บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ “มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาการกำหนดรูปนามในพุทธศาสนาเถรวาท, ๒. เพื่อศึกษาวิญญาณ ๖ ที่ปรากฏทางทวาร ๖, ๓. เพื่อศึกษาการกำหนดรูปนามทางวิญญาณในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา”โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา เถร-วาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
ผลการวิจัยพบว่า รูปคือธรรมชาติที่แตกดับ เมื่อว่าโดยลักขณาทิจตุกะคือมีการสลายแปรปรวน เป็นลักษณะ มีการแตกแยกกันเป็นกิจ(กับจิต)ได้เป็นกิจ มีความเป็นอัพยากตธรรมเป็นผล มีวิญญาณเป็นเหตุใกล้ ส่วนนามเป็นธรรมชาติที่น้อมไปหาอารมณ์ เมื่อว่าโดยลักขณาทิจตุกะคือมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ มีการเกิดก่อนและเป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสายเป็นผล มีนามรูปเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
รูปนามเป็นหลักธรรมสำคัญของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาถือว่าเป็นภูมิเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา กล่าวโดยสรุปแล้วเป็นบ่อเกิดของปัญญารูปนาม พระพุทธองค์ตรัสตามอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ เช่นตรัสเป็น ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ทั้งหมดนี้ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาทั้งสิ้น
วิญญาณ ๖ คือ ความรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งจัดเป็นอายตนะ ๖ เป็นภูมิเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา ความสุข ความทุกข์ หรืออารมณ์ทั้งมวล ล้วนอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นบ่อเกิดทั้งสิ้น ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเป็นการกำหนดอารมณ์ปัจจุบันขณะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ล้วนเป็นสภาวะรูปนามทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาโดยอาศัยอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ การเห็นรูปนามที่เป็นปัจจุบันขณะโดยความเป็นพระไตรลักษณ์
ดาวน์โหลด |