หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายพีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๓ ครั้ง
ศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์กับการประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : นายพีรพร พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร(อบอุ่น) ดร., ปธ.๗ ,ร.บ., พช.ม., พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  ดร.แสวง นิลนามะ ปธ.๗ ,พธ.บ., พธ.ม., พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ,ศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์กับการประพฤติพรหมจรรย์ และวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างเรื่องเพศสัมพันธ์กับการประพฤติพรหมจรรย์ (การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยในเชิงเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิแล้วนำมารวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ )

ผลการศึกษาพบว่า เรื่องเพศสัมพันธ์นั้นมีปรากฏเป็นจำนวนมากในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันอย่างชัดเจนว่า “กระบวนการจัดการด้านเพศสัมพันธ์”มีผลอย่างยิ่งต่อเป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าการเข้าถึงพรหมจรรย์(บรรลุธรรม) ,การเข้าใจและปฏิบัติเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องทำให้สามารถเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้ ขณะที่มนุษย์มีสัญชาตญาณพื้นฐานทางเพศไม่ต่างไปจากสัตว์เดรัจฉาน หากแต่ความเหนือกว่าสัตว์ของมนุษย์อยู่ที่ความสามารถในการควบคุมสัญชาตญาณทางเพศ ซึ่งตามคติของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมองว่ายิ่งควบคุมสัญชาตญาณนี้ได้มากเท่าใด ความเป็นมนุษย์ย่อมมีคุณค่าและมีความสมบูรณ์มากขึ้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะหากความสามารถในการควบคุมอารมณ์เพศเพิ่มขึ้นถึงขั้นขีดสุด คือ สามารถละกามารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิง ย่อมส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายขั้นสูง(โลกุตรธรรม)อันมีนิพพานเป็นจุดสูงสุดเลยทีเดียว

            ภายใต้ความแตกต่างและหลากหลายของมนุษย์ผู้มีราคะกิเลส การที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย  คือ การละวางเรื่องทางเพศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พระพุทธศาสนาจึงได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า “แนวทางแห่งการประพฤติพรหมจรรย์” ขึ้นมา ดังปรากฏหลักฐานส่วนใหญ่อยู่ในพระวินัยปิฎกและพระสุตันตปิฎก เพื่ออธิบายถึงกระบวนการเกิดขึ้นทั้งหมดของอารมณ์เพศ รวมถึงวิธีการควบคุมละวาง  เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า กามารมณ์ที่ก่อตัวจนนำไปสู่กระบวนการเพศสัมพันธ์นั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์ได้มากประการหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ หลักพุทธธรรมส่วนหนึ่งจึงมุ่งอธิบายเรื่องทางเพศหรือ “เมถุนธรรม” ในเชิงลึก เพื่อปลดปล่อยพันธนาการจากปัญหาสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ดังกล่าว

              พระพุทธศาสนามองมิติทางเพศของมนุษย์แบบง่ายแต่ละเอียดลึกซึ้ง นับตั้งแต่การระบุกำเนิดชีวิตมนุษย์อย่างตรงไปมาว่าเกิดมาจาก “โยนี”(ช่องคลอด) ซึ่งเป็นคำสอนที่สวนแย้งกับแนวคำสอนของศาสนาเทวนิยม ตลอดถึงการระบุว่ากามารมณ์หรือตัณหาเป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์ของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันกามารมณ์ก็ทำให้มนุษย์สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้   การกำหนดท่าที ต่อการกระบวนการ เพศสัมพันธ์ตามมุมมองของพระพุทธศาสนา จึงมีเป้าหมายหลายระดับ นับแต่การปฏิเสธ(ละ)การมีเพศสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิง โดยตั้งเป้าเชิงความพยายามเพื่อดับทุกข์โดยถ่ายเดียว การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีสติสำรวมระวัง  หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ด้วยความเชื่อเรื่องโพธิจิตก็ตาม เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้บ่งเสมอไปว่า เป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือไปจากระบบการประพฤติพรหมจรรย์  หากในทางกลับกันผู้มีสัมพันธ์ทางเพศยังสามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้โดยไม่แปลกแยกเช่นเดียวกับผู้ที่สมาทานเมถุนวิรัติ  โดยผู้ครองเรือน(ฆราวาส)ที่ยังคงมีเพศสัมพันธ์เหล่านี้ ถึงกับยังสามารถบรรลุธรรมชั้นโลกุตระ อย่างเช่น ชั้นโสดาบันได้เช่นเดียวกับผู้มีสถานภาพนักบวชหรืออนาคาริก

            สิ่งสำคัญต่อการบรรลุธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาอยู่ที่การเจริญไตรสิกขา  คือ          อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ในแง่เพศสัมพันธ์ผู้ครองเรือนที่ตั้งมั่นอยู่ในระบบศีลธรรม อบรมสมาธิ และเจริญปัญญาจนมองเห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิตที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ จากการอบรมเชิงภาวนา และจากประสบการณ์เชิงประจักษ์หรือจากการปฏิบัติทางเพศใน  ๒ ส่วน คือ ส่วนของกระบวนการความสัมพันธ์ทางเพศทั้งหมด และจำเพาะส่วนของการร่วมเพศ เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการปล่อยใจ วาจาและกายให้เป็นตามสัญชาตญาณทางเพศ  ดังนั้นสำหรับพระพุทธศาสนาสัญชาตญาณทางเพศแม้เป็นปฏิกิริยาเชิงลบที่จะต้องสลัดให้หลุดก็จริง แต่ก็สามารถนำสัญชาตญาณธรรมชาติของการสืบพันธุ์นี้มาเป็นแบบเรียนหรือแบบฝึกหัดที่ดีให้กับชีวิตได้เช่นเดียวกับวิธีการประพฤติพรหมจรรย์เชิง“การอบรมภาวนากระแสหลัก”โดยทั่วไปที่อาศัยการสมาทานเมถุนวิรัติเป็นที่ตั้ง รวมถึงการที่ระบบการภาวนากระแสหลักมักมองว่าเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง“การร่วมเพศ”นั้น เป็นเรื่องต้องห้ามและน่ารังเกียจ , หากการเพิ่มจำนวนขึ้นของ “คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรม” ที่ยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ(บริโภคกาม)อยู่นั้น เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสถานภาพข้างฝ่ายอนาคาริกเพศผู้ถือเคร่งเมถุนวิรัติ เป็นเพียง“กรอบสัญลักษณ์(ที่มองเห็น)ภายนอก”เท่านั้น แท้จริงแล้วความสำคัญกลับอยู่ที่“กระบวนการละวางเรื่องทางเพศภายใน”มากกว่าอย่างอื่น

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕