หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ศาสตร์พระราชา2
 
ศาสตร์พระราชา2
  ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๘

 ศาสตร์พระราชา

 
พระพรหมบัณฑิต

          ขอนุโมทนาชื่นชมยินดี ในน้ำใจของวิทยากรทั้งหลายที่ได้แสดงปาฐกถาและร่วมอภิปรายเรื่อง"ศาสตร์พระราชาในมิติพระพุทธศาสนา" ที่เพิ่งจบลงไป การปาฐกถาและการอภิปรายเรื่องนี้ถือว่าเป็นของขวัญที่ล้ำค่า ไม่ใช่เฉพาะสำหรับตัวผมเท่านั้น แต่เป็นของขวัญที่ล้ำค่าสำหรับพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง ที่ได้ฟังที่ได้รับรู้รับทราบเรื่องที่สำคัญยิ่งของประเทศเราคือศาสตร์พระราชา วิทยากรทุกท่านรวมทั้งผู้ดำเนินรายการ ได้มอบของขวัญที่มีคุณค่าคือธรรมทาน ซึ่งมีค่าเหนือกว่าอามิสทานแก่พวกเรา
ในมหาสมาคมนี้

          ฉะนั้น ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน ผมจึงมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการมอบของขวัญอันเป็นธรรมทานแก่พวกเรา ณ ที่นี้ และที่จะรับรู้รับทราบผ่านสื่อต่อไป ทำไมจึงถือว่าเรื่องที่เราได้พูดกันในวันนี้เป็นเรื่องที่ล้ำค่า ก็เพราะว่าเรื่องศาสตร์พระราชาเป็นวาระแห่งชาติ มีใครบ้างไม่ได้ยินคำนี้ สถาบันชาติคือประชาชน สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่างแสวงหาความหมายแห่งศาสตร์พระราชา เพื่อนำพาสถาบันและประเทศชาติโดยรวมให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าเราไม่ชัดเจนว่าศาสตร์พระราชาคืออะไร เราจะเดินไปถูกทิศทางได้อย่างไร เราพูดและฟังเรื่องนี้กันอยู่เรื่อยๆ จนติดหู จนวิทยากรวันนี้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าพูดเรื่องอะไรก็ศาสตร์พระราชาทั้งนั้น และถ้าศาสตร์พระราชาเป็นทุกเรื่องแล้วเราจะทำอะไรได้ เราจะงงและสับสน ดีไม่ดีทะเลาะกัน คือ บางคนจะบอกว่าของฉันนี่แหละของแท้ ของคุณนั่นแหละของแถม ของฉันนั่นแหละแก่น ของคุณนั่นแหละกระพี้ ทั้งๆ ที่แก่น เปลือก กระพี้ก็ต้นไม้ด้วยกัน

          วิทยากรได้พูดในประเด็นที่จุดประกายให้กับพระสงฆ์ว่า ท่านอย่าอยู่เฉยๆ ออกเทศน์ ออกสอนบ้าง ท่านสงสัยไหม ว่านี่ก็ศาสตร์พระราชา วิทยากรบางท่านตั้งคำถาม “ทำไมคนไทยปล่อยให้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงงานหนัก แล้วทำไมพระองค์ต้องทรงงานหนัก” นั่นก็เพื่อศาสตร์พระราชา แต่ประเด็นอยู่ตรงไหน

          ที่น่าห่วงก็คือว่า เวลาเราชี้นิ้วไปที่ศาสตร์พระราชา เราจะเห็นแต่โครงการตามแนวพระราชดำริ รายการทีวีตั้งหัวข้อว่าศาสตร์พระราชา เนื้อหาในรายการส่วนใหญ่เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ๔,๐๐๐ กว่าโครงการ บรรยายกันว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเริ่มพัฒนาแหล่งน้ำตรงนี้ ชาวบ้านมีอยู่มีกิน ขายผลผลิตทางการเกษตรได้ แล้วบอกว่านี่คือ “ศาสตร์พระราชา” เหมือนกับเราชี้นิ้วไปที่พระจันทร์ ต้องการให้คนดูพระจันทร์ แต่คนมาติดที่นิ้ว เช่นเดียวกัน เราจะบอกว่าอะไรศาสตร์พระราชา  แต่มาติดที่โครงการตามแนวพระราชดำริ

          อะไรคือศาสตร์พระราชา วิทยากรคือศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ขอเอ่ยชื่อเพียงท่านเดียวเพราะท่านแสดงปาฐกถานำ ท่านให้ข้อสังเกตว่า ในพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้คำว่า “ครอง” ไม่ใช่ “ปกครอง”  ในที่นี้คำว่า “ครอง” ไม่ได้แปลว่าว่า rule (ปกครอง) ในภาษาอังกฤษ แต่ตรงกับคำว่า reign (ครองราชย์) ดังนั้น “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “We shall reign with righteousness for the benefit and happiness of the Siamese people” 

          คำว่าครองแปลว่าอะไร คำว่าครองตน ไม่ใช่ปกครองตน ครองตน คือ "รักษาตน ดูแลตน ดำรงตน ปกป้องคุ้มครองตน" พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ ทรงรับแผ่นดินจากรัชกาลก่อน ๆ ในราชวงศ์จักรี ซึ่งรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมรดกคือชาติไทย เมื่อพระองค์ทรงรับมรดกมาก็ต้องครอง คือดูแลประคับประคอง ไม่ให้ชาติไทยล่มสลาย
ทรงรักษา สืบทอด พัฒนาชาติไทยต่อไป ไม่ใช่โดยความฉ้อฉล แต่โดยธรรม เหมือนเราได้รับมรดกหมื่นล้านจากพ่อของเรา เราต้องครองมรดกไว้ให้ดี เมื่อสิ้นยุคเราจะต้องเหลืออย่างน้อยเป็นหมื่นล้านเหมือนตอนรับมรดกมา อย่างนี้เรียกว่าครองคือรักษาสืบทอดต่อไป

          เราทราบดีว่า แผ่นดินไทยที่ส่งต่อมาจนถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ ๙ อยู่ในสภาพที่ง่อนแง่น ตอนนั้นเพิ่งเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ สถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์อยู่ในสภาวะอย่างไร พระองค์จะต้องครองแผ่นดินต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับยุวกษัตริย์ แต่ ๗๐ ปีที่ครองราชย์ ทรงทำตามคำมั่นสัญญาในพระปฐมบรมราชโองการ คือทรงครองแผ่นดินโดยธรรมด้วยการรักษาสิ่งดีงามสืบต่อจากองค์บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงประคับประคองแผ่นดินให้รอดปากเหยี่ยวปากกาหลายครั้ง แถมยังพัฒนาชาติไทยให้ล้ำหน้าล้ำสมัยเกินกว่าที่คนจะคาดคิด จนกระทั่งในปี ๒๕๔๙ องค์การสหประชาชาติ นำโดยเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น คือโคฟี อันนัน (Kofi Annan) ได้นำรางวัลความสำเร็จสูงสุดแห่งชีวิตมาทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ รางวัลนี้เรียกว่า Lifetime Achievement Award รางวัลความสำเร็จสูงสุดตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

          องค์การสหประชาชาติได้ติดตามศึกษาผลงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาตลอดเวลา ๖๐ ปีที่ครองราชย์จนถึงปี ๒๕๔๙ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP ได้คิดมอบรางวัลความสำเร็จสูงสุดแห่งชีวิตนี้เป็นครั้งแรกในโลก และเลือกมอบให้แก่บุคคลที่เป็นแบบอย่างหรือเป็น Idol ที่เมื่อมอบแล้วชาวโลกต้องยอมยกนิ้วให้ ดังนั้น เลขาธิการสหประชาชาติจึงทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยประกาศว่าพระองค์ทรงได้รับการขนานนามจากชาวโลกว่า
"ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา (Development King)"

          เพราะฉะนั้น คำว่า ศาสตร์พระราชา คือ พัฒนศาสตร์ หมายถึงศาสตร์แห่งรักษา สืบทอดและพัฒนาประเทศชาติที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงดำเนินมาตลอดรัชกาลของพระองค์ ศาสตร์แห่งการพัฒนาของพระองค์กว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศไทยชนิดที่พูดถึงเรื่องไหนก็ถูกทั้งนั้น

          เลขาธิการสหประชาชาติประกาศสดุดีเกียรติคุณในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นภาษาอังกฤษ ความตอนหนึ่งว่า "ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา เพราะทรงถือเอาคนเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา นั่นคือ มนุษย์เป็นตัวตั้งของการพัฒนา หัวใจของการพัฒนาอยู่ที่คน" ถ้าเราสนใจแค่ว่าพระองค์มีโครงการพัฒนามากมาย เช่น โครงการฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแก้มลิง  เราจะมองข้ามเรื่องการพัฒนามนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่พระองค์ทรงถือว่าเป็นหัวใจแห่งการพัฒนา มนุษย์มีทั้งยากดีมีจน ตั้งแต่ยาจกจนถึงมหาเศรษฐี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์จึงใช้พัฒนามนุษย์ทุกระดับ 

กล่าวโดยสรุป ศาสตร์พระราชามุ่งพัฒนามนุษย์ใน ๔ ขั้นตอน ดังนี้
๑. ที่ขาด ก็เติมให้เต็ม 
๒. ที่เต็ม ให้รู้จักพอ 
๓. ที่พอ ให้รู้จักแบ่ง 
๔. ที่แบ่ง ก็ให้เป็นธรรม 

          ในประเด็นแรกที่ว่า "ที่ขาด ก็เติมให้เต็ม" หมายความว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักถึงปัญหาพื้นฐานของคนไทยว่ามีอยู่ ๓ ประการ คือ โง่ จน เจ็บ ซึ่งเป็นวัฏจักรคือวงจรอุบาทว์ นั่นคือ คนโง่เพราะไร้การศึกษา เมื่อโง่แล้วไม่มีงานทำ เขาก็จน เมื่อจนก็กินอาหารขาดคุณภาพ เขาก็เจ็บและสมองฝ่อ เมื่อสมองฝ่อก็จะโง่ โง่แล้วก็จน จนแล้วก็เจ็บ นี่คือวัฏจักรในสังคมไทย ในหลวงรัชกาลที่ ๙  เสด็จฯเยี่ยมประชาชนทั่วราชอาณาจักร เมื่อทรงเห็นว่าที่ใดขาดคือโง่จนเจ็บ ก็ทรงเติมให้เต็มด้วยการพัฒนาคนด้วยวิธีการที่เรียกว่า Empower คือช่วยคนให้เข้มแข็งพอที่จะช่วยตนเอง ที่โง่ทรงแก้ด้วยการส่งเสริมศึกษาทุกรูปแบบทั้งสายสามัญและสายอาชีพ อย่างที่เสด็จฯไปประสาทปริญญาด้วยพระองค์เอง แม้กระทั่งพระสงฆ์ก็ทรงให้มีทุนเล่าเรียนหลวง ทรงแก้ความยากจนด้วยโครงการตามแนวพระราชดำรินับพันโครงการ เช่นโครงการฝนหลวง โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการชั่งหัวมัน ทรงแก้ความเจ็บไข้ด้วยการแพทย์และสาธารณสุข ทรงพัฒนาโรงพยาบาลศิริราช ส่งเสริมมหาวิทยาลัยมหิดล โครงการแพทย์อาสา ไม่ว่าจะทำอะไร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงช่วยคนให้รู้จักช่วยตัวเองด้วยความเพียรพยายามเหมือนในบทพระราชนิพนธ์
เรื่องมหาชนก

          ประเด็นที่ ๒ ของศาสตร์พระราชา คือ "ที่เต็ม ให้รู้จักพอ"  ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเน้นย้ำในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency economy) คนเราถ้าไม่รู้จักพอ มักเกิดปัญหาฟุ้งเฟ้อตามมา เพราะมีความโลภมากเกินไป ดังจะเห็นได้ว่า ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังไปได้ดี จนถึงพ.ศ. ๒๕๔๐ รายได้ประชาชาติของไทยนำหน้าประเทศจีนด้วยซ้ำ ช่วงนั้นคนไทยเคิดแต่จะกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้ จนค่าเงินบาทถูกโจมตีในปี ๒๕๔๐ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยดิ่งลงเหว มีการลดค่าเงินบาทเป็นเท่าตัว คนไทยต้องทำงานฟรีเป็นสิบปีเพื่อใช้หนี้ต่างประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นเกิดจากความไม่รู้จักพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเตือนสติคนไทยให้รู้จักพึ่งตนเอง คืออัตตนาถะ ให้ยืนอยู่บนขาตัวเอง อย่าหวังแต่พึ่งเงินกู้ของคนอื่น ในหลวงทรงสอนให้คนไทยรู้จักความพอเหมาะคือมัตตัญญุตา เหมือนนกน้อยทำรังแต่พอตัว พัฒนาอะไรก็ให้รู้จักความพอดีเป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือเดินทางสายกลาง ไม่เน้นพัฒนาแต่วัตถุจนลืมพัฒนาจิตใจ คนไทยต้องมีความมั่งคั่งในจิตใจด้วยอริยทรัพย์
เพราะคนจนมี ๒ ประเภท คือ (๑) จนเพราะไม่มี และ (๒) จนเพราะไม่พอ พวกที่จนเพราะไม่มี เราต้องช่วยเติมให้เขาเต็ม อย่าให้ขาดแคลน ส่วนพวกที่จนเพราะไม่พอต้องฝึกใจให้รู้จักสันโดษคือพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ ดังภาษิตอุทานธรรมที่ว่า

ความไม่พอใจจนเป็นคนเข็ญ
พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล
จนทั้งนอกทั้งในไม่ได้การ                                                                         
ต้องคิดอ่านแก้จนเป็นคนมี

สมดังพุทธภาษิตที่ว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความรู้จักพอเป็นยอดทรัพย์  และคำของปราชญ์ชาวบ้านที่ว่า

เงินมาก เงินน้อย พอใช้ ก็พอ
ขี้เหร่ รูปงาม ดูได้ ก็พอ
แก่เฒ่า เยาว์วัย แข็งแรง ก็พอ
ยากดี มีจน คนดี ก็พอ...
บ้านเรือน เล็กใหญ่ อยู่ได้ ก็พอ
แบรนด์เนม หรือไม่ ใช้ได้ ก็พอ
ปัญหา หนักเบา แก้ได้ ก็พอ
เกิดมา ชาตินี้ มีดี ก็พอ

          ประเด็นที่ ๓ ของศาสตร์พระราชา คือ "ที่พอ ให้รู้จักแบ่ง" ดังที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อได้ทรัพย์สินมาแล้วให้แบ่งปันและทำบุญ มิฉะนั้นทรัพย์สินนั้นจะไร้ค่าเหมือนสระน้ำใสสะอาดแต่อยู่กลางป่าลึกที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม ใครก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทำเป็นแบบอย่างในเรื่องการแบ่งปัน ดังที่พระองค์ทรงใช้พื้นที่ในวังสวนจิตรเป็นที่ทดลองพันธุ์ข้าวและทำฟาร์มโคนม วังสวนจิตรไม่มีสิ่งฟุ้งเฟ้อสำเริงสำราญ มีแต่ควายไถนา กังหันลม ผมเข้าไปแล้วเห็นแต่ต้นไม้ ฟาร์มโคนม มีคุณยายใส่งอบมานั่งริมคันนา พวกเขามาปลูกข้าวด้วยพันธุ์ข้าวที่ทรงทดลอง เมื่อปลูกได้เมล็ดข้าวแล้วก็เอาไปหว่านที่ท้องสนามหลวงในวันแรกนาขวัญ นอกจากนี้ ทรงทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่สระบุรี ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทุกองคาพยพของสังคมไทยก็เดินตามรอยพระยุคลบาท ซึ่งเป็นเหตุให้สังคมไทยมีตาข่ายนิรภัยรองรับเมื่อประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจ  ดังที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายมีโครงการแบ่งปันด้วยการบริการวิชาการแก่สังคม บริษัทยักษ์ใหญ่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) คือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการคืนกำไรแก่ประชาชน ตอนนี้ รัฐบาลมีโครงการประชารัฐที่ชักชวนให้บริษัทยักษ์ใหญ่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โครงการหมูกระดาษของชุมชนวัดประยุรวงศ์ก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

          ประเด็นที่ ๔ ของศาสตร์พระราชา คือ "ที่แบ่ง ก็ให้เป็นธรรม" หมายถึงผลแห่งการพัฒนาต้องกระจายไปถึงทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แบบที่รวยกระจุกแต่จนกระจาย ศาสตร์พระราชาสามขั้นตอนแรกได้พัฒนาประเทศให้ร่ำรวยขึ้น จนกระทั่งในปี ๒๕๕๖ ธนาคารโลกได้ประกาศยกระดับประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper middle-income countries)  ถ้าประเทศไทยพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ประเทศเราก็จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เหมือนสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แต่การพัฒนาต่อจากนี้ไปก็มีกับดักสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle-income Trap) กับดักที่หนักหนาสำหรับประเทศไทยมีอยู่ ๒  ประการ คือ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นกับปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นแก้ได้ด้วย"ที่เต็ม ให้รู้จักพอ ที่พอให้รู้จักแบ่ง"  แต่ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติแก้ได้ด้วย"ที่แบ่ง ก็ให้เป็นธรรม"  เพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์ ทำให้คนไทยทะเลาะกัน เข้าลักษณะที่ว่า "แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่" ขนาดในหลวงรัชกาลที่ ๙ ประชวรอยู่ คนไทยยังไม่หยุดทะเลาะกัน เพราะการแบ่งไม่เป็นธรรม มีแต่การแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งเข้าพกเข้าห่อของพวกตัวเอง มือใครยาวสาวได้สาวเอา คนไทยทะเลาะกันจนบ้านจะแตก แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเหน็ดเหนื่อยได้อย่างไร

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้ศาสตร์พระราชาตามหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ข้อ ดังพระบาลีว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ    อาชฺวํ มทฺทวํ ตปํ 
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ    ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ 

          ที่ขาดทรงเติมให้เต็มด้วยทศพิธราชธรรมข้อแรกคือทำทาน เวลาให้อะไรแก่ใครในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีมัททวะคือความอ่อนน้อมสุภาพนุ่มนวล บางทีเวลาพระองค์ ไปช่วยพัฒนาแท้ๆ บางคนยังตามไม่ทัน เข้าใจผิดหรือเอาไปอธิบายผิด ในหลวงต้องออกมาอธิบายว่า เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างนี้ไม่ใช่อย่างนั้น แสดงว่าทรงมีอักโกธะ ความไม่โกรธ ทรงมีขันติคือความอดทนทนต่อความเข้าใจผิดของคนที่จะรับการพัฒนา นี่คือทศพิธราชธรรมในเรื่องที่ขาดก็เติมให้เต็ม 

          ทศพิธราชธรรมสำหรับเรื่องที่เต็มให้รู้จักพอ ก็คือทรงมีตบะคือความเพียรเผากิเลสจึงจะสามารถควบคุมกิเลสคือความโลภจนทรงใช้ชีวิตอย่างสมถะได้ พวกเราเคยเห็นหลอดยาสีพระทนต์ที่ทรงใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด นั่นแสดงว่า ในหลวงทรงมีตบะและมีศีลคือดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมเป็นปกติ

          ทศพิธราชธรรมสำหรับเรื่องที่พอให้รู้จักแบ่ง ก็คือบริจาค เสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของคนหมู่มาก และทรงแบ่งปันด้วยอาชชวะ คือความซื่อตรง ไม่มีอคติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีวิหิงสาคือการเบียดเบียนและเบียดบังผลประโยชน์ของคนอื่น

          ข้อสุดท้าย ที่แบ่งก็ให้เป็นธรรมด้วยทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑๐ คือ อวิโรธนะ แปลว่า ความไม่คลาดจากธรรม คือมีความยุติธรรม พระบรมราโชวาทเรื่องรู้ รัก สามัคคี ยังก้องอยู่ในหูเรา ในเวลาที่คนไทยทะเลาะกัน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงออกมาห้ามว่า“มีประโยชน์อะไรกับชัยชนะที่อยู่บนซากปรักหักพังของประเทศชาติ” ทรงเรียกหัวหน้าก๊กทั้งสองมานั่งพับเพียบรับใส่เกล้า นี่เป็นภาพที่คนทั่วโลกต้องทึ่ง ทรงเตือนว่าแม้แต่อำนาจก็ต้องแบ่งให้เป็นธรรม ผลทางเศรษฐกิจก็ต้องแบ่งให้เป็นธรรม เพราะถ้าไม่เป็นธรรม พระองค์ก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยที่ออกมาห้ามทัพ คนไทยเราน่าจะโตพอที่จะแบ่งอย่างเป็นธรรมโดยเลิกทะเลาะกัน เราเคยคิดจะพึ่งตัวเองบ้างไหม ห้ามทัพกันเองบ้างไหม คนไทยเราเป็นลูกที่ไม่รู้จักโตหรือเปล่า 

          ศาสตร์พระราชา ๔ ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงถ่ายทอดให้พสกนิกรชาวไทยมาตลอดพระชนม์ชีพด้วยการ (๑) สอนให้รู้ (๒) ทำให้ดู (๓) อยู่ให้เห็น

          ที่ว่า สอนให้รู้ คือ ทรงสอนเองด้วยพระบรมราโชวาทและพระราชนิพนธ์ ทรงนำธรรมสอดแทรกเข้าไปในพระบรมราโชวาท เช่นเรื่องคุณธรรมพื้นฐาน ๔ ประการ ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกเพื่อสอนคนไทยให้รู้จักสู้ชีวิต รู้จักพึ่งตัวเองด้วยความเพียรเมือนมหาชนก เอาชนะความโง่ จน เจ็บให้ได้ ถ้าใครทำตัวเป็นมหาชนก ก็หายโง่ หายจน หายเจ็บ ทำไมชาดกมีตั้งห้าร้อยเรื่อง ทรงเลือกเรื่องพระมหาชนกมาเผยแพร่ ก็เพราะว่าเรื่องนี้ช่วยพัฒนาคนได้ทันตา มหาชนกเป็นต้นแบบของมีขันติและวิริยะ คนโง่จะหายโง่ถ้าขยันเรียน พระที่เทศน์ไม่เป็นก็เทศน์ได้ถ้าขยันฝึกเทศน์ คนจนก็หายจนได้ถ้าขยันหมั่นเพียร ดังพุทธภาษิตที่ว่า อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ คนที่เจ็บป่วยถ้าขยันออกกำลังกายและกินยาตามหมอสั่งก็หายจากโรคได้

          นอกจากจะทรงสอนเอง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังนิมนต์พระให้ช่วยสอนด้วย ถ้าพระสอนไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ พระองค์ท่านทรงให้ทุนเล่าเรียนหลวง ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาเพื่อให้พระช่วยเทศนาสั่งสอนประชาชน ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ได้เล่าว่า รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างวัดไว้สวยงามเหมือนกับวิมาน วิมานมีไว้ให้เทวดาอยู่ แต่เทวดาอย่ามานอนจำวัดเล่น ดังนั้น พระต้องเรียนหนังสือ ต้องพัฒนาตัวเอง  เมื่อเรียนแล้ว พระต้องออกเทศน์สอนประชาชนตามพระราชปณิธานรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๙

          ที่ว่า ทำให้ดู คือในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงถือประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เรารู้เรื่องนี้เพราะพระองค์เสด็จฯออกไปเยี่ยมเยียนประชาชนตลอดเวลา ทรงรับฟังปัญหาและทรงแก้ปัญหาด้วยโครงการตามแนวพระราชดำรินับพันโครงการ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้คนไปดูและเลียนแบบเอามาปฏิบัติเอง

          ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคบตั้งคำถามว่า รัชกาลที่ ๑ โปรดทหาร รัชกาลที่ ๒ โปรดกวี รัชกาลที่ ๓ โปรดผู้สร้างวัด รัชกาลที่ ๙ โปรดอะไร หม่อมคึกฤทธิ์ตอบเองว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดการพบปะประชาชน เวลาแห่งความสุขของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือเวลาได้ไปพบปะประชาชนที่มาเข้าเฝ้า แต่ละครั้ง ทรงมีพระราชปปฏิสันถารนานหลายชั่วโมง จนผู้ตามเสด็จฯเมื่อยแล้วเมื่อยอีก เราเห็นภาพในหลวงประทับยืนบ้าง คุกเข่าบ้างสนทนากับประชาชน จนฝรั่งคนหนึ่งที่มาจากออสเตรเลียใหม่ๆ ถามเพื่อนคนไทยว่า ในหลวงของคุณไม่มีวังหรืออย่างไร เดี๋ยวเสด็จฯไปเชียงใหม่ เดี๋ยวเสด็จฯไปภาคใต้ เดี๋ยวเสด็จฯไปอีสาน เพื่อนคนไทยตอบว่าทุกจังหวัดเป็นวังของในหลวง พระองค์เสด็จฯทั่วไปหมด ถ้าคุณอยากเข้าเฝ้าในหลวงก็ไปดักเฝ้าตามจังหวัดต่างๆ ในหลวงของไทยเป็นอย่างนี้ ฝรั่งคนนั้นสรุปว่า  ในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ People's King กษัตริย์ของประชาชน นี่แสดงว่าพระองค์ทรงโปรดการพบปะประชาชนและทรงถือประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

          ที่ว่า อยู่ให้เห็น คือทรงอยู่ให้เห็นอย่างสมถะเรียบง่าย เวลาที่ในหลวงประสงค์จะให้คนไทยเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่างด้วยการถวายทาน รักษาศีล นั่งกรรมฐานเจริญจิตภาวนา เราเห็นภาพในหลวงเสด็จฯถวายผ้าพระกฐินพระราชทานซึ่งมีการสมาทานศีลก่อนทุกครั้ง ในเรื่องที่ทรงนั่งกรรมฐาน ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์อดีตประธานองคมนตรีเล่าว่า ตัวศาสตราจารย์สัญญาเองนั่งกรรมฐานวันละ ๒๐ นาที สู้ในหลวงไม่ได้เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงนั่งกรรมฐานวันละ ๔๐ นาที คุณวสิษฐ เดชกุญชร เล่าว่า ผู้ตามเสด็จฯในขบวนรถไฟเดียวกัน มักนั่งกรรมฐานตามในหลวงไปด้วย

          คำว่า ที่แบ่งก็ให้เป็นธรรม เราเห็นได้จากการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้น ชาวเขา ชาวเรา ชาวเหนือ ชาวใต้ ชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวอิสลาม ทุกคนรักในหลวงเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะพระองค์มีความยุติธรรมจึงปฏิบัติต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกที่ผู้นำศาสนาทุกศาสนาให้ความจงรักภักดี ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ

          เราเกิดมาในแผ่นดินของรัชกาลที่ ๙ ได้ทันเห็นพระองค์ท่าน ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ได้สืบทอดศาสตร์พระราชา นับว่าไม่เสียทีที่เกิดมา สำหรับพระสงฆ์ พระองค์ทรงหวังให้พระสงฆ์ที่รู้ว่าตัวเองขาดเรื่องอะไร ต้องเติมให้เต็มในเรื่องนั้น ผู้ที่ขาดการศึกษา ต้องเรียนหนังสือ ผู้ที่เรียนแล้วก็ต้องแบ่งปันความรู้ด้วยการออกเทศน์ออกสอนด้วยความเป็นธรรม ไม่ว่าคนยากดีมีจน เราเทศน์สอนให้ทั้งหมดโดยไม่ลำเอียง เราสอนทุกฝ่ายให้รักสามัคคีกัน เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพัฒนาประเทศไทยให้เจริญมาถึงจุดนี้ที่พวกเราต้องธำรงรักษาสืบไป อย่าทำตัวเป็นลูกที่ไม่รู้จักโต แม้วันนี้พ่อไม่อยู่แล้ว เราก็ต้องช่วยกันรักษามรดกของพ่อให้ยั่งยืนวัฒนาสถาพรสืบไปชั่วกาลนาน นั่นก็คือพันธกิจหรือหน้าที่ของคนไทยทุกคน

          คนไทยทุกฝ่ายทุกกลุ่มต้องเดินตามรอยพระยุคลบาทสืบทอดศาสตร์พระราชาในรัชกาลที่ ๙ ให้ครบทั้ง ๔ ประเด็น คือ ที่ขาดก็เติมให้เต็ม ที่เต็มให้รู้จักพอ ที่พอให้รู้จักแบ่ง ที่แบ่งก็ให้เป็นธรรม ถ้าทำได้อย่างนี้ในทุกกิจกรรม ประเทศชาติจะพบสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน พวกเราชาวไทยจะไม่รู้สึกว่าเราเป็นลูกกำพร้า เพราะต่างคนต่างช่วยดูแลพวกที่ขาดและช่วยเติมให้เต็ม พวกที่เต็มให้รู้จักพอและเแบ่งปันอย่างยุติธรรม เมื่อคนไทยเรารู้รักสามัคคีตามที่พ่อสอน ประเทศชาติก็จะมั่นคงสถาพรไป
ชั่วลูกชั่วหลาน พระพุทธศาสนาก็จะดำรงอยู่ตลอดจิรัฎฐิติกาล 

          ในที่สุดนี้ ขอทุกรูปทุกท่านทุกคนจงพร้อมใจกันตั้งกัลยาณจิตอธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย และมหากุศลอันเกิดจากอามิสทานและธรรมทานทั้งปวงนี้ จงมารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวะปัจจัย อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขอได้ทรงโปรดอนุโมทนาเพิ่มบารมีธรรมยิ่งขึ้นไปในสัมปรายภพ สมดังเจตนาปรารภของเราท่านทั้งหลาย ทุกประการ อนึ่ง ขอพรพระศรีรัตนตรัย และอำนาจแห่งบุญกุศลนี้ มารวมกันถวายเป็นพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ขอให้ทรงพระเกษมสำราญ สถิตยิ่งยืนนานในมไหศวรรย์ เป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าฯ ของพสกนิกรชาวไทย ตลอดกาลนาน เทอญ.

(เรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษ แสดง ณ มณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร  เขตธนบุรี  กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐)
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕