หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประสิทธิ์ สิริปญฺโญ (ฤทธิ์มหันต์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์เรื่องมนุษยนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๓๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประสิทธิ์ สิริปญฺโญ (ฤทธิ์มหันต์) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๐๖/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
  พระมหามนตรี ขนฺติสาโร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๖
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะศึกษาเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องมนุษยนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท” เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสารัตถะแห่งชีวิตของมนุษย์ ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ตัวมนุษย์เองและในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือสังคม  โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นหลัก ผู้ศึกษาจะได้รับประโยขน์และความกระจ่างแจ้งในความหมายของมนุษยนิยมตามทรรศนะของพุทธปรัชญาและนักปรัชญาท่านอื่น ๆ
           ในการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อเป็น ๕ บท ดังนี้
            บทที่ ๑ ว่าด้วยความเป็นมาและความสำคัญของการวิจัย
            บทที่ ๒ ว่าด้วยความหมาย ความเป็นมา ลักษณะ และขอบเขตของมนุษยนิยม
            บทที่ ๓ ว่าด้วยมนุษยนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท
            บทที่ ๔ ว่าด้วยพุทธปรัชญามนุษยนิยมกับปัญหาสิทธิมนุษยชน 
            บทที่ ๕ ว่าด้วยสรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
            ผลของการศึกษามีข้อสรุปที่สำคัญ คือ พุทธปรัชญา ให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์ โดยชี้แนะให้มนุษย์รู้จักมรรควิธีที่ถูกต้อง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ นั่นคือนิพพาน อันเป็นสิ่งที่สิ้นสุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล และให้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะพุทธปรัชญาถือว่า ผู้ที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบได้นั้น จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ  คือ มีความรู้ชอบ (สมฺมาญาณสมฺปนฺโน) และมีการกระทำที่ถูกต้องเป็นธรรม (สมฺมาจริยาสมฺปนฺโน) เป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมหรือสังคม อันเป็นคุณสมบัติของพระพุทธองค์ นั่นคือ ความรู้ต้องมาคู่กับคุณธรรม (วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน)
            พุทธปรัชญาถือว่า มนุษย์จะมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ใช้ปัญญาในการพิจารณาสรรพสิ่งเพื่อมุ่งทำลายกิเลส โดยไม่ทำจิตของตนให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสและอยู่ในสภาวะวิมุติ ซึ่งเสรีภาพที่แท้จริงนี้ก็คือเจตจำนงของพระอรหันต์นั่นเอง
            ส่วนในด้านการปฏิบัติตนต่อสังคม พุทธปรัชญาก็ได้ชี้แนะแนวทางให้มนุษย์ใช้ความสามารถทางสติปัญญาในการปฏิบัติตน คือ ทำหน้าที่ของมนุษย์ที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวมมากที่สุดโดยเฉพาะหลักคำสอนเรื่องสังคหวัตถุธรรมและพรหมวิหารธรรม ที่มุ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ลดความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้ง ในเรื่องของอุดมการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น

Download : 253604.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕