บทคัดย่อ
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อค้นหาศาสนสถานที่สำคัญของวัดในกรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและคนต่างชาติ ๒) เพื่อศึกษาประวัติและความสำคัญของศาสนสถานในวัดกรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและคนต่างชาติ และ ๓) เพื่อศึกษาการบริหารการอนุรักษ์ศาสนสถานและการท่องเที่ยวของวัดในกรุงเทพมหานคร
การศึกษาวิจัยนี้ การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพและ เชิงเอกสาร (Qualitative and documentation research) ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลภาคสนาม (field study) กลุ่มตัวอย่าง คือ ศาสนสถานที่สำคัญต่อการอนุรักษ์การท่องเที่ยวของวัดในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระปรางค์ สถูปเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป วิหาร ระเบียง หอไตร ศาลาการเปรียญ และโลหะปราสาท ที่มีอยู่ในวัด จำนวน ๔๐ วัด ) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่จากการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth interview) จำนวน ๔๐ คน/รูป จากเจ้าอาวาสหรือตัวแทนเจ้าอาวาสวัด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือเจ้าหน้าที่ ลูกจ้างผู้เกี่ยวข้องศาสนสถาน และผู้ที่มีความรู้ของวัดที่มีศาสนสถานการท่องเที่ยวที่สำคัญนั้น ๆ
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ศาสนสถานที่สำคัญของวัดที่เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมีองค์ประกอบสำคัญ คือ วัดทั้ง ๔๐ แห่ง มีศาสนสถานสำคัญ คือ พระพุทธรูป พระอุโบสถ เจดีย์ พระปรางค์ พระวิหารหลวง ความสำคัญของศาสนสถานคือ เป็นวัตถุธรรมที่แสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาและพระรัตนตรัย เช่น พระพุทธรูปแสดงสัญลักษณ์ถึงพระพุทธเจ้า พระอุโบสถเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ เจดีย์ พระปรางค์เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริธาตุพระพุทธเจ้า พระวิหาร มักเป็น สถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมอันแสดงถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ความสำคัญของศาสนสถานสิ่งแรก คือ เป็นสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากแรงศรัทธาทางพระพุทธศาสนาและเป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนิกชนยึดถือทางด้านจิตใจและยึดถือเพื่อประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
๒. ประวัติและความสำคัญของศาสนสถานมีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ ศาสนสถาน ดังกล่าวยังมีความสำคัญในแง่เป็นสิ่งแสดงถึงความศรัทธา แสดงประวัติศาสตร์และบริบทความเชื่อของคนในช่วงเวลาของการสร้างศาสนสถาน ด้วย นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเข้ามาทัศนศึกษา เพื่อเป้าหมายทางศาสนา ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเข้ามาทัศนศึกษาเพื่อแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและความเชื่อของคนไทยในอดีตและคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งศาสนสถานจะสะท้อนมิติทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของคนไทยได้อย่างดี จะเห็นได้ว่าศาสนสถานที่กล่าวข้างต้น แต่ละประเภทก็จะมีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นมิติทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมได้อย่างดี เช่น พระอุโบสถและพระวิหารหลวงจะแสดงสถาปัตยกรรมการออกแบบตามแบบแผนสกุลช่างของแต่ละยุค และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แสดงภาพจิตรกรรม ภาพจิตกรรมที่ปรากฏในพระอุโบสถ และพระวิหารหลวงจะแสดงอดีตพุทธ ประวัติพระพุทธเจ้าและชาดก ซึ่งแสดงหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ใช้เป็นหลักยึดถือร่วมกัน ภาพจิตรกรรมนี้ในแต่ละสมัยจะมีภาพที่แสดงแตกต่างกัน ภาพเดียวกันในแต่ละยุคก็จะวาดต่างกัน สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนมิติทางความเชื่อและวัฒนธรรมของผู้สร้างได้ นักท่องเที่ยวเข้ามาทัศนศึกษาจะเข้าใจสังคมไทยได้อย่างดี
๓. การบริหารการอนุรักษ์ศาสนสถานและการท่องเที่ยว มีความสำคัญอย่างน้อย ๒ ประการข้างต้น การให้ศาสนสถานดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จากการศึกษาผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งการบริหารจัดการของผู้รับผิดชอบจะแตกต่างกันตามลักษณะความสำคัญของวัด และจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปทัศนศึกษาจำนวนมากที่สุดคือ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จะมีการบริหารการจัดการสมัยใหม่ กล่าวคือ มีจำนวนผู้ดูแลที่เป็นฆราวาสจำนวนมากโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ในด้านการักษาความสะอาด ความปลอดภัยในทรัพย์สิน และวัดยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลบูรณะร่วมกัน ส่วนวัดที่มีนักท่องเที่ยวค่อนข้างน้อยยังมีการบริหารจัดการโดยเจ้าอาวาสผู้ช่วยเจ้าอาวาสและมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งดูแล อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการศึกษาชุมชนมีส่วนเข้ามาดูแลค่อนข้างไม่มากนัก
ข้อเสนอแนะ ควรจัดรักษาวัดให้สะอาดร่มรื่น เป็นที่ร่มเย็นแห่งจิตใจและเป็นที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนสถาน และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติแก่ประชาชนทั่วไป และสิ่งสำคัญควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาศาสนสถานที่สำคัญ
ดาวน์โหลด |