การวิจัยเรื่อง บทบาทของวัดและชุมชนในการอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงฆ์เพื่อศึกษาบทบาทของวัดและชุมชนในการอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนพรรษาและศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในการอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้วิธีศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือวัดและชุมชน โดยมีผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ เจ้าอาวาสหรือผู้เป็นตัวแทนวัด ผู้นำชุมชนหรือผู้เป็นตัวแทนในชุมชนและช่างเทียนที่ทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า
1. บทบาทของวัดและชุมชนในการสร้างต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ในระยะแรกวัดยังไม่มีบทบาทในด้านการสร้างต้นเทียนพรรษา แต่จะเป็นเพียงผู้รับถวายต้นเทียนพรรษาจากพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธา ส่วนชุมชนจะเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเป็นผู้ทำเทียนพรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในคุ้มวัดของตนเองพร้อมกับผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องไทยทานต่างๆ ในปัจจุบันชุมชนก็ยังเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างต้นเทียนพรรษาเช่นเดิม นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์แล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อส่งเข้าประกวดเทียนพรรษากับทางจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนทางวัดนั้นจะมีบทบาทในด้านการให้สถานที่ในการจัดทำต้นเทียนให้กับชุมชนเป็นส่วนมาก
2. ด้านประเพณีการแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา ความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ที่ชุมชนจะทำต้นเทียนพรรษาแห่เทียนไปถวายพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในแต่ละวัด พระสงฆ์จะใช้เทียนจุดเพื่อเป็นแสงสว่างในการทำกิจของสงฆ์ แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก การแห่เทียนพรรษาเน้นเพื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเป็นหลัก และเพื่อประกวดแข่งขันกัน ในบางครั้งจึงก่อให้เกิดความแตกแยกไม่สร้างความสามัคคีไม่เป็นผลดีต่อการอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
3. ด้านการให้ความรู้และการเผยแพร่ประเพณี วัดและชุมชนยังเป็นศูนย์รวมในการให้ความรู้เกี่ยวเทียนพรรษา โดยมีคณะช่างของวัดและชุมชนจะเป็นผู้ให้ความรู้แก่เยาวชนหรือแก่ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของต้นเทียนแต่ละประเภท ที่จะแทรกความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาและแง่คิดต่างๆ ที่แสดงออกมาทางศิลปะลวดลายของต้นเทียนพรรษาแต่ละต้นเป็นการให้ความรู้และสืบทอดประเพณีแห่เทียนพรรษาอีกทางหนึ่งด้วย การเผยแพร่ประเพณีแห่เทียนพรรษาต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนหรือคณะกรรมการผู้จัดงานแห่เทียนพรรษาในแต่ละปี เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ
4. ด้านการแก้ปัญหาในการอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ควรแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านบุคลากร คือต้องมีการสืบทอดวิธีการทำต้นเทียนแต่ละประเภทให้เป็นระบบ มีหลักสูตรการสอนที่ชัดเจน เพื่อให้มีช่างเทียนรุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นเก่าที่จะหมดไป (2) วัดและชุมชนไม่ควรเน้นการสร้างต้นเทียนพรรษาเพื่อการแข่งขันหรือหวังผลแพ้ชนะในการส่งต้นเทียนพรรษาเข้าประกวดมากเกินไป (3) ด้านงบประมาณ ในการจัดสร้างต้นเทียนพรรษาแต่ละต้นวัดและชุมชนต้องใช้งบในการสร้างเป็นจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรที่จะเข้าไปให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณให้มีความเพียงพอต่อการดำเนินการทำต้นเทียนแต่ละต้น ถ้าเช่นนั้นก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การประเพณีแห่เทียนพรรษาในจังหวัดอุบลราชธานีหมดไปได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการทำต้นเทียนพรรษาแต่ละต้นที่สูงขึ้นทุกปี
ในการอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนพรรษาทุกคนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ไม่ควรมุ่งหวังรางวัลมากเกินไป ควรมีการเปิดสอนการทำต้นเทียนประเภทต่างๆในวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะแต่ในวงการช่างเทียนเท่านั้น ทางราชการควรเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณในการจัดทำเทียนพรรษาของแต่ละคุ้มวัดหรือชุมชนให้เพียง ไม่ควรจะให้เป็นภาระของแต่ละวัดหรือชุมชนเท่านั้น
ควรมีการเก็บรักษาเทียนพรรษาหลังจากเสร็จสิ้นขบวนการแห่เทียนไว้ในที่เหมาะสม เช่นการสร้างโรงเก็บเทียนพรรษา เพื่อเก็บไว้ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ชมในจังหวัดหรือจังหวัดอื่นๆ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งยังไม่ได้มาชมในช่วงที่จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดและเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่อีกแนวทางหนึ่งด้วย |