าวที่ได้รับมติจากคณะสงฆ์แต่งตั้งให้เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลงานทั้ง ๖ ประการดังกล่าวมาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลักการมอบหมายหน้าที่  ดำเนินการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในด้านต่างๆ เช่นด้านการปกครอง ด้านเสนาสนะ ด้านอาหารเป็นต้นเหล่านี้ล้วนจำลองแบบมาจากสมัยพุทธกาล พระโพธิญาณเถระได้ประยุกต์หลักการของพระพุทธเจ้ามาใช้กับวัดหนองป่าพงอย่างลงตัว หลักการจัดสายบังคับบัญชา  การบังคับบัญชาของวัดหนองป่าพง และวัดสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศมีสายการบังคับบัญชาแบ่งออกเป็นแต่ละภาค หลักการประสาน มีบุคลากรของวัดหนองป่าพง ซึ่งประกอบด้วย ๑) กลุ่มพระสงฆ์ ๒) กลุ่มสามเณร ๓) กลุ่มแม่ชี ๔) กลุ่มอุบาสก ๕) กลุ่มอุบาสิกา บุคลากรทั้ง ๕ กลุ่มนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับความเจริญรุ่งเรืองของวัดหนองป่าพง และสามารถขยายสาขาของวัดหนองป่าพงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                การจัดองค์กรในพุทธศาสนาเถรวาทกับการจัดองค์กรของวัดหนองป่าพง โดยใช้รูปแบบการจัดองค์กรสมัยใหม่คือการกำหนดวัตถุประสงค์ การแบ่งงาน การมอบหมายหน้าที่ การแบ่งสายงานการบังคับบัญชา และการประสานงาน มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์  จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการจัดองค์กรสงฆ์ในสมัยพุทธกาลกับการจัดองค์กรของวัดหนองป่าพงพบว่ามีความใกล้เคียงกัน โดยมีเป้าหมายคือวิมุติ  การหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง การเคารพพระธรรมวินัยว่าเป็นหลักการสูงสุด พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) ท่านให้ความเคารพพระธรรมวินัยยิ่งด้วยชีวิต หลักการแบ่งงาน มีการคัดสรรบุคคลที่มีความสามารถในแต่ละด้านมาช่วยกำกับกิจการภายในคณะสงฆ์ ได้แก่ งานการปกครอง งานด้านการศึกษา งานด้านการเผยแผ่ งานด้านสาธารณูปการ ภายใต้กรอบแห่งธรรมวินัย  หลักการมอบหมายหน้าที่ ดำเนินตามหลักธรรมวินัยเช่นกันโดยมีการกำหนดคุณสมบัติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกภาพสงฆ์สำหรับปฏิบัติงานภายในอาราม และดำเนินการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในด้านต่างๆ  หลักการจัดสายบังคับบัญชา  ให้บุคลากรในองค์กรมีหน้าที่ปฏิบัติต่อกันมากกว่าการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น หลักการประสาน  จำแนกสมาชิกภาพเป็นสี่กลุ่มใหญ่ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งทั้งสี่กลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์เกื้อกูลกันและกัน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕