หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » วิชาการทางศาสนา » สังฆทานเจ้าปัญหา
 
เข้าชม : ๓๐๗๘๒ ครั้ง

''สังฆทานเจ้าปัญหา''
 
พระราชวิมลโมลี (ดำรง ทิฏฺฐธมฺโม)

          สารนิพนธ์เรื่องนี้ เกิดจากผู้เขียนได้รับคำถามจากพระสงฆ์และประชาชน ในสนามตรวจเยี่ยมคณะสงฆ์ และประชาชนทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา ในระยะเข้าพรรษาทุกปี ตลอดเวลา กว่า ๑๕ ปี ผู้เขียนได้ตอบปัญหาบนเวทีแล้วได้นำปัญหานั้นมา ทบทวน สอบหลักฐาน สืบค้นทางวิชาการ และวิเคราะห์ ให้คำตอบ ให้ทางออก แนวปฏิบัติที่คิดว่าดีที่สุด ตามหน้าที่ของศิษย์ตถาคต และตามพันธกิจของ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่จะต้องวิจัยนำองค์ความรู้ที่ถูกต้องมาบริการเติมปัญญาแก่สังคม โดยมุ่งรักษาหลักพระธรรมวินัยอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน เรื่องที่เสนอนี้เป็นผลจากการเอาหลักเกณฑ์ทางพระธรรมวินัยเข้ามาจับ โดยมุ่งตรวจสอบ และรักษาหลักพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ สาระของนิพนธ์นี้ จึงมีข้อสังเกต ข้อท้วงติง ข้อเสนอแนะ องค์ความรู้ใหม่ ข้อเสนอแปลกๆ ใหม่ๆ ให้นักพัฒนาได้ช่วยกันตรวจสอบ ข้อคิด แนวทางทั้งหมดนี้ จะไม่มีประโยชน์อันใดสำหรับผู้ที่มีนิสัยมักง่าย เก่งก่อนอ่าน หรืออ่านไม่จบก็โวยวาย ส่วนผู้ที่รู้บาลีบ้างแต่ยังไม่เข้มแข็งพอ ถึงแม้จะมีหัวพัฒนาอยู่แล้วจะอยากเอารูปแบบใหม่ไปใช้ แต่ก็จะไม่มีวิสารทะ ไม่กล้านำไปใช้ เพราะกลัวว่าจะถูกเขาทักท้วงแล้วจะไม่มสามารถชี้แจงแสดงหลักเกณฑ์ วิชาการ ข้อตัดสิน เพราะไม่ได้ค้นคว้าเรื่องนี้มาด้วยสติปัญญาของตนเอง แต่ถ้าท่านผู้ใดมีพื้นฐานภาษาบาลีแน่นพอแล้ว มีหัวก้าวหน้า ใฝ่หาความถูกต้องมาพัฒนาตนเอง และมีอุดมการณ์ที่จะร่วมกันพิทักษ์รักษารักษาหลักพระธรรมวินัยด้วยความเสียสละ กล้าหาญ โดยไม่หวั่นเกรงปัญหาอุปสรรคแล้ว เมื่อได้มาพบ ข้อเสนอนี้ ท่านคงก็จะยินดี เต็มใจพร้อมที่จะ รับข้อเสนอไปพิจารณา ตรวจสอบ สรุปผล นำความรู้ไปพัฒนาสังคมได้ ถ้าท่านผู้อ่านเป็นบุคคลประเภทนี้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า เรื่องนี้ จะสนองความต้องการของท่านได้แน่

ถึงสังฆทานเจ้าปัญหา
          เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๐ ปรากฏว่ามีญาติโยมชาวพุทธนิยมถวายถังสังฆทานขึ้น ในกรุงเทพฯ แล้วขยายออกไปต่างจังหวัด จนทั่วประเทศไทยในที่สุด ความนิยมเกิดขึ้นได้อย่างไรไม่มีใครทราบต้นตอ เข้าใจว่าเป็นเพราะพวกหมอดู แนะนำพวกที่ไปดูหมอให้ทำ สังฆทานกันเพื่อสะเดาะเคราะห์ รับโชค หรืออะไรทำนองนั้น แล้วก็เลยเกิดการนิยมเอาอย่างกันขึ้นจนแพร่หลาย วัดทั่วไปจึงมีญาติโยมนำถังสังฆทานมาถวายตลอดวัน พระสงฆ์ก็ดีใจที่ได้อดิเรกลาภ ได้ทั้งถังสังฆทาน ได้ทั้งปัจจัย (เงิน) พวกร้านขายของทำบุญเครื่องสังฆภัณฑ์ เห็นว่ามีคนซื้อเครืองสังฆทานมากขึ้น ก็รีบฉวยโอกาสจัดสิ่งของเครื่องทำบุญบรรจุใส่ถัง สังฆทานตั้งขาย เอาอย่างกันทั่วเมือง ปรากฏว่าขายดีจนกลายเป็นสินค้าที่ต้องตั้งโชว์ริมประตูร้านเลยทีเดียว เมื่อเห็นภาพคนไทยทำบุญสังฆทานกันมากขึ้น พระสงฆ์ (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ก็รู้สึกอนุโมทนาชื่นชมยินดีว่าชาวพุทธไทยยุคนี้ดีจริงหนอ ในยามบ้านเมืองวิกฤติฝืดเคืองเช่นนี้ ก็ยังไม่ทอดทิ้งบุญทานการกุศล กลับพากันทำบุญบำรุงศาสนาด้วยศรัทธาที่เหนียวแน่นมากขึ้น แต่ความดีใจเช่นนี้เป็นไปไม่ทันนาน ก็เกิดปัญหาน่ารำคาญขึ้นว่า           ๑. ในถังสังฆทานราคาถูก ๆ เห็นของเต็มถัง แต่ที่ไหนได้ มีแต่ขยะยัดใส่รองเต็มถังแล้วเอาของทำบุญจุก ๆ จิก ๆ อย่างละนิดละหน่อย มาปิดปากถังไว้ให้เห็นว่ามีของมากมายจนล้นปากถัง เช่น น้ำขวด, พริกเม็ดใส่ซอง ๑๐ เม็ด, เกลือ ๑ ช้อนใส่ถุง, ข้าวสารแค่ ๑ กระป๋อง ใส่ถุง แถมมีมอดกินยั้วเยี้ย, ธูปเทียน, กล่องสบู่, ไม้จิ้มฟัน, ไม้ขีดไฟ, ใบชา, ปลากระป๋อง, นมกล่อง, น้ำส้มเจือสี, มาม่า, น้ำปลาขวดเล็กจิ๋ว, และผ้าเหลืองชุบแป้งผืน กว้าง-ยาว ๙๐ ซ.ม. ซึ่งมันแคบ เล็กและบางจนไม่ อาจจะให้พระใช้นุ่งอาบน้ำได้ ๑ ผืน ของ เหล่านี้ ส่วนใหญ่พระใช้ไม่ได้ หรือไม่จำเป็นต้องใช้ สินค้าบางอย่างก็ค้างร้าน ขาย ไม่ได้มา นานแรมปีจนหมดอายุ (เอาสินค้าหมดอายุ มาขายผิดกฎหมาย ผู้ซื้อ อาจฟ้อง สคบ.ได้)
          ๒. โยมผู้ซื้อ นำถังสังฆทานที่ว่านี้ ไปถวายเป็นภัตตาหาร กล่าวคำถวายตามที่ร้านค้าพิมพ์ปะติดบนปากถังว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ฯลฯ ไปถวายไม่เลือกเวลา ทั้งเช้าสาย บ่ายเย็น กลางคืน พอพระได้ยินคำว่า ภัตตานิ พระที่รู้พระวินัยท่านถือว่าเป็นการถวายภัตตาหาร ซึงไม่อาจรับประเคนหลังเที่ยง จึงไม่รับประเคน บอกให้โยมวางไว้ พอพระไม่รับประเคน โยมก็ไม่พอใจ และกล่าวหาว่า พระอะไร โยมเอาของ ทำบุญมา ถวายก็ไม่รับ ?ถึงแม้พระก็อยากจะอธิบายให้ฟังเหตุผล แต่เมื่อเขาก็ไม่สนใจอยากรู้เหตุผล เขาไม่อยาก ฟังเทศน์เขาอยากถวายให้เสร็จ แล้วก็รีบไปเท่านั้น ครั้นพระจะไม่รับประเคนเลย ก็ไม่เหมาะ เมื่อไม่อยากขัดใจโยม จึงต้องฝืนใจรับไปให้เสร็จๆ จะได้หมดเรื่อง ทั้งๆ ที่รู้ว่า ผิดพระวินัย
          ๓. คำถวายสังฆทานที่ร้านค้าพิมพ์ปิดถังไว้ ก็ไม่รู้ไปเก็บเอามาจากครูอาจารย์ไหน บ้างก็ว่า อิมานิ ภัตตานิ, บ้างก็ว่า อิมานิ จะตุปัจจะยานิ, บ้างก็ว่า อิมานิ สังฆะทานานิ หรือ สังฆะทานิ บ้างก็ว่า สุทินนัง วะตะ เม ทานัง, ฟังแล้วก็รำคาญเวียนหัวกับคำถวายตำราผีบอกพวกนี้เหลือเกิน บาทีในถังไม่มีอาหารสักอย่างเดียว ก็ยังกล่าวคำถวายว่า ภัตตานิ หรือแม้แต่คำถวายหลอดไฟฟ้า ก็ยังใช้คำถวายว่า ภัตตานิ ช่างบังอาจกล้าหาญแต่งคำถวายมาได้ถึงปานนี้
          ๔. โยมบอกว่าต้องการถวายสังฆทาน แต่กลับไปถวายเจาะจงเฉพาะพระที่ตน รักใคร่รู้จักรักใคร่ เท่านั้น ถ้าเป็นพระอื่นที่ไม่รู้จักก็ไม่ถวาย บางทีหิ้วของลงรถมาแล้ว ไม่พบพระที่ตนรู้จักก็หิ้วกลับ ขึ้นรถคืนก็มี
          ๕. พระรับสังฆทานไม่รู้เวล่ำเวลา บางวัดจัดถังสังฆทานให้โยมซื้อถวาย ในเวลากลางคืน ค่ำมืด ดึกดื่นก็ยังโฆษณาขายถังสังฆทาน จัดพระให้คอยรับประเคนภัตตาหาร เพื่อหารายได้จากการขาย สังฆทานแบบเวียนเทียน
          ๖. พระที่รับสังฆทาน พอได้รับแล้วก็เอาไปเก็บเป็นของส่วนตัวด้วยความไม่รู้และความละโมบโลภมาก ไม่เอาเข้าไปรวมเป็นกองกลางสงฆ์เพื่อแจกแบ่งปันแก่คณะสงฆ์ เอาไปกองสุมท่วม ห้องนอน เก็บไว้จนข้าวสารเป็นมอดยั้วเยี้ย นมกล่องหมดอายุตั้งหลายเดือนแล้ว ก็บูด ระเบิด เหม็นทั่วห้อง
          ๗. พระหลายวัดมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเพราะแย่งรับสังฆทานจนมีการลงไม้ลงมือกัน
          ๘. เกิดกระบวนการพวกมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสเข้าไปสืบเสาะหาของมีค่าในกุฏิพระผู้ใหญ่ โดย ขอเข้าไปถวายสังฆทานถึงในกุฏิพระ แล้วสำรวจช่องทางประตู หน้าต่าง ทางเข้าออก จ้องมองหา ทรัพย์สินสิ่งของมีค่าในกุฏิ ทำแผนย้อนมาทำโจรกรรมหรือปล้น ภายหลัง
          ๙. หลังสุด ก็เกิดถังสังฆทานลามก โดยแม่ค้าจัดถังสังฆทานเอาหนังสือภาพอนาจารใส่ในถังให้พระดู เป็นข่าวอื้อฉาวเสียหายแก่พระเณรทั้งประเทศแค่ที่ว่ามานี้ สาธุชนก็คงเห็นแล้วว่าถังสังฆทานนี้ได้ก่อปัญหาหลายประการ แทนที่ถวายแล้วจะเป็นบุญกุศล ก็กลับเป็นบาปกรรม ทำลายหลักพระวินัย ก่อความรำคาญ สร้างประเพณีผิดๆ ทำให้ยุ่งยากแก่การแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง
          สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นก็เพราะทั้งพระทั้งโยมต่างมีแต่ความมักง่าย ไม่ศึกษา ไม่เคารพพระวินัย ฝ่ายโยมผู้ถวายก็ทำหา ฝ่ายร้านค้าก็เห็นแก่ได้ มุ่งทำขายเอากำไรเป็นสำคัญ ฝ่ายพระผู้รับก็ไม่ประสีประสาเรื่องพระวินัย ปล่อยไปนานๆความผิดเพี้ยนก็จะฝังรากจนแก ้ไม่ได้ การกระทำผิดๆก็เลยกลายเป็นถูก ใครทักท้วงคัดค้านก็กลายเป็นมารศาสนา คนขวางโลก เรื่องนี้ จะกลายเป็นเหมือนกรณีลูกนิมิตหลุมกลางโบสถ์ ซึ่งไม่มีในพระวินัย แต่เดี๋ยวนี้ กลับกลายเป็นลูกเอก ราคาแพง ใช้เป็นเครื่องมือหลอกเอางินได้ อย่างงาม เจ้า นาย พระเถระผู้ใหญ่ทุกระดับหลงยอมรับเป็นเจ้าภาพบริจาคเงินสร้างลูกนิมิตปลอม รับเป็นประธานตัด ลูกนิมิตปลอมกันทั่วโลกไปแล้ว ใครๆ ก็ค้านไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นการบัญญัติข้อที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้บัญญัติ (ไม่บัญญัติไว้ในพระวินัย แต่บัญญัติด้วยการโฆษณา บอก สอน เชิญ ชวน ทำให้เข้าใจผิด เอามาปฏิบัติจนติดเป็นประเพณี) มหาเถรสมาคม พระผู้ใหญ่ก็ไม่ทำหน้าที่รักษาหลักพระธรรมวินัย ไม่เหลียวแลใส่ใจควบคุม กำกับ ตักเตือน ชี้ผิดชี้ถูก แทนที่จะรักษาหลักพระธรรมวินัย เอาเรื่องนี้บรรจุเข้าที่ประชุมพิจารณา ออกมติ ทักท้วงห้ามปราม สั่งการให้เลิกหลอกลวง กลับยอมทำตามโดยรับป็น ประธานตัดลูกนิมิตให้ เท่ากับเข้าไปสนับสนุนการบ่อนทำลายพระวินัย ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงตัดสินใจเขียน เปิดเผยชี้หลักความจริงขุดคุ้ยประเด็นปัญหา สังฆทานนี้ขึ้นมาชี้แจงอธิบาย เพื่อให้ท่านผู้ต้องการทำบุญได้ทราบวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ผู้ทำบุญได้ทำบุญอย่างถูกวิธี เป็นการค้ำจุนพระศาสนา รักษาหลักพระธรรมวินัย ส่งเสริมพระสงฆ์ให้ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยได้จริง ท่านผู้อ่านกรุณาคิดใหม่ทำใหม่ โดยช่วยกันพิจารณาตรวจสอบหลักวิชาการให้ละเอียดถี่ถ้วน จริงจัง และมาร่วมกันลงมือสะสาง แก้ไข จัดระเบียบ สร้างรูปแบบการทำบุญให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์เสียที หลักการที่ต้องแก้ก็คือ....
          
          ๑. ของที่จะจัดใส่ถังหรือทำเป็นชุดสังฆทาน อย่าเอาของที่พระใช้ไม่ได้ เช่น เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ กล่องลูกฟูก ใส่ในถัง เพราะจะกลายเป็นการถวายขยะ, อย่าเอาของไม่จำเป็น เช่น ใบชา, กล่องสบู่, ไม้จิ้มฟัน, พริกเกลือแค่หยิบมือเดียว, หรือผ้าอาบน้ำฝนชุบแป้งผืนแค่ ศอกเดียว ซึ่งนุ่งห่มไม่ได้, ธูปเทียนเล่มเล็กๆ, ดอกไม้พลาสติก ใส่มา ของพวกน พระเณรใช้ได้แค่ผงซักฟอก ยาสีฟันเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่ได้ใช้และเกินความจำเป็น, สิ่งท พระเณรต้องการมาก ต้องใช้ประจำ ใช้เปลือง และประเคนถวายพระในเวลาวิกาลได้ คือ, ปัจจัยค่าใช้จ่ายในการเรียน (หนังสือเรียน, สมุดรองเท้า, ปากกา ปัจจัย ค่ารถ, ค่าน้ำ ค่าไฟ, ค่าเทอม, ค่าภัตตาหารของบริโภคประเภทปานะ น้ำดื่ม เครื่องปรุงน้ำปานะเช่น นม, โอวัลติน, ไมโล, น้ำตาล) ของใช้จำเป็นอื่นๆ เช่น จีวร, สบง, อังสะผงซักฟอก, สบู่, ยาสีฟัน, แชมพู, ไฟฉาย, กระดาษชำระ) ของเหล่านี้ถวายได้ทุกเวลา ควรเลือกซื้อแต่ ตรวจดูคุณภาพ อายุสินค้าด้วย อย่าไปซื้อของที่ใส่กระดาษเต็มถังปิดปากหุ้มพลาสติกแล้ว ซึ่งท่านไม่มีโอกาสตรวจคุณภาพ อายุ จำนวนสิ่งของเป็นอันขาด

          ๒. ถ้าเป็นของประเภทอาหาร เช่น ข้าว, แกง, ของหวาน, ขนม, กะปิ, น้ำปลา, ข้าวสาร, นมกล่อง อย่าใส่ปนกันไปถวายพระในเวลาหลังเที่ยงวัน ต้องแยกมาถวายเวลา เช้า-เพลเท่านั้น เพราะของประเภทอาหารนี้พระสงฆ์จะรับประเคนและฉันได้ช่วงเช้าถึงเที่ยง เท่านั้น การที่พระท่านไม่รับถังสังฆทานตอนบ่าย ก็เพราะท่านเห็นของประเภทอาหารนี้อยู่ในถังสังฆทานนั่นเอง ถ้าขืนรับประเคน ท่านก็ต้องอาบัติ ผิดพระวินัย พระที่รับประเคนก็คือพระที่ไม่รู้พระวินัยหรือถือวินัยหละหลวม ถ้าเป็นพระที่รู้วินัย เคารพวินัย ท่านจะไม่รับประเคนสิ่งของที่เป็นอาหารในเวลาหลังเที่ยงวัน ทุกวันนี้มีหลายวัดที่จัดถังสังฆทานไว้ให้โยมถวายเพื่อหารายได้ เชิญชวนโยมถวาย ทั้งกลางวันกลางคืน เช่น งานสีมางานวัดทั่วไป ชอบจัดรายการถวายสังฆทานกันตลอดวัน ตลอดคืน ทั้งๆ ที่เขากล่าวคำถวายว่า ภัตตานิ แต่ท่านก็รับประเคน ทำเหมือนไม่รู้ว่า เครื่องสังฆทานนั้นเป็นอาหาร ถวายพระหลังเวลาเที่ยงวันแล้วไม่ได้ ท่านคิดแค่ว่า ทำอะไรจะได้เงินเข้าวัดก็เอาหมด กลายเป็นแบบอย่างผิดๆ และเอาตามอย่างกันไปทั่วประเทศแล้ว

          ๓. มีคำถวายสังฆทาน แต่ยังไม่มีคำถวายปาฏิปุคลิกทาน ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียใหม่ว่า การถวายมี ๒ แบบ คือ สังฆทาน ถวายเป็นกลางสงฆ์, และปาฏิปุคคลิกทาน ถวายเฉพาะเจาะจงเป็นการส่วนตัว คำถวายทานทุกวันนี้ มีแต่คำถวายสังฆทานทั้งนั้น เพราะมีแต่กล่าวว่า สังฆัสสะ หรือ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ ทุกที การกล่าวว่า สังฆัสสะ (แก่พระสงฆ์) นี่แหละถือว่าถวาย สังฆทาน ส่วนคำถวายปาฏิปุคคลิกทาน ยังไม่มีใครคิดถึง ไม่มีใครแต่งคำถวายขึ้นมาใช้เลย ตำราศาสนพิธีของกรมการศาสนาหรือของวัดใด สำนักไหนๆ ก็ไม่มีคำถวาย ปาฏิปุคคลิกทาน) สังฆทานนั้น เมื่อถวายแล้วก็ตกเป็นของกลางสงฆ์ พระที่รับสังฆทานถือว่าเป็นตัวแทนรับแทนพระสงฆ์ทั้งวัด พระผู้รับต้องเอาของที่ได้รับไปรวมไว้เป็นกองกลางสงฆ์ เอาไปใช้ส่วนตัวไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์ยึดเอาไปใช้ส่วนตัว ถ้าเอาไปเป็นส่วนตัวก็ถือว่าน้อมลาภสงฆ์ไปเป็นของตัว (ยักยอกของสงฆ์) ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นเงินหรือของราคาแพง ก็อาจต้องอาบัติปาราชิกเลยทีเดียว แต่ถ้าถวายส่วนตัว คือโยมผู้ถวายเขากล่าวถวายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน และเจ้าภาพเขาประเคนแจกเป็นรายองค์ พระรูปใดรับแล้วก็เป็นของท่านรูปนั้น เอาไปได้เลย ไม่ต้องเข้า กองกลาง แต่มีบางวัดถือคำถวายหลักตรงเผงเลยว่า ถ้าโยมถวายด้วยคำว่า ภิกขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม ถือว่าถวายกลางสงฆ์ จะต้องเก็บรวบรวมซองปัจจัยไปเข้ากองกลางหมด ไม่ให้ รูปใดเอาไปเป็นของส่วนตัวเลย หลักปฏิบัติเช่นนี้ก็ไปขัดกับวัดอื่น ทำให้ปฏิบัติลำบาก ดังนั้น ถ้าโยมจะถวายปาฏิปุคคลิกทาน ถวายส่วนตัว ก็อย่าไปเอาคำถวายสังฆทานมากล่าวถวาย ต้องใช้คำถวายแบบ ปาฏิปุคคลิกทาน หลักการเปลี่ยนคำ ก็คือคำว่า ภิกฺขุสงฺฆสฺส ต้องเปลี่ยนเป็น อยฺยสฺส, แด่พระคุณเจ้า อยฺยานํ แด่พระคุณเจ้าทั้งหลาย และต้องเปลี่ยนคำว่า ภิกฺขุสงฺโฆ เป็น อยฺโย อยฺยา ปฏิคฺคณฺหาตุ แปลว่า ขอพระคุณเจ้า จงรับ, ถ้าถวายด้วยคำนี้ ถือว่าเป็นคำถวายส่วนบุคคล พระผู้รับ รับแล้วก็เอาของไปใช้ส่วนตัวได้เลย แต่ถ้าใช้คำว่า ภิกขุ สงฺฆสฺส โณชยาม ฯลฯ สงฺโฆ ปฏิคฺคณฺหาตุ เมื่อไร เมื่อนั้น ต้องถือว่าเป็นคำถวายสังฆทานทันที ขอย้ำว่า ถ้าจะถวายส่วนตัว ไม่ประสงค์จะให้พระเอาไปรวมกองกลางสงฆ์ ก็ต้องใช้ คำว่า อยฺยสฺส อย่าใช้คำว่า ภิกฺขุสงฺฆสฺส ซึ่งเป็นคำถวายกลางสงฆ์

          ๕. เดี๋ยวนี้ ชาวพุทธยังไม่รู้เรื่องปาฏิปุคลิกทาน ไม่มีใครคิด หรือ แต่งคำถวาย ปาฏิปุคคลิกทาน จึงไม่มีแบบอย่างคำถวายปาฏิปุคลิกทานให้ใช้ คนนำทำพิธี มรรคทายก ก็มีความรู้อยู่แค่ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ใช้คำเดียวนี้ทั่วประเทศ มีแต่คำถวายสังฆทานความผิดก็ไปตกอยู่ที่พระผู้รับสังฆทานที่ยังไม่รู้พระวินัยดีพอ รับสังฆทานแล้วก็เอาไปใช้เป็นของส่วนตัว

          ๖. วัดต่างๆ ที่เห็นแก่รายได้ เห็นช่องทางจะเอาเงินโยม ก็จัดถังสังฆทานตั้งหน้าวัด เชิญคนที่ผ่านไปผ่านมาให้แวะซื้อถังสังฆทานถวายเช้ายันดึก และคำถวายก็ใช้คำว่า ภตฺตานิ สปริวารนิ ทั้งเช้าสายบ่ายค่ำกลางคืน แสดงว่าพระรับประเคนอาหารทั้งวันทั้งคืน โดยไม่ เลือกเวลา เป็นการสอนให้โยมทำบุญโดยวิธีผิดๆ เป็นตัวอย่างผิดๆ ก่อให้เกิดการเอาอย่างกันทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องศึกษา ทำความเข้าใจ แต่งคำถวายปาฏิปุคลิกทานขึ้นใช้ใหม่ และฝึกหัดใช้คำถวาย นำเขากล่าวถวายให้ถูกแบบ พระสงฆ์ผู้รับ ก็ต้องรู้ จักแยกประเภทของสงฆ์กับของส่วนตัว ของที่ถวายในกาลและวิกาลให้ถูกต้องแล้วแนะนำพาโยมทำให้ถูกหลัก ข้อสำคัญ พระผู้ใหญ่ต้องดูแลต้องแก้ไข อย่าให้วัดใดพาทำบุญถวายสังฆทานโดยรับประเคนอาหารในเวลาวิกาล อย่ากล่าวคำถวายว่า ภตฺตานิ ในเวลาวิกาล ต้องรู้กาลิก ๔ รู้โภชนะทั้ง ๕ ให้ความเคารพวินัยกันอย่างตรงไปตรงมา

         ๗. พระผู้ใหญ่ต้องระวังสังเกต พวกมิจฉาชีพที่จ้องหาวิธีเข้าไปสำรวจข้าวของในกุฏิพระผู้ใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีเงิน มีวัตถุสิ่งของล้ำค่า จึงใช้เล่ห์เหลี่ยมอุบายวิธีเข้าไปถวายสังฆทานบังหน้า สำรวจมองหาของมีค่า ดูประตูหน้าต่างทางเข้าออกไว้ แล้ววางแผนเข้ามาโจรกรรม พระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาส ต้องระวังสังเกตพวกแปลกหน้า ที่มาถวายสังฆทานให้ดีด้วย อย่าได้ เซ่อซ่ากลายป็นเหยื่อเขาง่ายๆ

         ๘. การเอาถังสังฆทานไปขายต่อ เป็นเรื่องไม่ถูกต้องด้วยเจตนาของทายก ทายิกา เหมือนกับการเอาของที่โยมใส่บาตรไปให้แม่ค้าขายวนเวียนเทียน แสดงความงกเงินอย่าง น่าเกลียด และจะเกิดเป็นกระบวนการมิจฉาชีพ เมื่อได้รับถังสังฆทานนั้นมาแล้ว พระเจ้าหน้าที่พัสดุก็ควรรีบเปิดออก คัดแยกประเภท ตรวจดูของดีของใดเสีย ของใดเป็นกาลิกใด เก็บได้นานแค่ไหน ของใดใช้ได้ ใช้ไม่ได้ แล้วจัดเก็บไว้สงเคราะห์พระภิกษุสามเณร เมื่อเหลือ จากแบ่งปันแก่พระภิกษุสามเณรแล้ว ก็ควรแจกสงเคราะห์คนยากจน คนตกทุกข์ได้ยาก ผู้ประสบภัย เด็ก คนชรา คนป่วย ให้ของนั้นหมดๆไป อย่าเวียนกลับไปขายให้เสียภาพพจน์ของพระสงฆ์ ในคำถวายทาน มีปัญหาใหญ่ คือการหาคำบาลีและการเปลี่ยนคำบาลี ให้ถูก ไวยากรณ์ คำว่า ถวาย มี ๒ คำ คือ โอโณชะยามะ และ นิยยาเทมะ สิ่งของใดมีขนาดเล็กสามารถยกขึ้นประเคนพระได้ ให้ใช้คำว่า โอโณชะยามะ แปลว่า น้อมถวาย หรือถวาย ให้ยกขึ้นจบเหนือศรีษะแล้วประเคนลงที่มือหรือผ้าที่พระสงฆ์ปูรับ ประเคน สิ่งของใดมีขนาดใหญ่เกินที่จะยกขึ้นประเคนได้ ให้ใช้คำว่า นิยยาเทมะ แปลว่า มอบถวาย ให้ใช้วิธีหลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนฝ่ามือประธานสงฆ์ผู้รับ แทนการยกประเคน ถ้าผู้ถวายมีคนเดียวให้ใช้คำว่า อะหัง ภันเต, โอโณชะยามิ /นิยยาเทมิ ถ้าผู้ถวายมีหลายคนให้ใช้คำว่า มะยัง ภันเต, โอโณชะยามะ /นิยยาเทมะ อิมัง หรือ อิมานิ ใช้กล่าวถวายสิ่งของที่ผู้ถวายยกประคองไว้ในมือ คือ ถ้าสิ่งของ ที่ถวายวางอยู่ใกล้ตัว ใช้ อิมะ ศัพท์ ถ้าของมีชิ้นเดียว ใช้ อิมัง ถ้ามากกว่า ๑ ชิ้น ใช้ อิมานิ เอตัง หรือ เอตานิ ใช้กล่าวถวายสิ่งของที่ผู้ถวายไม่ได้ถือไว้ในมือ สิ่งของที่ถวาย วางอยู่ไกลตัว ให้ใช้ เอตะ ศัพท์ ถ้าของมีชิ้นเดียว ใช้ เอตัง ถ้ามากกว่า ๑ ชี้น ใช้ เอตานิ ภัตตานิ หมายถึง ข้าวสุกที่จัดไว้ในสำรับแล้วพร้อมตักฉันเท่านั้น ถังสังฆทานซึ่งเป็นถังรวมสิ่งของ เครื่องใช้ ของแห้งหลายอย่างที่ไม่ใช่ข้าวสุก จึงเรียกว่า ภัตตานิ ไม่ได้ ยิ่งซ้ำร้าย ขณะนี้ มีร้านทำหลอดไฟนีออน ขายเป็นสังฆทาน ก็พิมพ์คำถวายติดข้างกล่องว่า "ภัตตานิ" ให้ผู้ซื้อเอาไปอ่านเป็นคำถวาย กลายเป็นว่า ถวายหลอดไฟฟ้าเป็นอาหาร (จะให้พระเคี้ยวกินหลอดไฟหรือไงพ่อคุณ)

คำถวายเครื่องบูชาพระรัตนตรัย
          คำถวายเครื่องบูชาทั่วไปในปัจจุบันนี้ยังกำกวม ผู้กล่าวคำบูชายังไม่เข้าใจหลักการบูชา ผู้เขียนอยากจะให้ผู้กล่าวเข้าใจชัดเจนว่า การบูชา เราใช้อะไรบูชาอะไร จึงได้ปรับแก้ไขคำบูชาโดยระบุแยกเครื่องบูชาให้เข้าคู่ไปเลยว่า บูชาพระพุทธคุณด้วยธูป ๓ ดอก บูชาพระธรรมคุณด้วยเทียน ๒ เล่ม บูชาพระสังฆคุณด้วยดอกไม้หลากสี จึงได้คำใหม่ขึ้นดังนี้ อิเมหิ คันธะธูเปหิ พุทธัง ปูเชมะ. ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชา ซึ่งพระพุทธคุณ ด้วย ธูปหอม ๓ ดอกเหล่านี้. อิเมหิ ปะทีเปหิ ธัมมัง ปูเชมะ. ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาซึ่งพระธรรมคุณ ด้วยเทียน ๒ เล่มเหล่านี้. อิเมหิ นานาวัณณะคันธะปุปเผหิ สังฆัง ปูเชมะ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาซึ่ง พระสังฆคุณ ด้วยดอกไม่อันมีสีและกลิ่นต่างๆ เหล่านี้. จากนั้นก็กล่าวคำแสดงความเคารพพระรัตนตรัย ว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมะ. สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามะ. สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามะ. การใช้ มิ และ มะ ถ้ามีผู้ร่วมพิธีถวาย กล่าวพร้อมกันหลายคน ใช้ มะ, ถ้าคนเดียวใช้ มิ แทน มะ. คำแสดงความเคารพพระรัตนตรัย ทั้ง ๓ คำ เมื่อทำคนเดียว ใช้คำว่า อภิวาเทมิ นมสฺสามิ นมามิ ถ้าทำร่วมกันหลายคนก็เปลี่ยนเป็น อภิวาเทม นมสฺสาม นมาม ข้อวิพากษ์ เรื่อง อภิวาเทม นมัสสาม นมาม ที่แปลว่า กราบ เหมือนกันหมดทั้ง ๓ คำ นั้น ต้องเถียงกันหน่อย เราเห็นชัดอยู่แล้วว่า คำแสดงความเคารพพระ ๓ คำนี้ ใช้คำแตกต่างกันไป คือ เคารพพระพุทธว่า อภิวาเทมิ (อภิวาท) , เคารพพระธรรมว่า นมสฺสามิ (นมัสการ) , เคารพพระสงฆ์ว่า นมามิ (นมการ) เมื่อดูตามนี้จะพบว่า คำว่า นมัสการพระคุณเจ้า ที่เราใช้แสดงความเคารพพระสงฆ์นั้นไม่ถูก เพราะว่า นมัสการ เป็นคำเคารพพระธรรม ตามคำว่า ธมฺมํ นมสฺสามิ ไม่ใช่คำเคารพพระสงฆ์ คำเคารพพระสงฆ์ต้องใช้คำว่า ขอนมัสการพระคุณเจ้า ตามคำว่า สงฺฆํ นมามิ หรือ ใช้ "ขออัญชลีพระคุณเจ้า" ตามบทสังฆคุณว่า อญฺชลีกรณีโย ไม่ควรใช้นมัสการ ซึ่งเป็น คำเคารพพระธรรม การกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ต้องกราบโดยนั่งคุกเข่าลง ให้เข่าทั้งสองลงพื้น ประนมมือกราบให้ศอกทั้งสองลงพื้น และหน้าผาก ๑ ลงพื้น อย่างนี้เป็นการกราบครบองค์ ๕ ใช้คำว่า วนฺทามิ เช่น พุทฺธํ วนฺทามิ กราบพระพุทธเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์, ธมฺมํ วนฺทามิ กราบพระธรรมด้วยเบญจางคประดิษฐ์, สงฺฆํ วนฺทามิ กราบพระสงฆ์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แต่ถ้าใช้คำว่า อภิวาเทมิ ต้องไหว้ท่วมหัว ไม่ใช่กราบ, นมสฺสามิ ต้องไหว้เสมอระดับอก ไม่ใช่กราบ, นมามิ ต้องไหว้ก้มหัวน้อมให้ ไม่ใช่กราบ กิริยาแสดงความเคารพพระรัตนตรัย ๓ แบบนี้ ยืนทำนั่งทำก็ได้ ไม่ต้องกราบ เพราะ การอภิวาท การนมัสการ การนมการ ไม่ใช่การกราบ ท่ากราบ ต้องทำให้ได้เบญจางคประดิษฐ์ และต้องกล่าวคำว่า วนฺทามิ คือใช้ วนฺท ธาตุ เช่น ในคัมภีร์พระธรรมบทใช้ วนฺท ธาตุ มีคำว่า ติฏฐิเตน ทุกครั้ง คือ ปญฺจงฺคปฺปติฏฺŸิเตน วนฺทิตวา แสดงว่า วนฺท ธาตุ เท่านั้น จึงจะกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ถ้าไม่ใช่ วนฺท ธาตุ ก็ต้องทำเป็นแบบอื่น เช่น เทวตา อุปสงฺกมิตฺวา ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ เทวดาเข้าไปหาแล้วถวายบังคม(ยืนไหว้) ซึ่งพระพุทธองค์แล้วยืนอยู่ เทวดา อภิวาท คือ ยืนไหว้ ไหว้ในท่ายืน อภิวาท จึงไม่ใช่กราบแน่ๆ คำ ๓ คำนี้ ในธาตุปปทีปิกา และพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณทิตยสถาน อธิบาย ปนกันจนแยกไม่ออก เหตุนี้กระมังเราจึงใช้ กราบ กราบ กราบ เหมือนกันไปหมด แต่ที่กระผมแปลต่างกันทำท่าทางต่างกันนี้ ก็โดยยึดตามธาตุตามบาลีที่ใช้บ่อยเป็นข้อตัดสิน ขอยกคำ เหล่านี้ในคัมภีร์ต่าง ๆ มาเทียบให้ดูว่า คัมภีร์ไหน ให้คำแปลว่าอย่างไร
          - ในธาตุปปทีปิกา แก้ไว้ดังนี้
          - หน้า ๓๖๔ ว่า อภิวาท = วที อภิวาท อภิวาทน์ กราบไหว้
          - หน้า ๒๑๙ ว่า นมสฺสการ = นมสฺส นานติยํ นอบน้อม กราบไหว้
          - หน้า ๒๑๙ ว่า นมการ = นมุ นมเน น้อมโน้ม นอบน้อม
          - ในอภิธานัปปทีปิกา แก้ว่า อภิวาท นมัสสการ นมการ วันทา แปลว่าไหว้ เหมือนกันหมด ไม่มีแยกข้อแตกต่างเลย คือ
          - หน้า ๑๑๙ ข้อ ๔๒๖ ไหว้ทั้ง ๔ คำ นมสฺสา นมกฺกาโร วนฺทนา อภิวนฺทนํ
          - พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณทิตยสถาน ลอกตามอภิธานัปปทีปิกา ข้อ ๔๒๖ ทั้ง ๓ คำคือ
          - หน้า ๗๓๖ วันทา [ก.] ไหว้, แสดงอาการ เคารพ ไม่แปลว่า กราบ
          - หน้า ๘๗๙ อภิวาท อภิวันท์ กราบไหว้ [กิริยา] การกราบไหว้ [นาม]
          - หน้า ๔๒๒ นมักการ นมัสการ นมการ นอบน้อม การเคารพ แล้วให้ความหมายเพิ่มเกินไปจากอภิธานว่า "การไหว้, แสดงความอ่อนน้อมด้วยการกราบไหว้ คำที่ใช้ขึ้นต้นและลงท้ายจดหมายที่มีไปถึงพระภิกษุสามเณร"
          - ในธาตุปปทีปิกา ไม่แปล นมการ ว่ากราบไหว้ แปลเพียงว่า นมการ-นมุ, นมเน น้อมโน้มเท่านั้น
          - ในพจนานุกรมไทย เพิ่มความหมายว่า นมัสการ คือ การนอบน้อม การเคารพ
          - ปทานุกรมบาลีไทย อังกฤษ สันสกฤต แปลตรงกับข้อวิจารณ์ของผู้เขียน มากที่สุด คือ
          - หน้า ๘๑ อภิวาเทติ ( อภิ + วท ) อภิวาท ไหว้ (ไม่แปล ว่า กราบ)
          - หน้า ๘๐ อภิวาทนา-นํ ไหว้เฉพาะ, ไหว้, ความอภิวาท. (ไม่ แปลว่า กราบ)
          - หน้า ๓๙๐ นมสฺสติ (จาก นโม นมสฺส ก็ว่า) นมัสการ (ไม่ แปลว่า กราบ)
          - หน้า ๓๙๐ นมติ (นม) น้อม ม้วนเข้า น้อมไป (ไม่แปลว่า กราบ)
          - หน้า ๖๘๐ วนฺทติ (วนฺท) กราบไหว้ (มีคำว่า วนฺท นี้คำเดียวที่แปลว่า กราบ)

          นี่แสดงว่า ตำราที่น่าจะอ้างอิงได้ ก็ยังขัดกัน ไม่น่าเชื่อถือ ไม่พอที่จะอ้างอิงยึดเอาตามได้ จึงขอมอบข้อสังเกตนี้ให้ท่านผู้ที่รู้บาลีดีอยู่แล้ว ช่วยแก้ไข ตรวจสอบใหม่ ราชบัณฑิตยสภา ควรจะทบทวนเรื่องนี้ การกราบผิด เป็นเพียงประเด็นหนึ่งในหลายประเด็นที่นักบาลีของไทยปล่อยทิ้งค้างไว้ให้เป็นปัญหามานานแล้ว

การประเคนของพระ
          พระจะไม่หยิบฉวยเอาสิ่งของใด ๆ ไปฉันไปใช้ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเจ้าของเขาถวายหรือไม่ สิ่งของทุกอย่างที่จะถวายพระต้องประเคนเสียก่อนพระจึงจะเอาไปฉันหรือบริโภคได้ ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของถวายจริงๆ จึงต้องให้ทำการประเคน คือยกถวายให้และพระท่านได้รับประเคนด้วยมือ เว้นแต่น้ำดื่มและไม้สีฟันเท่านั้นไม่ต้องประเคน ลักษณะการประเคนมีดังนี้
          ๑. ของนั้นไม่หนักหรือใหญ่เกินไป เป็นของที่ยกคนเดียวได้
          ๒. ผู้ประเคนต้องยกขึ้นประเคนให้สูงพอประมาณ ๑ คืบ แล้วน้อมเข้าไปถวายพระ ถ้าสิ่งของมีมาก ยกประเคนได้ไม่หมด ให้น้อมกายจับของที่จับได้ยกได้ประเคนแล้วเลื่อนชิดๆกันต่อเนื่องกันไปก็ได้ เพราะการที่เจ้าของเขาเอามาวางไว้กลางวงก็แสดงว่าเขามีเจตนาว่าถวายอย่างชัดเจนแล้ว
          ๓. ผู้ประเคน เข้ามาประเคนในระยะใกล้ชิด พอที่จะยื่นของประเคนถึงมือพระ ผู้รับประเคน
          ๔. ถ้าผู้ประเคนเป็นชายให้ประเคนด้วยมือ พระก็รับด้วยมือได้ แต่ถ้าผู้ประเคน เป็นหญิง ให้ประเคนสิ่งของโดยวางลงบนผ้าที่พระปูรับ หรือสิ่งของเช่นพานรองก็ได้ พระจะรับประเคนของจากผู้หญิง ต้องใช้ผ้ารับประเคนที่เหมาะสม เช่น ผ้ากราบ อย่าใช้ผ้าที่สกปรก เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือดึงเอาชายผ้าจีวรชายสบงของ ตนเองออกมารับประเคน ฯ ยังมีประเด็นที่เข้าใจผิด ใช้ผิดกันอยู่อีกหลายประเด็น ที่ขอสรุปคืเสนอให้พิจารณา คือ
          ๑. คำว่า สงฺฆทานานิ หรือที่เพี้ยนเป็น สงฺฆทานิ นั้นเป็นชื่อประเภทของทาน ๒ ประเภทคือสังฆทานและปาฏิปุคคลิกทาน ไม่ใช่ชื่อวัตถุสิ่งของ เอามาใช้เป็นชื่อสิ่งของไม่ได้
          ๒. คำว่า สุทินฺนํ วต เม ทานํ ฯ ไม่ใช่คำถวายทาน แต่เป็นคำอธิษฐานบารมี ใช้กล่าวอธิษฐานต่อจากถวายทานแล้ว หรือหลังกรวดน้ำ
          ๓. เรื่องพระรับสังฆทานแล้วเก็บเอาไปเป็นของตัวเอง ไม่เอาไปรวมส่วนกลางสงฆ์ เป็นการน้อมลาภสงฆ์ไปเพื่อตน ผิดวินัยร้ายแรง ท่านเอาไป เพราะความโลภอยากได้หรือเพราะไม่เข้าใจความหมายของสังฆทาน ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติหนัก เรื่องนี้พระสงฆ์จะต้องศึกษา เคารพพระวินัย ครูอาจารย์ต้องช่วยบอกกล่าวให้เข้าใจ และตักเตือนกันให้ระวังต่อไป
          ๔. เรื่องผู้ถวายสังฆทานแต่เลือกถวายเฉพาะพระที่ตนชอบ อย่างนี้ไม่เป็นสังฆทาน เพราะตามหลักจะให้เป็นสังฆทานได้ต้องถวายไม่เลือกหน้าว่าเป็นพระรูปใด ผู้ถวายต้องทำใจให้กว้าง ไม่ยึดติดบุคคล ถ้ายึดติดบุคคลก็จะกลายเป็นปาฏิปุคคลิกทาน (ทานถวายเจาะจงบุคคล) ผู้ถวายต้องจำไว้ว่า ถ้าถวายสังฆทานต้องไม่เลือกหน้าพระ ขอเพียงให้เป็นพระบริสุทธิ์ด้วยศีลาจารวัตรก็ใช้ได้

          ๕. คำถวายข้าวพระพุทธ ที่เรียกกันว่าถวายข้าวพระพุทธนั้นเป็นคำเรียกผิด ที่จริง ไม่ใช่ถวายข้าวพระพุทธ เพราะพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ไม่มีความหิวอะไรเหลือแล้ว พระพุทธรูปกฉันอาหารไม่ได้ แต่ที่เราถวายข้าวนั้น เป็นการนำข้าวไปบูชาด้วยความสำนึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ที่ทรงวางรูปแบบการปฏิบัติที่ดีงามไว้ ทำให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง จึงทำให้ชาวโลกมีศรัทธานำข้าวน้ำมาถวายใส่บาตรทำให้เราได้ฉัน เราสำนึกว่า การที่เราได้กินได้ฉันอุดมสมบุรณ์เช่นนั้นเป็นเพราะพระบารมีของพรพุทธองค์ เราจึงนำข้าวที่เขาทำบุญนั้น มาถวายเป็นเครื่องบูชาพระคุณของพระองค์ จึงต้องพูดคำนี้ให้ถูกหลักว่า ถวายข้าวบูชา พระพุทธคุณ ไม่ใช่ถวายข้าวให้พระพุทธเจ้าฉัน อย่างที่เราพากันเข้าใจผิดถึงขนาดมีการจัดอาหารตามขึ้นไปถวายในสวรรค์ชั้นอายตนนิพพาน หรือทำเหมือน เซ่นผี เซ่นพระภูมิ เซ่นเจ้าในศาล
          ๖. ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีระบุในคำกล่าวถวายทานประการหนึ่งคือ จุดมุ่งหมายของการถวาย คือ ในคำถวายทานที่ลอกแบบตามอย่างกันอยู่ทุกวันนี้ แสดงจุดมุ่งหมายวัตถุประสงค์อยู่เฉพาะเรื่องประโยชน์สุขส่วนตัวของผู้ถวายว่า อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพเจ้า บางทีก็ว่า มาตาปิตุอาทีนํ ขยายไปถึงมารดาบิดาปิยชนผู้ล่วงลับด้วย แต่ไม่มีกล่าวถึงประโยชน์ฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับทานว่า ถวายพระไปเพื่อให้พระได้อะไร ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดการขนขยะ กระดาษหนังสือพิมพ์ กล่องลูกฟูก ผ้าอาบน้ำฝืนเล็กๆ ใบชา ไม้จิ้มฟัน สิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดยัดใส่ในถังถวายพระ ก็เพราะโยมไม่คิดถึงประโยชน์ฝ่ายพระ และเพราะในคำกล่าวถวายทานไม่พูดถึงประโยชน์ฝ่ายพระไว้เลย นั่นเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้โยมผู้ซื้อไม่รู้จักเลือกซื้อเลือกหาของที่พระใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เอามาทำบุญถวายพระ ก็เลยหลงซื้อถังขยะมาถวายพระโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น คำถวายทานต่างๆ จึงควรจะระบุถึงประโยชน์ฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับไว้ด้วย เวลาซื้อหาก็ต้องพิจารณาว่าใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น ถวายอาหาร เพื่อพระสงฆ์บริโภคยังอัตตภาพให้เป็นไป เกิดกำลังกายในการปฏิบัติ สมณธรรม ก็เลือกหามาถวายเฉพาะอาหารที่เสริมสุขภาพ ไม่ใช่เอานมบูด ปลากระป๋อง น้ำผลไม้หมดอายุมาถวายให้พระฉันแล้วเกิดท้องเสีย ถวายเสนาสนะ เพื่อพระสงฆ์ได้อยู่อาศัยหลบยุง เหลือบ ลม ร้อน หนาว หรือเพื่อเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรม บำเพ็ญศาสนกิจ ก็จัดสร้างถวายให้ได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ถวายจีวร เพื่อพระสงฆ์ได้นุ่งห่มปกปิดความละอาย เพื่อป้องกันยุงเหลือบ ลม ร้อน หนาว ก็เลือกหามาถวายให้นุ่งห่มป้องกันความอาย และอันตรายได้จริง เป็นผ้าที่ตัดเย็บย้อมมาได้ขนาดถูกสี ถูกพระวินัย พระสงฆ์ใช้ได้จริง ไม่ใช่เอาผ้าผืนบางๆ เมตรเดียวมาถวายให้พระนุ่งอาบน้ำ ถวายผ้ากฐิน เพื่อพระสงฆ์ได้ผ้าเปลี่ยนจีวรเก่า หรือได้อานิสงส์กฐินเพื่อแสวงหาผ้า มาทำจีวรใหม่ ถวายเภสัช เพื่อพระสงฆ์บำบัดโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนเท่านั้น ต้องถวายยาที่แก้โรค ได้ อย่าถวายยาเสพติด ยากระตุ้น ยาบั่นทอนสุขภาพ ถวายพาหนะ เพื่อพระสงฆ์ได้เดินทางไปฏิบัติศาสนกิจและสมณธรรมได้สะดวก ถวายหนังสือเรียน หรือพระไตรปิฎก เพื่อพระสงฆ์และชาวโลก ได้อ่านค้นคว้า ศึกษาพุทธศาสนา ถวายปัจจัย เพื่อพระสงฆ์ได้ใช้ก่อสร้างซ่อมแซมเสนาสนะ อุปกรณ์ พัสดุ ครุภัณฑ์ เพื่อใช้ในกิจกรรมของวัดบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคง ดังนั้น ในคำถวายนั้นต้องระบุจุดมุ่งหมายว่า เพื่อประโยชน์อะไรแก่พระสงฆ์ผู้รับ เพื่อประโยชน์อะไรโยมผู้ถวาย และเพื่อประโยชน์อะไรแก่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ คือต้องได้ประโยชน์ทั้ง ผู้ถวาย ผู้รับถวาย และผู้ตาย รวม ๓ ฝ่าย ถ้ามีความเข้าใจและระบุจุดมุ่งหมายไว้อย่างนี้ การจัดหาสิ่งของมาถวาย ก็จะมีการเลือกสรรหาเอาเฉพาะที่จำเป็นใช้ได้จริง ไม่ใช่ถวายเศษผ้าศอกเดียวที่พระนุ่งไม่ได้มาให้พระนุ่งอาบน้ำฝน อย่างที่พวกร้านสังฆทานทำขายอยู่ทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ คำถวายทานต่าง ๆ ที่ว่ากันมาตามตำราพื้นบ้านเหล่านี้ ต้องแก้ปรับแบบฟอร์มกันใหม่หมด โดยจะต้องเน้นองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
          ๑. คำถวายแก่สงฆ์ เป็นสังฆทาน ใช้คำว่า ภิกฺขุสงฺโฆ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส
          ๒. คำถวายแก่พระรูปเดียว เจาะจงเป็นถวายส่วนตัว ใช้คำว่า อยฺโย, อยฺยสฺส
          ๓. คำถวายแก่พระจำนวนมาก ถวายส่วนตัว ใช้คำว่า อยฺยา, อยฺยานํ
          ๔. คำถวายสิ่งของที่เราถวายผู้เดียว ใช้คำว่า อิมาหํ ภนฺเต ฯ สาธุ เม ภนฺเต ฯ มยฺหํ ทีฆรตฺตํ ฯ
          ๕. คุณสมบัติของพระผู้รับ ระบุว่าเป็นผู้มีศีล เป็นทักขิเณยยบุคคลจึงควรรับทาน จึงใช้คำว่า สีลวนฺตสฺส ทกฺขิเณยฺยสฺส อนุตฺตรปุญฺญกฺเขตฺตสฺส ภิกฺขุสงฺฆสฺส เสริมคุณบทเข้าไป (เตือนพระให้วางตัวเป็นบุญญเขต)
          ๖. คำถวายสิ่งของที่ร่วมกันถวายเป็นหมู่คณะ ใช้ อิมานิ มยํ ภนฺเต, สาธุ โน ภนฺเต, อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ
          ๗. ของอยู่ในมือ ใช้คำว่า อิมํ, อิมานิ แต่ถ้าของที่จัดถวายวางหน้าพระแล้ว อยู่ไกลตัว ใช้คำว่า เอตํ, เอตานิ
          ๘. คำเรียกชื่อสิ่งของที่ถวายต้องค้นหาคำบาลีว่า ของอะไร ชื่อไทยว่าอย่างนี้ ชื่อบาลีว่าอย่างไร ต้องรู้จักชื่อรู้จักแจกวิภัติลิงค์วจนะให้ถูก
          ๙. คำแสดงจุดมุ่งหมาย ว่าถวายเพื่อประโยชน์อะไรแก่ผู้ถวาย และเพื่อประโยชน์อะไรแก่พระผู้รับต้องระบุให้ชัดเจน (ให้ดูตัวอย่างคำถวายในเล่ม) คำเรียกชื่อสิ่งของที่ถวายเป็นภาษาบาลีนับว่าเป็นเรื่องยุ่งยากมาก เพราะไม่รู้ว่าสิ่ง ของนั้นใช้คำเรียกชื่อเป็นภาษาบาลีว่าอย่างไร ผูกคำบาลีว่าอย่างไร สิ่งของที่ถวายพระมีเป็นร้อยเป็นพัน ผู้ที่กลัวผิดก็มักจะถามมาทางผมเสมอ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ถึงแม้จะมีผู้แต่ง ตำราขึ้น โดยเฉพาะหนังสือสากลทานของพระธรรมวโรดม ได้รวบรวมชื่อสิ่งของถวายพระไว้มากกว่า ๓๐๐ ชื่อ อยากถวายอะไรก็เปิดตำราเอา แต่นั้นก็เป็นเพียงการให้ชื่อสิ่งของเป็น อย่างๆ ไปเท่านั้น ยังไม่หมดปัญหา เพราะยังมีกรณีถวายสิ่งของที่จัดเป็นห่อกระเช้า มีสิ่งของหลายอย่างใส่คละปะปนรวมกันอยู่ ไม่รู้จะเรียกชื่ออะไรดี ก็เลยต้องเรียกรวมกัน เมื่อหา คำเรียกไม่ได้ก็เลยใช้คำว่า จตุปัจจัยไทยทานบ้าง ว่า จตุปจฺจยานิ บ้าง ว่า สงฺฆทานานิ บ้าง เพี้ยนเป็น สงฺฆทานิ เพราะพิมพ์ผิดบ้าง บางทีก็เอาคำอธิษฐานบารมีมากล่าวเป็นคำถวายทานว่า สุทินฺนํ วต เม ทานํ ไปเลย ซึ่งล้วนแต่เป็นคำผิดทั้งสิ้น คำว่า ไทยทาน ที่ใช้เรียกชื่อสิ่งของถวายพระนั้นเป็นบาลีวิปริตแต่งผิด เพราะคำว่า เทยฺย แปลว่า พึงให้, ควรให้ ทาน แปลว่า สิ่งที่ควรให้ รวมคำเป็น เทยฺยทานํ แปลว่า ของควรให้ พึงให้ แปลแล้วก็ เป็นคำซ้ำ ไม่ได้ความ แต่เป็นคำที่พากันพูด ผิดติดปากมานานจนดูเหมือนเป็นคำที่ถูกไปแล้ว เป็นภาษาชาวบ้านที่ไม่รู้บาลีว่ากันไปเอง คำว่า "ไทยทาน" นี้ไม่มีในบาลี ที่พบมีแต่คำว่า "ไทยธรรม" เท่านั้น ในเสนาสนะ ขันธกะท่านใช้คำว่า ไทยธรรม ในความหมายว่า เป็นสิ่งตอบแทน เช่น ให้คฤหัสถ์ขึ้นไปทา ปูนขาวหรือทาสีพระเจดีย์แล้ว เจ้าอาวาสก็ให้ไทยธรรมเป็นการตอบแทน ไทยธรรมนี้ไม่ใช่ ค่าจ้าง เพราะไม่ได้ว่าจ้าง ไม่ได้ตั้งอัตราราคาค่าแรง แต่ให้กันด้วยน้ำใจเป็นของสมนาคุณตามแต่จะให้ เท่านั้น อาจจะให้มากเกินกว่าค่าแรงปกติ หรือให้นิด ๆ หน่อย ๆ พอเป็นน้ำใจก็ไม่ว่ากัน เหมือนการนิมนต์พระพระสวดมนต์หรือ เทศน์ พระและผุ้นิมนต์ไม่ไต้องตกลงเรื่องค่าจ้าง แต่ เราถวายตาม ศรัทธา สามารถ ไม่เหมือนจ้างพวกลิเกหมอลำรับที่เขาต้องตกลงราคาวางมัดจำกันก่อนลงนามในสัญญาจ้าง ฉะนั้น สิ่งของที่จัดมาถวายพระสงฆ์ในพิธีต่างๆ จึงเรียกว่า เทยฺยธมฺโม (เวลาเขียนเป็นภาษาไทย สระ เอ ออกเสียง คล้ายๆ ไ- จึงเขียนตามเสียงเป็น ไทยธรรม อ่านออกเสียงว่า ทัย - ยะ - ทำ) คำว่า จตุปจฺจยานิ ที่ใช้เรียกชื่อสิ่งของหรือปัจจัยคือเงินที่ถวายพระนั้น ก็ผิดหลักภาษาบาลีหลายประเด็น คือ จตุปจฺจยานิ จะว่าเป็นคำสนธิก็ผิดหลักสนธิ จะว่าเป็นคำสมาสก็ผิดหลักทิคุสมาส คืออย่างไร ? ถ้าเป็นสนธิ ต้องสนธิเป็น จตฺตาโร ปจฺจยา ต่อเป็น จตฺตาโร ปจฺจยา เป็นปกติสนธิ จตฺตาโร แปลง โย เป็น อ ให้เหลือแค่ จตุ ไม่ได้ ต้องต่อเป็น จตฺตาโร ตามเดิม (มีเพียง ปญฺจ - อฏฺŸารส เท่านั้นที่ลง โย แล้วแปลง โย เป็น อ ตามสูตรที่ ๑๒๕ ปทรูปสิทธิ) ปจฺจยา เป็นปุงลิงค์ ปฐมาวิภัตติ พหุวจนะ ลง โย วิภัตติ เป็น ปจฺจยา เป็นปุงลิงค์อย่างเดียว เป็นนปุงสกลิงค์ไม่ได้ จึงแจกเป็น ปจฺจยานิ ไม่ได้ (อภิธานัปปทีปิกา ข้อ ๙๑) เมื่อสนธิก็ต้องเป็น จตฺตาโร ปจฺจยา หรือ จตฺตาโรปฺ - ปจฺจยา เท่านั้น เหมือน ปญฺจกฺขนฺธา เป็นปกติสนธิ ซ้อน ก สังโยค ถ้าเป็นสมาสต้องเป็นทิคุสมาส ว่า จตฺตาโร ปจฺจยา = จตุปฺปจฺจยํ เป็นสมาหารทิคุสมาส ต้องเป็นเอกวจนะ นปุงสกลิงค์อย่างเดียว คือเป็น จตุปฺปจฺจยํ เท่านั้น เหมือน จตุสจฺจํ จตุทฺทิสํ ติโลกํ ทสพลํ จะสำเร็จรูปเป็นจตุปฺปจฺจยานิไม่ได้ แต่ที่มาเป็น จตุปจฺจยานิ อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะติดปากคำว่า อิมานิ พวกที่แต่งคำถวายทานไม่ได้คำนึงถึงหลักไวยากรณ์ใดๆ ก็เลยลากเอา จตุปจฺจย ไปลงนิ ด้วย เมื่อขาดผู้ตรวจทาน พวกมหาเปรียญก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่ดูแลรักษาบาลี ไม่แก้ไข ไม่วินิจฉัย กำกับ ทักท้วง ตำราศาสนพิธีก็เลยเป็นอย่างนี้ ดังนั้น คำว่าจตุปัจจัยจึงไม่เหมาะที่จะเอามาเรียกสิ่งของถวายพระ แต่ถ้าจะเอาให้ได้ ก็เพิ่มคำว่วัตถูนิ คือใช้ จตุปจฺจยวตฺถูนิ อย่าใช้ให้ผิดสมาส ผิดลิงค์ จะปลอดภัยที่สุด คำเรียกอาหารและน้ำถวายพระพุทธ ที่ใช้กันมาว่า อิมํ สูปพยญฺชน-สมฺปนฺนํ โภชนํ สาลีนํ คำว่า สาลีนํ ก็ไม่ควรใช้ เพราะบ้านเราไม่มีข้าวสาลี มีแต่ข้าวเจ้า คำว่า อุทกํ วรํ ก็ไม่ควรใช้ เพราะ คำว่า อุทกํ หมายถึงน้ำในสระในบึง ไม่ใช่น้ำดื่ม ถ้าเป็นน้ำดื่ม ต้องกรองก่อน ควรใช้คำว่าว่า ปานํ หรือ ปานียํ คำถวายอาหาร ควรใช้บาลีเดิมว่า ปณีตานิ ขาทนียานิ โภชนียานิ สปริวารานิ หรือ ปณีตํ ขาทนียํ โภชนียํ สปริวารํ ตามคำที่ใช้ในคัมภีร์พระธรรมบทว่า ปณีเตน ขาทนีเยน โภชนีเยน ปริวิสิ. และตามพระปาติโมกข์ โภชนวรรค วิกาลโภชนสิกขาบทที่ใช้คำว่า วิกาเล ขาทนียํ วา โภชนียํ วา จึงควรเอาคำว่า ขาทนียโภชนียํ เป็นคำเรียกอาหารถวายพระ จะตรงกับบาลีเดิมอย่างแท้จริง ส่วนคำว่า ภตฺตานิ สปริวารานิ ก็พอกล้อมแกล้มไปได้ แต่ไม่ค่อยถูกนัก เพราะ คำว่า ภัตตานิ แปลว่าข้าวสุกข้าวสวยอย่างเดียว ไม่ว่ารวมถึงแกง ขนม ผัก ผลไม้ กับข้าว อย่างอื่น ความหมายไม่ครอบคลุมครบทุกอย่าง สิ่งของที่โยมจัดถวายพระ บางอย่างเป็นของต้องห้ามเพราะผิดวินัยโยมต้องรู้ว่า มีสิ่งของอะไรบ้างที่ พระจำเป็นต้องใช้ อะไรบ้างที่พระใช้ไม่ได้ หรืออะไรบ้างไม่ควรถวายพระ ในงานทำบุญต่างๆ สิ่งของ ปัจจัย ไทยธรรม ของถวายพระที่จำเป็นสำหรับพระ เรียกว่าทานวัตถุ มี ๑๐ ประเภท คือ อนฺนํ ปานํ วตฺถํ ยานํ มาลา คนฺธ วิเลปนํ เสยฺยา วสถํ ปทีเปยฺยํ ทานวตฺถู อิเม ทส.
          ๑. อนฺนํ = ข้าว คือ ข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวสุก กับแกง ของหวาน ผลไม้ ถ้วย ชาม จาน ช้อน หม้อข้าว ทัพพี เครื่องครัว ตู้กับข้าว ตู้เก็บอาหาร โรงครัว และสิ่งของที่ใช้ในการทำอาหาร ทำครัว ทุกชนิด
          ๒. ปานํ = น้ำดื่ม คือ น้ำขวด ภาชนะใส่น้ำ แก้วน้ำ เหยือกน้ำ กระติก โอ่ง แท๊งค์น้ำ น้ำหวาน เครื่องดื่ม น้ำผลไม้กระป๋อง หรือแม้กระทั่งขุดสระน้ำ ซื้อเครื่องกรองน้ำ เครื่องสูบน้ำ ต่อน้ำประปาเข้าวัด ถวายค่าน้ำประปา และสิ่งของที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม หรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทุกชนิดที่พระดื่มฉันได้
          ๓. วตฺถํ = ผ้า คือ ผ้าไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ตู้ใส่ผ้า ราวตากผ้า เครื่องซักผ้า จักรเย็บผ้า เข็ม ด้าย ผงซักฟอก และสิ่งของที่ใช้ผลิตหรือเก็บรักษาผ้า
          ๔. ยานํ = ยานพาหนะ คือ ร่ม รองเท้า ไฟฉายส่องทาง เรือ รถยนต์ ตั๋วรถยนต์-รถไฟ-เครื่องบิน จัดรถรับส่ง ถวายความสะดวกในการเดินทาง และเครื่องใช้ในการเดินทางทุกชนิด
          ๕. มาลา = ดอกไม้ คือ พวงมาลัยดอกไม้ แจกัน พานพุ่ม โต๊ะบูชา ประดับตกแต่งให้สวยงามน่าเคารพบูชา
          ๖. คนฺธํ = ของหอม คือ ธูป กำยาน น้ำอบไทย (ไม่ใช่เครื่องสำอางค์) ใช้จุดในที่บูชา หรือประพรมให้ชื่นใจ
          ๗. วิเลปนํ = เครื่องลูบไล้ ที่ไม่ใช่เครื่องสำอางค์ คือ แป้งเย็น สบู่ ยาสีฟัน ดินสอพอง ทำให้สบายตัว
          ๘. เสยฺยา = เครื่องนอน คือ เสื่อ ผ้าปูนอน ผ้าปูนั่ง ผ้าเต๊นท์ ผ้าใบกันน้ำค้าง กลด หมอน มุ้ง เตียง ห้องนอน เบาะที่นอน
          ๙. อาวสถํ = ที่พักอาศัย คือ ศาลาริมทาง ที่นั่งใต้ร่มไม้ กุฏิ ศาลา อาคาร ที่อยู่อาศัย, หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง โอสถํ = ยา คือ การช่วยรักษาพยาบาล หายาสามัญมาถวายใส่ตู้ยาไว้ดูแลพระสงฆ์ป่วย สร้างโรงพยาบาลสงฆ์
          ๑๐. ปทีเปยฺยํ = เครื่องให้แสงสว่าง คือ ตะเกียง น้ำมัน เทียน ไฟฉาย เครื่องปั่นไฟ อุปกรณ์ หลอดไฟ สายไฟ ค่าไฟ ค่าซ่อมบำรุง ค่าแรงช่างไฟ สิ่งของเหล่านี้ ต้องเป็นของที่ผู้ถวายมีสิทธิเป็นเจ้าของ ได้มาอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เอาของที่ลักขโมยเขามา ยืมเขามาถวายพระ แล้วทำให้พระถูกจับข้อหาลักทรัพย์ รับของโจร หรือ ถวายเช็คไม่มีเงินในบัญชี ทำบุญหลอกให้พระรอเงินเก้อ สมภารต้องฟ้องหรือนั่งร้อง เพราะ สั่งของจากร้านค้ามาก่อสร้างแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ แบบนี้มีเป็นประจำ พวกเสี่ยเช็คเด้งถวายกฐิน ด้วยเช็ค นี้สมภารต้องระวังให้ดี ของทั้ง ๑๐ ประเภทเหล่านี้คือ วัตถุสิ่งของที่ควรจัดถวายพระสงฆ์ การถวายนิยมจัดให้ครบทั้ง ๑๐ ประเภท ประเภทไหนหามาไม่ได้ ก็ถวายเป็นปัจจัย (เงิน) แทน ไว้ให้ทางวัด ซื้อหาเอาเมื่อคราวจำเป็น จำนวนพระสงฆ์ผู้รับถวายสังฆทาน (ปฏิคาหก) โยมก็ควรนิมนต์จำนวนหลายๆ รูป แจ้งพระสงฆ์ว่า จะถวายเป็นสังฆทาน (ถวายบำรุงสงฆ์ทั้งวัด ไม่ใช่ถวายส่วนตัว) ฝ่ายพระสงฆ์ในวัดก็ต้องมาเจริญศรัทธาแก่โยม มารับประเคน อนุโมทนาให้พร และนำสิ่งของทั้งหมดไปไว้เป็นกองกลาง มอบไว้ให้เจ้าหน้าที่ของวัด ทำการแจกตามพระวินัย อย่างนี้จึงจะเป็นสังฆทาน ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง คำว่า ทายก เป็นชื่อของผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้ให้ทาน ผู้ทำทาน ถ้าเป็นผู้ชาย เรียกว่าทายก ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่า ทายิกา ก็หมายถึงชาวพุทธทุกคนที่ทำบุญถวายทานนั่นเอง เรียกว่าทายก แต่ที่เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ คำว่าทายกเขาหมายถึงคนที่ทำหน้าที่นำไหว้พระ นำอาราธนาศีล นำถวายทาน นำอาราธนาธรรม ซึ่งเป็นการเรียกผิดตัว ถ้าเรียกคนนำทำพิธีว่าทายก แล้วเจ้าของทานล่ะจะเรียกว่าอะไร คำนี้ต้องเรียกใหม่ให้ถูกต้อง คือ.- คนที่เป็นเจ้าของทาน ที่มาทำบุญทำทาน เรียกว่า ทายก ทายิกา คนที่นำทำพิธีไหว้พระ นำอาราธนาศีล นำถวายทาน นำอาราธนาธรรม นั้น อย่าไปเรียกว่าทายก ต้องเรียกว่า มรรคทายก หรือ มรรคนายก ถ้าเรียกว่า มรรคทายก แปลว่าผู้ให้ทาง (ให้วิธีปฏิบัติในการทำบุญทำกุศล) ถ้าเรียกว่า มรรคนายก แปลว่าผู้นำทาง (นำทางทำบุญทางกุศล) ถ้าเป็นผู้หญิง ก็ควรใช้ให้ถูกตามสภาวะว่า มรรคทายิกา มรรคนายิกา เนื่องจากชาวบ้าน ชาวพุทธทั่วไป ไม่ได้ศึกษาฝึกฝนเตรียมตัวไว้ ไม่อาจที่จะทำพิธีกรรมให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องอาศัยมรรคทายก มรรคนายก ช่วยนำ วัดทุกวัดจะต้องฝึกมรรคทายก มรรคนายก ไว้ประจำวัด ประจำหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยเหลือชาวบ้าน นำชาวบ้านทำบุญพิธีต่างๆ ให้ถูกต้อง เจ้าอาวาสจึงต้องฝึกหัดมรรคทายก มรรคนายก ประจำวัดไว้ เวลาใครๆ ไปทำบุญที่วัด หรือจัดงานทำบุญในบ้านก็ตาม บุคคลสำคัญที่ขาดไม่ได้ ก็คือมรรคทายก ผู้นำทำพิธีบุญกุศลต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ตำแหน่งมรรคทายก เป็นตำแหน่งที่มิได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายระเบียบใดๆ แต่เป็นตำแหน่งที่จำเป็น และสำคัญมาก ในฐานะเป็นผู้กำกับนำพาปฏิบัติพิธีการทำบุญกุศลให้ถูกหลักเกณฑ์ ถูกขนบธรรมเนียมประเพณี และหลักพระธรรมวินัยครรลองของพุทธศาสนา รักษาหลักพุทธศาสนาไว้ ไม่นำทำพิธีงมงายนอกหลักพุทธศาสนา นอกจากนั้นยังเป็นหน้าตาของวัด เป็นตัวแทนของวัดในการจะทำให้ผู้มาวัดทำบุญ หรือจูงคนนอกวัดให้เข้าวัด มาอุปถัมภ์บำรุงวัดมากขึ้น ตัวมรรคทายกมีส่วนช่วยได้อย่างมาก ถ้าทายกบริการดี คล่องแคล่ว เรียบร้อย อัธยาศัยดี มีมารยาทงาม พูดหวานขานเพราะ สามารถจูงใจศรัทธาได้ วัดก็พลอยได้รับคะแนนนิยม ทำให้เจ้าอาวาสสบายไปด้วย แต่ที่ปรากฏทั่วไปนั้น มรรคทายกยังขาดการฝึกหัด มีภูมิรู้ทางพิธีกรรมไม่เพียงพอ ไม่ถูกต้อง นำทำพิธีแปลกๆ แผลงๆ ขัดแย้งไม่ตรงกันน่ารำคาญ แต่ละวัด แต่ละคน มรรคทายกทำไปคนละแบบ ไม่รู้ว่าอันไหนถูกผิด ต่างคนต่าง ก็ว่าของตัวถูกต้อง ทั้งๆ ที่ทำไม่เหมือนกัน จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีรูปแบบ ระเบียบ เป็นบรรทัดฐานให้ฝึกหัด นำไปใช้ปฏิบัติให้ตรงกัน และต้องฝึกมารยาท อัธยาศัย คำพูด คำกล่าวต้อนรับ สร้างความประทับใจแก่ผู้รับบริการ ให้เหมาะสมด้วย เจ้าอาวาสมีหน้าที่ต้องให้บริการความสะดวกแก่ผู้บำเพ็ญกุศล แต่เจ้าอาวาสไม่อาจจะไปช่วยบริการความสะดวกด้วยตนเอง จำเป็นต้องส่งคนที่เป็นตัวแทนเจ้าอาวาสไปทำการแทน ซึ่งก็คือมรรคทายกนี่เอง ที่เจ้าอาวาสจะจัดส่งไปช่วยงานเจ้าภาพ เจ้าอาวาสจึงต้องแต่งตั้งมรรคทายกขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยอาศัยความตามมาตรา ๓๗ (๔) แห่งพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ โดยมีการสรรหา การฝึกอบรม การสอบความรู้ความสามารถ อุปนิสัย ปรับแก้พัฒนามรรคทายกให้มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่หน้าที่เป็นอย่างดีแล้วจึงแต่งตั้ง มีคำที่โฆษกพิธีกรพูดรำคาญหูเป็นประจำอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย ทำให้ผู้ฟังเกิดความสงสัยถกเถียงกันตลอดมา คนที่พูดว่า จุดเทียนธูปก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นพวกมหาเปรียญเรานี่เอง เขาอธิบายว่า ที่พูดอย่างนี้ มีเหตุผล ๒ ประการ คือ
          ๑. เวลาจุดเห็นเขาจุดเทียนก่อนธูป เพราะเทียนจุดง่าย ส่วนธูปจุดยาก จึงเอาธูปมาจ่อจุดต่อจากเทียน เลยเห็นว่าเป็นการจุดเทียนก่อนธูปจึงพูดว่า จุดเทียนธูป
          ๒. พอใช้คำพูดนี้แล้ว มีผู้ทักท้วงว่าผิดประเพณีที่เคยพูดมาว่า จุดธูปเทียน เจ้าโฆษกพิธีกรนั้นกลัวจะเสียเหลี่ยมเสียเชิงนักปราชญ์ ก็หาเหตุผลมายืนยันว่า พระธรรมเกิดก่อน พระพุทธ พระพุทธเคารพพระธรรม พระธรรมจึงสูงกว่าพระพุทธ การบูชาจึงต้องจุดเทียนบูชาพระธรรมก่อนจุดธูปบูชาพระพุทธ การพูดก็ต้องพูดให้ถูกตามลำดับว่า จุดเทียนธูป ฟังดูเขาอธิบายก็มีเหตุผล ผู้ถามเมื่อได้รับคำตอบก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับหลักการ และยอมจำนนต่อเหตุผล จะซักถามโต้แย้งอะไรก็พูดไม่ออก แต่ถึงอย่างไร คนฟังก็ยังไม่หายสงสัย ยังฟังแสลงหูอยู่ดี เมื่อเถียงไม่เป็น ต้องเปลี่ยนไปถามผู้รู้รายอื่นต่อไป สุดท้ายก็มาตกที่ผู้เขียนนี้ เรื่องนี้ผู้เขียนมีคำตอบพร้อมมานานแล้ว เคยตอบหลายครั้งแล้ว จึงตอบได้เลยว่า ต้องใช้คำว่า จุดธูปเทียน ไม่ให้ใช้คำว่า จุดเทียนธูป และเวลาปฏิบัติก็ให้จุดธูปก่อนเทียน ผู้เขียนได้จุดธูปก่อนเทียนให้ดูตลอดมา หลักการเหตุผลก็คือ ธูป ๓ ดอก บูชาพระพุทธคุณโดยย่อ ๓ ประการ คือ
          ธูปดอกที่ ๑ บูชาพระปัญญาคุณ
          ธูปดอกที่ ๒ บูชาพระวิสุทธิคุณ
          ธูปดอกที่ ๓ บูชาพระมหากรุณาธิคุณ
เทียน ๒ เล่ม บูชาพระธรรม ๒ ประเภท ๒ ระดับ คือ
          เทียนเล่มที่ ๑ บูชาพระวินัย
          เทียนเล่มที่ ๒ บูชาพระธรรม หรือ
          เทียนเล่มที่ ๑ บูชาโลกิยธรรม
          เทียนเล่มที่ ๒ บูชาโลกุตตรธรรม ดอกไม้หลากสี ใช้บูชาพระสงฆ์ โดยเปรียบเทียบว่า ผู้ที่บวชเป็นพระสงฆ์เป็นลูกชาวบ้านมาจากร้อยพ่อพันแม่แตกต่างกันทั้ง อายุ ฐานะ ชาติ ตระกูล การศึกษา อุปนิสัย สันดาน มารยาท แต่พอมาบวชถือพระธรรมวินัยเดียวกัน ปฏิบัติตรงกัน ย่อมสวยงามน่ากราบไหว้ เหมือนดอกไม้ที่จัดบนโต๊ะบูชา ที่นายช่างเก็บดอกไม้จากป่าสารพัดสี เอามาจัดใส่พานแจกันรวมกันตกแต่งเข้ารูปแล้วย่อมดูสวยงามน่าชม พระภิกษุสงฆ์ก็สวยงามน่าบูชาได้ เพราะถือธรรมวินัยระเบียบเป็นอันเดียวกัน ดอกไม้ที่ยกขึ้นบูชาไม่ต้องจุดไฟ จึงไม่มีการจุด คงวางไว้เฉยๆ เครื่องบูชาพระรัตนตรัย ที่เป็นอามิสบูชาจึงมี ๓ ชนิดดังกล่าวนี้ ในเมื่อพระรัตนตรัยเรียงลำดับจากพระพุทธก่อน พระธรรมพระสงฆ์ทีหลัง การบูชาพระรัตนตรัย ก็ต้องบูชาตามลำดับ จากพระพุทธไปหาพระธรรมและพระสงฆ์ คือจุดธูปบูชาพระพุทธก่อน (ธูปเขาชุบน้ำมันไว้จุดง่ายอยู่แล้ว) จากนั้นจึงจุดเทียนบูชาพระธรรม แล้วกราบลง ส่วนดอกไม้บูชาพระสงฆ์ เขาจัดเข้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องทำอะไร เพียงกล่าวคำถวายบูชา ว่า อิเมหิ นานาวัณณะคันธปุปเผหิ สังฆัง ปูเชมะ ก็พอ นี่คือจุดธูปเทียนบูชาตามลำดับพระรัตนตรัย อย่าไปยกพระธรรมเป็นอันดับแรกก่อนพระพุทธ จะทำให้ผิดลำดับพระรัตนตรัย แม้จะเถียงว่า พระธรรมเกิดก่อนพระพุทธ พระพุทธเคารพพระธรรม แต่พระธรรมเป็นหลักธรรมชาติที่ไม่มีใครค้นพบ (ตรัสรู้) มาก่อน ถึงแม้จะมีประจำโลกมานานเท่าไรก็เหมือนไม่มี ต่อเมื่อพระพุทธองค์มาทรงค้นพบ (ตรัสรู้) พระธรรม จึงปรากฏขึ้นในโลก ดังนั้น การเรียงลำดับพระรัตนตรัยจึงต้องเรียงพระพุทธขึ้นก่อน ตามด้วยพระธรรม แล้วจึงพระสงฆ์ การบูชา ต้องบูชาตามลำดับ อย่าไปแก้ให้เสียลำดับ คำพูดบูชา ก็ต้องว่า จุดธูปเทียน อย่าไปแก้เป็น จุดเทียนธูป จะกลายเป็นการแก้เปลี่ยนลำดับพระรัตนตรัยให้ผิดลำดับ สร้างความไขว้เขวลังเลสงสัยแก่ผู้ฟัง เกิดการเอาอย่างผิดๆ เป็นบาปหนักด้วยความเขลา แค่นี้ชาวบ้านก็งุนงงปั่นป่วน ถามกันสงสัยกัน ถกเถียงทะเลาะกัน เพราะ คำพูดแสลงหูนี้มากพอแล้ว ขอให้สังเกตข่าวสำนักพระราชวังก็ใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ไม่เคยได้ยินใช้ว่าทรงจุดเทียน ธูป คำนี้จึงยุติได้แล้วว่า จุดธูปเทียน เวลา จุดก็จุดธูปก่อนเทียนด้วย อย่าทะเลาะกันต่อไปอีกเลย

******************

-----------------------------
* รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา, รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดพายัพ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นามปากกา ศิษย์ตถาคต

(ที่มา: http://202.28.52.4/article/article_file/03dissertation47.html)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕