ชื่อรายงานการวิจัย : การปรับพฤติกรรมเยาวชนตามแนวพุทธ : กรณีศึกษา ค่ายเยาวชน โครงการรัฐ – ราษฎร์ ร่วมใจพัฒนาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษากระบวนการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนตามแนวพุทธธรรมบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเสพติด 2) เพื่อศึกษาผลการจัดกิจกรรมตามแนวพุทธ ที่ใช้ในการฝึกอบรม 3) เพื่อศึกษาผลกระทบจากการใช้สารเสพติดที่มีผลต่อครอบครัวและชุมชน 4) เพื่อให้รู้อุปสรรคและปัญหาในการจัดค่ายเยาวชน กลุ่มประชากรเป้าหมายเป็นเยาวชนที่เข้าค่ายตามคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 220 คน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชน และครูฝึก 50 คน รวมทั้งสิ้น 320 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล จากข้อมูลที่ได้พบว่าเยาวชนใช้สารเสพติดประเภทต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้ บุหรี่ร้อยละ 42.7 สุราร้อยละ 24.1 กัญชาร้อยละ 12.7 ยาบ้าร้อยละ 9.5 ไม่ระบุประเภทร้อยละ 1.8 และเฮโรอีนร้อยละ 0.9 เลิกใช้แล้วร้อยละ 75.9 ยังไม่ได้ 24.1 ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินโครงการโดยครูฝึกและเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชน พบว่า เยาวชนร้อยละ 84.00 มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่เข้าค่าย ร้อยละ 12.00 มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เยาวชนมีความเชื่อมั่นว่าจะไม่เหลวไหลกลับไปใช้ยาเสพติดอีก ผู้ประเมินโครงการแสดงความคิดเห็นว่าสภาพแวดล้อมในชุมชนมีส่วนสำคัญที่จะให้เยาวชนหวนกลับคืนไปสู่สภาพการใช้สารเสพติดเหมือนเดิมได้อีกร้อยละ 62 ร้อยละ 34 เห็นว่าไม่มีผลและร้อยละ 4 ไม่แน่ใจ จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ผู้นำชุมชนและผู้ปกครอง พบว่าว่าเยาวชนร้อยละ 76 สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น ร้อยละ 24 ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ผู้ให้การสัมภาษณ์ให้ข้อเสนอแนะว่า การจัดค่ายเยาวชนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ชัดเจน แต่ควรมีการติดตามอย่างต่อเนื่องหลักพุทธธรรม สุภาษิต บทกลอน ผญา และเพลงธรรมะ ที่ใช้ประกอบกิจกรรมทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ตนเอง เข้าใจชีวิตได้ดียิ่งขึ้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องความกตัญญูกตเวที ในช่วงพ่อ-แม่พบลูก ได้ถึงร้อยละ 64.00
การจัดค่ายตามหลักพุทธธรรมบำบัด ควรมีการติดตามผลหรือการวิจัยต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระหว่างการฝึกอบรมและหลังการฝึกอบรม (ระยะหนึ่ง) เพื่อให้เยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแบบยั่งยืน
ดาวน์โหลด
|