หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย อ.รังษี สุทนต์ » อริยสัจ ๔
 
เข้าชม : ๔๒๔๖๐ ครั้ง

''อริยสัจ ๔''
 
อ.รังษี สุทนต์ (2549)

ความรู้เรื่องอริยสัจ ๔

รังษี สุทนต์

ความนำ

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นจากการตรัสรู้ของบุคคลผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมา
อย่างยาวนานและเต็มเปี่ยม เป็นศาสนาที่มีคำสั่งสอนซึ่งองค์พระศาสดาทรงยืนยันว่า
“แม้ว่าพระองค์จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม หลักการที่ทรงนำมาสั่งสอนนั้น เป็นหลักการที่มีอยู่แล้ว พระองค์เพียงได้ตรัสรู้แล้วนำมาบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย”

อริยสัจคือธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงแสดง

หลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องอริยสัจมีมาก ทราบได้จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ที่พุทธทาสภิกขุกับคณะได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า อริยสัจจากพระโอษฐ์ เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก ๒ เล่ม คือ อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หนา ๘๑๖ หน้า อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย เรียงเลขหน้าต่อกัน หน้า ๘๑๗-๑๖๗๖ รวม ๘๕๙ หน้า ผู้ต้องการศึกษานอกจากที่นำเสนอพึงศึกษาได้จากหนังสือที่ระบุชื่อไว้ตอนท้าย ในที่นี้ขอนำเสนอเท่าที่เห็นว่าควรทราบในเบื้องต้น ขอแยกเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

๑. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คืออริยสัจ ๔ ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพราะเรารู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการนี้ตามความเป็นจริง ชาวโลกจึงเรียกตถาคตว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

๒. พระพุทธองค์ ทรงขยายความอริยสัจ ๔ ประการไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่ทรงแสดงแก่นักบวชปัญจวัคคีย์ว่า

ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์ ความไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนาเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ ความยึดมั่นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหาอันนำไปเกิดอีก เป็นความเพลิดเพลินและความกำหนัด ทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความที่ตัณหาดับไปอย่างไม่มีเหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสลัดทิ้ง ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

๓. ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มีมาก ดุจใบไม้ทั้งหมดที่มีอยู่ในป่า แต่ที่ทรงนำมาสอนเพียงกำมือเดียว ดังเรื่องที่พระองค์ทรงหยิบใบประดู่ลายขึ้นมาแล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายสรุปความได้ว่า “ธรรมที่พระองค์ทรงรู้มีมาก เหมือนใบประดู่ลายที่มีในป่าประดู่ลาย ซึ่งพระองค์ไม่ทรงนำมาสอน เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ส่วนธรรมที่ทรงนำมาสอนคือ เรื่องทุกข์ เรื่องทุกขสมุทัย เรื่องทุกขนิโรธ เรื่องทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ซึ่งมีประโยชน์ นำไปสู่ความพ้นทุกข์” หมายความว่า ธรรมที่ทรงนำมาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว

๔. พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่งจำไว้ว่า พระองค์ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงจำไว้อย่างนี้แลว่า ‘เราแสดงอริยสัจ ๔ ประการ”

๕. พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าอริยสัจ ๔ ที่ทรงแสดงใครคัดค้านไม่ได้ ดังที่พระองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า อริยสัจ ๔ ประการนี้ เป็นธรรมที่ใครๆ ข่มไม่ได้ เป็นธรรมที่ไม่มัวหมอง เป็นธรรมที่ไม่ถูกตำหนิ เป็นธรรมที่ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้ง
คัดค้าน

๖. พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า พระองค์ทรงสอนเฉพาะเรื่องอริยสัจ ๔ โดยทรงสรุปอริยสัจ ๔ เหลือ ๒ ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทั้งในกาลก่อนทั้งในบัดนี้ เราบัญญัติ(สอน)เฉพาะเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ ที่พระองค์ตรัสว่า ทั้งในกาลก่อนและในบัดนี้และที่ทรงย่ออริยสัจเหลือ ๒ ประการนี้ อรรถกถาอธิบายว่า คำว่าในกาลก่อน หมายถึงครั้งก่อนที่บริเวณมหาโพธิมณฑล คำว่า ในบัดนี้ คือในบัดนี้ที่แสดงธรรมเทศนานี้ ที่ว่าทรงบัญญัติสอนเฉพาะทุกข์และความดับทุกข์ คือทรงบัญญัติสอนอริยสัจ ๔ นั่นเอง ในที่นี้ทุกขสมุทัยพระพุทธองค์ทรงถือเอาด้วยทุกขศัพท์ มรรคที่ให้ถึงนิโรธนั้นพระองค์ทรงถือเอาด้วยนิโรธศัพท์ ขอเสริมว่า หมายความว่า เมื่อกล่าวถึงทุกข์อันเป็นตัวผล ก็เป็นอันกล่าวถึงสมุทัยอันเป็นตัวเหตุ เมื่อกล่าวถึงนิโรธ อันเป็นตัวผล ก็เป็นกล่าวถึงมรรคอันเป็นตัวเหตุด้วย เพราะผลย่อมมีมาจากเหตุ

๗. พระผู้มีพระภาคที่ทรงพระนามว่า พุทโธ หรือ สัมมาสัมพุทโธ เพราะตรัสรู้อริยสัจทั้งหลาย และสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้อริยสัจทั้งหลาย ดังที่พระสารีบุตรอธิบายคำว่า พุทฺโธ ไว้ดังนี้ ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงนำพาหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้ คำว่า สัจจะ ในที่นี้ หมายถึงอริยสัจ ๔ ดังที่อรรถกถาอธิบายไว้ว่า สัจจศัพท์ ปรากฏใช้ในอรรถหลายอย่าง … เช่นใช้ในความหมายว่าอริยสัจ ดังข้อความ “บรรดาอริยสัจ ๔ อริยสัจเท่าไรเป็นกุศล” สัจจศัพท์แม้ในที่นี้ ก็ใช้ในความหมายว่าอริยสัจ

๘. พระพุทธองค์ทรงเป็นอริยะในโลก ก็เพราะอริยสัจ ๔ ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการนี้ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ตถาคตเป็นอริยะในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจ
”

๙. ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอนอริยสัจ คือ ความจริงที่ประเสริฐเพียง ๔ ข้อนี้ ไม่มากไม่น้อย ไม่มีสิ่งที่เกินซึ่งจะต้องนำออกหรือมีสิ่งที่ขาดซึ่งจะต้องเพิ่มเข้า ดังที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า “หากมีผู้ถามว่า เพราะเหตุไร พระพุทธเจ้าจึงตรัสอริยสัจไว้ ๔ เท่านั้น ไม่น้อยไม่มากไปหรือ ตอบว่า ที่ตรัสอริยสัจไว้ ๔ เพราะไม่มีอริยสัจข้ออื่นและเพราะจะลดอริยสัจข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้ เป็นความจริง ไม่มีอริยสัจข้ออื่นที่เกินจากอริยสัจ ๔ ประการนี้ และไม่มีอริยสัจแม้สักข้อ ๑ ที่จะต้องนำออกจากอริยสัจ ๔ ประการนี้ ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสว่า เป็นไปไม่ได้ที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงมากล่าวว่า ‘นี้ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ ทุกขอริยสัจเป็นอย่างอื่น เราจะยกเลิกทุกขอริยสัจที่สมณโคดมแสดงไว้แล้วบัญญัตติทุกขอริยสัจอื่น’ ดังนี้เป็นต้น”

พระสารีบุตรฟังหัวใจอริยสัจได้บรรลุธรรม

อุปติสสปริพาชก ได้พบพระอัสสชิเถระ ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟังโดยย่อ
พระอัสสชิเถระ ได้แสดงหัวใจอริยสัจเป็นคาถาว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาห

เตสญฺจ โย นิโรโธ เอวํวาที มหาสมโณ

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้

อรรถกถาอธิบายว่า ธรรมที่เกิดแต่เหตุ คือ ขันธ์ ๕ พระอัสสชิเถระแสดงทุกขสัจแก่
อุปติสสปริพาชกด้วยคำนี้ เหตุแห่งธรรมเหล่านั้น คือสมุทัยสัจ พระอัสสชิเถระแสดงว่า
พระตถาคตทรงแสดงสมุทัยสัจนั้น ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น คือ ความดับอย่างไม่กลับมีแห่งทุกข์และสมุทัยเหล่านั้น พระตถาคตทรงแสดงความดับนั้นด้วย พระอัสสชิเถระแสดงนิโรธสัจแก่อุปติสสปริพาชกด้วยคำนั้น ก็ในคาถานี้ แม้ว่าพระอัสสชิเถระจะไม่ได้แสดงมรรคสัจไว้โดยรวม แต่ก็ได้แสดงไว้โดยนัย เพราะเมื่อท่านกล่าวถึงนิโรธ มรรคที่นำให้ถึงนิโรธนั้น ก็เป็นอันกล่าวด้วย

ความหมายเฉพาะศัพท์

อริยสัจ มีความหมายเฉพาะคำ ซึ่งท่านแสดงไว้หลายนัย พระสารีบุตรชาวศรัลังกาผู้แต่งคัมภีร์สารัตถทีปนี วินัยฎีกา ได้อธิบายไว้ว่า ที่เรียกว่า อริยสัจ ก็เพราะพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมแทงตลอดสัจจะนั้น เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสัจจะที่พระอริยะพึงแทงตลอด เพราะลบบทท้ายที่มีในบทต่อมา สัจจะของพระตถาคตผู้เป็นอริยะ ชื่อว่าอริยสัจบ้าง อริยสัจนั้น ย่อมมีแก่พระตถาคตนั้น เพราะพระองค์ทรงบรรลุและทรงประกาศด้วยพระองค์เอง และเพราะมีผู้อื่นบรรลุต่อจากนั้น อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะที่ทำความประเสริฐให้สำเร็จ โดยความสำเร็จเป็นพระอริยะ เพราะพระตถาคตนั้นตรัสรู้ ลบบทท้ายเหมือนก่อน หรือชื่อว่าอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะที่ประเสริฐ(จริงแท้) เพราะพึงเข้าใกล้ชิด พึงบรรลุโดยไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น เมื่อพิจารณาตามคำอธิบายนี้ ความหมายอริยสัจ สรุปได้ ๕ ความหมาย คือ

๑. อริยสัจ : สัจจะซึ่งพระอริยะแทงตลอด(ตรัสรู้)

๒. อริยสัจ : สัจจะที่พระอริยะพึงแทงตลอด(ตรัสรู้)

๓. อริยสัจ : สัจจะของพระตถาคตผู้เป็นอริยะ

๔. อริยสัจ : สัจจะที่ทำให้เป็นอริยะ

๕. อริยสัจ : สัจจะอันเป็นอริยะ(ความจริงอันประเสริฐ)

สรุป

หลักธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ นี้ ถือว่าเป็นหลักการที่ครอบจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างสรุปลงในอริยสัจได้ทั้งหมด สิ่งที่พึงกำหนดรู้จัดลงในทุกข์ คือสิ่งที่พึงกำหนดรู้(ปริญเญยยะ) สิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่ชั่วร้าย เป็นสิ่งที่พึงละเว้น จัดลงในสมุทัย คือสิ่งที่พึงกำหนดละ(ปหาตัพพะ) สิ่งที่พึงทำให้สำเร็จ จัดลงในนิโรธ คือสิ่งที่พึงทำให้แจ้ง(สัจฉิกาตัพพะ) สิ่งที่เป็นวิธีการที่จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมาย จัดลงในมรรค คือสิ่งที่พึงทำให้มีขึ้น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ตัวปัญหานั้นต้องกำหนดรู้ จัดเป็นตัวทุกข์ สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเป็นสิ่งที่พึงละเว้น(ก่อนที่จะเกิดปัญหาในคราวต่อไป) จัดเป็นสมุทัย การแก้ปัญหาได้ จัดเป็นนิโรธ ซึ่งต้องทำให้สำเร็จ วิธีแก้ปัญหา จัดเป็นมรรค เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาหาทางทำให้มีขึ้น

มีผู้เล่าว่า ขับรถแล้วพบป้ายเขียนไว้ให้ขับรถแบบอริยสัจ ๔ มีอาจารย์มหาจุฬาฯ ท่านหนึ่งบอกว่า พวกนี้เอาอริยสัจ ๔ ไปทำเสียหลักการพระพุทธศาสนา ดึงฟ้าลงต่ำ ผู้เขียนเอง
ก็ยังไม่เข้าใจว่า จะทำให้เสียหายอย่างไร ถ้าขับรถแบบอริยสัจ ๔ ได้ ก็ถือว่า ประยุกต์พุทธศาสตร์ไปใช้ในสังคมศาสตร์ได้สำเร็จ ในปัจจุบัน ธรรมะในพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะเป็นหมันเนื่องด้วยไม่มีใครนำไปใช้ปฏิบัติ ด้วยเข้าใจว่า เป็นของสูงที่ต้องใช้ปฏิบัติเพื่อไปนิพพานเท่านั้น

ในการขับรถแบบอริยสัจ ๔ นี้ ถ้ากำหนดทำความเข้าใจอริยสัจ ๔ ก็จะพบว่า ทุกข์นั้นต้องกำหนดรู้ เวลาขับรถผู้ขับก็ต้องกำหนดรู้ตลอดเวลาว่า ตนกำลังขับรถ ในการขับรถมีอะไรบ้างที่ต้องละเว้น ก็มีต้องละเว้นการขับเร็วเกินไป ละการขับผิดกฎจราจร ละการไม่ต่อทะเบียนรถ ละการขับฝ่าไฟแดง ก็ถือว่าสิ่งที่ต้องละเหล่านี้เป็นสมุทัย คือตัวเหตุที่จะทำให้การขับรถไปไม่สำเร็จความประสงค์ การขับรถไปก็ต้องมีจุดหมายปลายทางที่จะไปถึง ถือเป็นความสำเร็จ ก็เป็นตัวนิโรธ คือความสำเร็จ เวลาขับไปก็ต้องมีความรู้ในเส้นทางที่จะไปว่าจะไปทางไหน มีทางลัดทางไหนบ้าง จะต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางไหนบ้าง ก็เป็นมรรค คือวิธีการ อย่างนี้ก็จัดเป็นการขับรถแบบอริยสัจ ๔ ได้

หนังสือที่ว่าด้วยอริยสัจ ๔

๑. สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัจจสังยุต เล่ม ๑๙ ภาษาบาลี ข้อ ๑๐๗๑-๑๒๐๑ หน้า ๓๖๑-๔๑๔ ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐ ภาษาไทย ข้อ ๑๐๗๑-๑๒๐๑ หน้า ๕๘๓-๖๕๗ ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙.

๒. ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๓๑ ภาษาบาลี ข้อ ๘-๑๖ หน้า ๓๑๗-๓๒๗ และข้อ ๓๙-๔๐ หน้า ๓๗๒-๓๗๖ ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐ ภาษาไทย ข้อ ๘-๑๖ หน้า ๔๒๗–๔๔๒ และข้อ ๓๙-๔๐ หน้า ๕๐๑–๕๐๖ ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙.

๓. อภิธรรมปิฎก วิภังค์ สัจจวิภังค์ เล่ม ๓๕ ภาษาบาลี ข้อ ๑๘๙–๒๑๘ หน้า ๑๑๗-๑๔๔ ภาษาไทย ข้อ ๑๘๙–๒๑๘ หน้า ๑๖๓–๑๙๖.

๔. อภิธรรมปิฎก ยมก สัจจยมก เล่ม ๓๘ ภาษาบาลี ข้อ ๑–๑๗๐ หน้า ๒๑๔-๒๗๘ ภาษาไทย ข้อ ๑–๑๗๐ หน้า ๓๕๒–๔๔๕.

๕. วิสุทธิมรรคปกรณ์ ภาค ๒ โรงพิมพ์วิญญาณ ๒๕๓๙ ภาษาบาลี หน้า ๑๓๙-๑๖๕, ฉบับแปล งาน ๑๐๐ ปีสมเด็จพุฒาจารย์ ข้อ ๕๒๙-๕๖๙ หน้า ๘๐๑-๘๓๗.

๖. อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น ชุดธรรมโฆษณ์ โดยพุทธทาสภิกขุ มูลนิธิธรรมทาน ไชยา จัดพิมพ์ ๒๕๒๗.

๗. อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย ชุดธรรมโฆษณ์ โดยพุทธทาสภิกขุ มูลนิธิธรรมทาน ไชยา จัดพิมพ์ ๒๕๒๗.

๘. พุทธธรรม โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ ๖ โรงพิมพ์มหาจุฬา
ลงกรณราชวิทยาลัย หน้า ๘๙๓-๙๒๐.

๙. พุทธธรรม (ฉบับเดิม) โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ สำนักพิมพ์ธรรมสภา ๒๕๔๕ หน้า ๑๗๗–๑๘๗.

๑๐. หนังสือ “การจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔”
โรงพิมพ์คุรุสภา ๒๕๔๕ ดูรายละเอียดในหน้า ๑๑๖-๓๕๕ คณะผู้จัดทำได้นำหลักอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไปจัดกลุ่มธรรมสำหรับให้ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายศึกษา โดยจัดกลุ่มธรรมที่พึงกำหนดรู้ไว้ในทุกข์ จัดกลุ่มธรรมที่พึงกำหนดละไว้ในสมุทัย จัดกลุ่มธรรมที่พึงบรรลุไว้ในนิโรธ จัดกลุ่มธรรมที่พึงเจริญ คือทำให้มีขึ้นมาไว้ในมรรค

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕