หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอาคม สุมงฺคโล (คุณสถิต)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
ศึกษาหลักการเจริญจตุรารักขกัมมัฏฐานในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอาคม สุมงฺคโล (คุณสถิต) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ ป.ธ.๗, พธ.บ., M.A., Ph.D.
  พระศรีสุธรรมมุนี ป.ธ.๘, ศน.บ.
  ผศ.เวทย์ บรรณกรกุล ป.ธ.๙, พธ.บ., ศษ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

                      วิทยานิพนธ์ เรื่อง ศึกษาหลักการเจริญจตุรารักขกัมมัฏฐานในคัมภีร์พุทธศาสนา       เถรวาท มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักจตุรารักขกัมมัฏฐานในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และ ๒) เพื่อศึกษาหลักการเจริญเมตตาภาวนา สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง และเรียบเรียงบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ

                      จากการศึกษาพบว่า กัมมัฏฐาน ๔ หมวด คือ ๑) พุทธานุสสติ การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า  ๒) อสุภกัมมัฏฐาน การพิจารณาร่างกายตนและผู้อื่น ว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม         ๓) มรณานุสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตนเป็นธรรมดา  ๔) การเจริญเมตตา การแผ่ไมตรีจิต   คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า  ได้ชื่อว่าจตุรารักขกัมมัฏฐาน เพราะกัมมัฏฐานทั้ง ๔ หมวดนี้ เป็นกัมมัฏฐานที่เกื้อหนุนและสนับสนุนกัมมัฏฐานหมวดอื่น ๆ ให้ปฏิบัติได้สะดวกได้ยิ่งขึ้น

                      จตุรารักขกัมมัฏฐาน เรียกอีกอย่างว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน เป็นกัมมัฏฐานที่ต้องการในที่ทั้งปวง คือ เหมาะที่จะใช้เป็นพื้นฐานของการเจริญกัมมัฏฐานทุกอย่าง เป็นหลักปฏิบัติเบื้องต้น ที่ผู้เริ่มปฏิบัติควรกระทำเป็นอันดับแรก เพื่อเจริญคุณความดีที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยความไม่ประมาท

                      สำหรับเมตตาภาวนานั้น พบว่าเมื่อปฏิบัติจนเกิดอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว  จากนั้นผู้ปฏิบัติกำหนดองค์ฌานที่ ๓ หมายถึง ปีติ ความอิ่มในอารมณ์ ปราบความพยาบาท ได้แก่ ความเมตตานั่นเอง เพราะเมตตาเป็นปฏิปักษ์ต่อความโกรธ เมื่อเมตตาเกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติกำหนดองค์ธรรมดังกล่าวโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดความรู้แจ้งในองค์ธรรม ซึ่งปัญญานี้เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา การเจริญอย่างนี้ สมถะเกิดก่อนแล้ววิปัสสนาเกิดตามมา ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญวิปัสสนาภาวนาโดยมีสมถะเป็นบาทฐาน

                      ดังนั้น ผู้เจริญวิปัสสนาที่มีอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิเป็นบาท ชื่อว่า สมถยานิก หมายความว่า ผู้ปรารถนาจะบรรลุธรรม ควรพยายามเจริญฌานขั้นใดขั้นหนึ่งในฌาน ๔ ในปัจจุบันขณะ ให้เกิดความชำนาญเพื่อใช้เป็นบาทของวิปัสสนา ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้ย่อมทำให้มรรคผลเกิดขึ้นได้

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕