การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นนี้ มีผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑. พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านทางประเทศจีน และประเทศเกาหลี ในหนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ นิฮอนโชกิ ได้บันทึกไว้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๑๐๙๕ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลพระเจ้าจักรพรรดิกิมเมอิ พระองค์ที่ ๒๙ ของญี่ปุ่น
๒. พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นทุกนิกาย โดยภาพรวมทุกนิกายมีความเชื่อที่ตรงกันว่า มนุษย์ทุกคนสามารถบรรลุธรรม หรือตรัสรู้ได้ โดยการปฏิบัติตนตามหลักความเชื่อของนิกายให้ความสำคัญกับมิติภายในจิตใจและความศรัทธา รวมทั้งมุ่งเน้นการพึ่งตนเองมากว่าการพึ่งพาอิทธิพลจากภายนอก และมีการจัดโครงสร้างและระเบียบองค์กรที่เป็นระบบ มีการวิจัยในประเด็นต่างๆ ตามความสนใจของพระสงฆ์ผู้วิจัย มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนในลักษณะต่างๆ เผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยเน้นการปฏิบัติเป็นหลักโดยเฉพาะการปฏิบัติกรรมฐานในรูปแบบที่เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม ทำให้ประชาชนญี่ปุ่นนำพระพุทธศาสนามาใช้สำหรับการดำเนินชีวิต
๓. ลักษณะเด่นและประเด็นร่วมสมัยของพระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นเป็นดังนี้ คือนิกายฮอสโส ถือว่าไม่มีสิ่งใดอยู่นอกเหนือภาวะจิต การสร้างสรรค์เกิดจากจิต นิกายเคงอน ถือว่าศรัทธายึดมั่นในอานุภาพของพระพุทธเจ้า ความสะดวกในการปฏิบัติ นิกายเทนได ถือว่าสรรพสิ่งทั้งมวลล้วนมีพุทธภาวะอยู่ในตน ทุกคนสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นิกายชินงอน ถือว่าความดีความชั่วเป็นของตัวเอง จะบรรลุความดีได้ด้วยอำนาจการบำเพ็ญเพียรของตนพึ่งพาอำนาจจากภายนอกไม่ได้ นิกายเซน ถือว่าไม่มีสิ่งใดที่จะพึงยึดถือเป็นที่พึ่งได้นอกจากตัวเอง ทุกคนสามารถเข้าถึงพุทธภาวะด้วยการฝึกปฏิบัติกรรมฐานด้วยตนเอง นิกายโจโดชิน หรือสุขาวดี ถือว่าสุขาวดีเป็นแดนอมตะสุข บรรลุได้ด้วยการบริกรรม “นะโม อมิตตา พุทธะ” นิกายนิชิเรน ถือว่าจิตเป็นสมาธิอันแน่วแน่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวและตรัสรู้ได้ นิกายยูซุเนมบุตสุ ถือว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีพุทธะในตนและมนุษย์มีชีวิตอันเกษมได้ด้วยพระกรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า |