หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » โดย พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ดร. อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย (2541-2548) » กำเนิดและพัฒนาการแห่งพระพุทธรูป
 
เข้าชม : ๔๕๑๗๔ ครั้ง

''กำเนิดและพัฒนาการแห่งพระพุทธรูป''
 
พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ,ผศ.ดร. (2546)

พระพุทธนิรมิต

พระพุทธเจ้าสมัยที่ทรงพระชนม์อยู่ เวลาที่ทรงปฏิบัติกิจสำคัญจะทรงเนรมิตพระพุทธนิรมิตขึ้นเป็นผู้ร่วมกระทำกิจนั้น ๆ เช่น เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ได้มีพระพุทธนิรมิตแสดงอิริยาบถต่าง ๆ ร่วมด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

ท่อไฟพุ่งออกจากพระโลมา(ขน)เส้นหนึ่ง ๆ สายน้ำไหลออกจากขุม พระโลมาขุมหนึ่ง ๆ รัศมี ๖ สี คือ เขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท ปภัสสร เปล่งออก พระผู้มีพระภาคทรงจงกรม พระพุทธนิรมิตย่อมยืน หรือนั่งหรือนอน พระผู้มีพระภาคประทับยืน พระพุทธนิรมิตย่อม จงกรม นั่ง หรือนอน

ในพรรษาที่ ๗ เมื่อเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดาซึ่งประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงแสดงพระอภิธรรมติดต่อกัน ๓ เดือน กล่าวคือ เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องไปทำกิจอื่นชั่วคราว เพื่อไม่ให้การแสดงธรรมขาดตอน พระพุทธเจ้าจะทรงเนรมิตพระพุทธนิรมิตขึ้นมาทำหน้าที่แสดงธรรมแทน เมื่อทรงทำกิจอื่นเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเสด็จกลับมาแสดงธรรมต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดงไว้

ในคราวแสดงยมกปาฏิหาริย์ เพื่อปราบพวกเจ้าลัทธิต่าง ๆ ทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการแสดงยมกปาฏิหาริย์ และในคราวที่แสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา ทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าขึ้นมาทำหน้าที่แสดงธรรมในเวลาเสด็จไปทำกิจที่อื่น มีรายละเอียดดังกล่าวมานั้น ทำให้สรุปได้ในที่นี้ว่า ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ มีพระพุทธรูปที่เป็นพระพุทธนิรมิต แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีพระพุทธรูปที่ช่างทำขึ้นจากวัตถุ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ไม่มีพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากวัตถุในครั้งพุทธกาล เพราะไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนั้น เมื่อประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พุทธบริษัทย่อมมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทียังทรงพระชนม์อยู่ หรือแม้จะอยู่ในถิ่นไกลจากพระพุทธองค์ เมื่อระลึกถึงรู้ว่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมเกิดทัสสนานุตตริยะขึ้นโดยอัตโนมัติ

พระพุทธนิรมิตก็คือพระพุทธรูปนั่นเอง แต่เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สร้างขึ้นจากวัตถุ เช่น ศิลา โลหะ ทองแดง หรือทองคำ พระพุทธองค์ทรงสร้างพระพุทธนิรมิตขึ้นมาในโอกาสพิเศษ เพื่อทำหน้าที่แทนพระพุทธองค์ในบางเรื่อง

พระพุทธฉาย

พระพุทธฉายเป็นรูปเปรียบอีกแบบหนึ่งของพระพุทธเจ้า ในการบำเพ็ญพุทธกิจโปรดสัตว์โลก ในเวลาที่พระพุทธองค์ประสงค์ที่จะแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท แต่ไม่ประสงค์จะเสด็จไปแสดงด้วยพระองค์เอง หรือทรงมีเหตุผลบางประการที่ทำให้ไม่เสด็จไปแสดงด้วยพระองค์เอง พระพุทธเจ้าจะทรงเปล่งพระรัศมี แสดงพระองค์ประหนึ่งว่าประทับอยู่ตรงหน้าผู้นั้น ๆ แล้วทรงแสดงธรรมโปรด รูปที่ไปปรากฏต่อหน้าผู้นั้น ๆ ก็คือภาพฉายของพระพุทธองค์ ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีตัวอย่าง ๑

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี สตรีกลุ่มหนึ่งเป็นเพื่อนของนางวิสาขา มาที่โรงธรรม ดื่มเหล้าเมา ถูกมารดลใจ แสดงอาการไม่เหมาะสมต่อพระพักตร์ พระพุทธเจ้าจึงแสดงปาฏิหาริย์เปล่งพระรัศมี ฉายพระองค์ แสดงธรรมแก่สตรีเหล่านั้น ดังข้อความตอนหนึ่ง

พระพุทธเจ้าทรงหายไปจากบัลลังก์ที่ประทับนั่ง ประทับอยู่บนยอด เขาสิเนรุ(เขาพระสุเมรุ) ทรงเปล่งพระรัศมีจากพระอุณณาโลม(ขนระหว่างคิ้ว) ขณะนั้น มีแสดงสว่างเจิดจ้าเหมือนพระจันทร์พันดวงสาดแสง พระพุทธองค์ตรัสแก่สตรีเหล่านั้นว่า เมื่อโลกสันนิวาสร้อนรุ่มอยู่เป็นนิตย์ จะมัวร่าเริงบันเทิงอะไรกันอยู่หนอ พวกเธอถูกความไม่รู้(อวิชชา)ปกคลุม เพราะเหตุไรจึงไม่แสวงหาความรู้(วิชชา) เล่า

กรณีตัวอย่าง ๒

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี ภิกษุ ๕๐๐ ปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในป่า เข้าใจผิดคิดว่า "ตัวเองเป็นพระอรหันต์แล้ว" จะมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระพุทธองค์จึงรับสั่งพระอานนท์ให้ไปบอกภิกษุเหล่านั้นกลับไปปฏิบัติกรรมฐานในป่าช้าขณะปฏิบัติกรรมฐานอยู่ เห็นซากศพที่ยังสด เกิดความกำหนัดขึ้น จึงรู้ว่าตัวเองยังไม่หมดกิเลส ขณะนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงฉายพระรัศมีไปที่ภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นเอง ทรงฉายพระรัศมีไปดุจ ตรัสอยู่เฉพาะหน้าของภิกษุเหล่านั้น ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอเห็นร่างกระดูกเช่นนั้น เกิดความยินดีด้วยอำนาจราคะ ควรละหรือ

กรณีตัวอย่าง ๓

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี ตรัสเรียกพระโปฐิละซึ่งทรงพระไตรปิฎกแต่ยังเป็นปุถุชนว่า "คุณใบลานเปล่า" ทำให้เธอความสังเวชจึงออกไปปฏิบัติกรรมฐาน พระเถระกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันต์ ประสงค์จะกำจัดทิฏฐิมานะของเธอ จึงส่งเธอให้ไปปฏิบัติกรรมฐานกับสามเณรขณะพระโปฐิละปฏิบัติกรรมฐานอยู่นั้นพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงเปล่งพระรัศมีไปแสดงธรรมแก่เธอดังข้อความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า

พระศาสดาประทับนั่งในที่สุดประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ทอดพระเนตรเห็นพระโปฐิละนั้น ตรัสพระคาถานี้ว่า ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบ ย่อมสิ้นไปเพราะไม่ประกอบ บัณฑิตรู้ทาง ๒ แพร่ง คือทางเจริญและทางเสื่อม พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น

กรณีตัวอย่าง ๔

สมัยหนึ่ง โจร ๕๐๐ คนบวชโดยมีพระโสณกุฏิกัณณะเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชแล้วได้ไปปฏิบัติกรรมฐานที่ภูเขาลูกหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี ไกลจากที่ภิกษุ ๕๐๐ รูปปฏิบัติกรรมฐานประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น ทรงเปล่งพระรัศมีไปหาแสดงธรรมแก่พวกเธอ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

พระศาสดาทรงเปล่งพระรัศมีไป ประหนึ่งว่าประทับนั่งตรัสอยู่ในที่ เฉพาะหน้า ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า ภิกษุใดอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระพุทธ-ศาสนา ภิกษุนั้นพึงบรรลุทางสงบ เป็นที่สงบระงับความคิดปรุงแต่งเป็นสุข

เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธฉายที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนานี้ ทำให้พุทธบริษัทในประเทศศรีลังกาพระพุทธเจ้าทรงฉายภาพของพระองค์ไปที่ศรีลังกา พุทธบริษัทในประเทศไทยก็มีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงฉายภาพของพระองค์มาที่ประเทศไทย เช่น ที่วัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี

พระแก่นจันทน์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ใน "ตำนานพุทธเจดีย์" อ้างถึงหนังสือเรื่องตำนานพระแก่นจันทน์ว่า

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระพุทธมารดาค้าง อยู่ในดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าปเสนชิต (ปเสนทิ) กรุงโกศลราฐมิได้เห็นพระพุทธองค์ช้านาน มีความรำลึกถึง จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทน์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ พระแก่นจันทน์ลุกขึ้นทำปฏิสันถารพระพุทธองค์ด้วยปาฏิหาริย์ แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้พระแก่น จันทน์กลับไปยังที่ประทับ เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูป ซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า "พระพุทธรูปแก่นจันทน์นั่นแหละ เป็นต้นแบบของพระพุทธรูปซึ่งสร้างต่อมาภายหลัง และคติการสร้างพระพุทธรูปมีขึ้นโดยพระพุทธานุญาต" อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานนี้ยังไม่มีข้อยุติ

ต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูป

: มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐

"การสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นเพราะวัฒนธรรมของพวกกรีก" ข้อนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และทำให้มีข้อสันนิษฐานต่อไปอีกว่า แบบหรือพิมพ์(Model)สำหรับสร้างเทวรูปของกรีกเป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูป แต่ต้องไม่ลืมว่า พระพุทธรูปเกิดขึ้นจากความต้องการของพุทธศาสนิกชน ช่างที่สร้างพระพุทธรูปจะเป็นชนชาติใดก็ตาม แต่คนที่กราบไหว้บูชาย่อมเป็นชาวพุทธแน่นอน เพราะฉะนั้น เมื่อจะให้ช่างทำพระพุทธรูป ย่อมต้องบอกลักษณะที่ตัวเองประสงค์จะให้เป็น "ลักษณะของพระพุทธรูปต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ส่วนนี้ยาว ส่วนนี้สั้น ส่วนนี่กลม ..." การบอกลักษณะของพระพุทธรูปที่ตัวเองประสงค์จะให้เป็นนั้น ย่อมต้องอาศัยตำราเทียบเคียง กล่าวคือข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางด้านพระรูปกายของพระพุทธเจ้า

คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงลักษณะทางด้านพระรูปกายของพระพุทธเจ้า ลักษณะนี้เรียกว่า "มหาบุรุษลักษณะ" มี ๓๒ ประการ ดังนี้

(๑) มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

(๒) ลายพื้นพระบาทเป็นจักร

(๓) มีส้นพระบาทยาว

(๔) มีนิ้วยาวเรียว

(๕) ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม

(๖) ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย

(๗) มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ ข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน

(๘) พระชงฆ์(แข้ง)เรียวดุจแข้งเนื้อทราย

(๙) เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ

(๑๐) มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก

(๑๑) มีฉวีวรรณดุจสีทอง

(๑๒) พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย

(๑๓) มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้น ๆ

(๑๔) เส้นพระโลมาดำสนิทเวียนเป็นทักษิณาวัฏ(เวียนขวา)

(๑๕) พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม

(๑๖) มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง คือ พระบาททั้ง ๒, หลังพระบาททั้ง ๒,พระอังสาทั้ง ๒, ลำพระศอ ๑

(๑๗) มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์

(๑๘) พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน

(๑๙) ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร

(๒๐) ลำพระศอกลมงามเสมอตลอด

(๒๑) มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี

(๒๒) มีพระหนุดุจคางราชสีห์

(๒๓) มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)

(๒๔) พระทนต์เรียบเสมอกัน

(๒๕) พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง

(๒๖) เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์

(๒๗) พระชิวหาอ่อนและยาว

(๒๘) พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม

(๒๙) พระเนตรดำสนิท

(๓๐) ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

(๓๑) มีอุณาโลมระหว่างพระขนงเวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ

(๓๒) มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

นอกจากมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการแล้ว ยังมีลักษณะย่อยทางด้านพระรูปกายเรียกว่า "อนุพยัญชนะ ๘๐" ซึ่งละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก เช่น มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเหลืองงาม พระนขา(เล็บ)ทั้ง ๒๐ มีสีแดง งอนงามช้อนขึ้น ดวงพระพักตร์(หน้า)มีสัณฐานยาวสาวย ลายพระหัตถ์มีรอยลึก รอยตรงยาว ไม่ค้อมคด เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ หรืออนุพยัญชนะ ๘๐ ถือเป็นต้นแบบที่ช่างถือเป็นแบบในการสร้างพระพุทธรูปทั้งสิ้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ว่า

ลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่ช่างโยนก(กรีก) คิดทำขึ้นในคันธารราฐ สังเกตเห็นได้ว่าอนุโลมตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณะหลายข้อ เป็นต้นคือข้อว่า อุณฺณา โลมา ภมุกนฺตเร ทำพระอุณาโลมไว้ที่หว่างพระขนงอย่าง ๑ บางที่จะเอาความในบท อุณฺณหิสฺโส อันแปลว่า พระเศียรเหมือนทรงอุณหิส (เครื่องทรงที่พระเศียร) มาคิดอนุโลมทำให้พระเศียรพระพุทธรูปมีพระเกตุมาลาอีกอย่าง ๑

การสร้างพระพุทธในสมัยคุปตะก็อาศัย "มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ" เป็นต้นแบบเช่นกัน ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพกล่าวไว้อีกตอนหนึ่งว่า**

ฝรั่งกับแขกนิยมความงดงามต่างกัน พวกชาวมัชฌิมประเทศจึงมาคิดแก้ลักษณะพระพุทธรูปให้ผิดกับแบบของพวกโยนก (กรีก) หลายอย่าง เป็นต้นว่า ดวงพระพักตร์ซึ่งทำเป็นอย่างหน้าเทวรูปฝรั่งนั้น ก็แก้ไขมาให้งามตามลักษณะชาวมัชฌิมประเทศ พระเกศาซึ่งช่างโยนกทำเช่นเส้นผมคนสามัญ ก็คิดแก้ไขทำให้เส้นพระเกศาวงเป็นทักษิณาวรรต ตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณะข้อว่า อุทฺธคฺคโลโม(มีพระเกศางอนขึ้น)

เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า อิทธิพลของกรีกลดลง พระพุทธรูปที่ทำขึ้นในสมัยหลังมีลักษณะแตกต่างจากเทวรูปของกรีกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะตามที่ช่างแต่ละยุคจินตนาการขึ้นด้วยตัวเองบ้าง จินตนาการขึ้นตามที่ผู้อื่นบอกบ้าง อย่างไรก็ตาม ลักษณะของพระพุทธรูปในยุคหลัง จะมีลักษณะซึ่งแสดงอิทธิพล ๒ อย่างปรากฏอยู่ในองค์พระคือ

(๑) มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

(๒) สภาพแวดล้อมของบ้านเมืองในขณะที่สร้างพระพุทธรูปนั้น เช่น บุคคลที่มีชื่อเสียง วีรบุรุษ หรือปูชนียบุคคล หรือแม้แต่ช่างผู้ทำพระพุทธรูปเอง

บุคคลที่มีชื่อเสียง วีรบุรุษ หรือปูชนียบุคคลเกิดขึ้นในยุคใด ย่อมจะเป็นภาพประทับใจของคนทั่วไปในยุคนั้น เวลาจะสิ่งต่าง ๆ เช่น ถนนหนทาง ตึก อาคารสถานที่ ย่อมประสงค์ที่จะนำชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง วีรบุรุษ หรือปูชนียบุคคลนั้น ๆ มาเป็นชื่อสถานที่ที่สร้างขึ้น ในการสร้างพระพุทธรูปก็เช่นกัน ช่างทำพระพุทธรูปในขณะที่คิดทำพระพุทธรูป ย่อมจะมีภาพประทับใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจก่อนแล้ว บางครั้งช่างเองก็ไม่รู้ตัวว่าได้นำเอาภาพประทับใจนั้นออกมาเป็นแบบในการสร้างพระพุทธรูป หรือบางครั้ง คนที่มีชื่อเสียงสั่งให้ช่างทำพระพุทธรูป ช่างประสงค์จะเอาใจคนที่ให้ว่าจ้าง หรือศรัทธาคนที่ว่าจ้างอยู่ก่อนแล้ว เมื่อทำพระพุทธรูปก็ทำละม้ายคล้ายคลึงกับคนที่ว่าจ้างตนนั่นแหละ

การสร้างพระพุทธรูปในอินเดีย

ในสมัยพุทธกาล มีการสร้างปูชนียสถานปูชนียวัตถุไว้เป็นที่บูชาสักการะบ้าง เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์บ้าง แต่ไม่มีการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระพุทธรูป อาจเป็นเพราะความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าไม่ควรสร้างรูปบุคคลไว้บูชา อาจเป็นเพราะไม่มีช่างผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจเป็นเพราะพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นาน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรูปแทนพระพุทธองค์

พุทธศาสนิกชนในยุคหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมื่อต้องการที่จะสร้างวัตถุเป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธเจ้า นิยมสร้างรูปต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ดังนี้

-สร้างรูปม้ามีฉัตรกางกั้น เป็นสัญลักษณ์แทนการเสด็จออกบวช

-สร้างรูปบัลลังก์และต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์แทนการตรัสรู้

-สร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบเป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงปฐมเทศนา

-สร้างรูปพระสถูป เป็นสัญลักษณ์แทนการปรินิพพาน

ประมาณ พ.ศ.๗๐๐ ชาวกรีกอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ ณ บริเวณคันธาระ ในตอนเหนือของอินเดีย ชาวกรีกนิยมสร้างรูปเทพเจ้าหรือบุคคลสำคัญไว้เป็นที่เคารพ เมื่อเข้ามาอยู่ในอินเดีย บางส่วนที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาก็สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเป็นที่บูชาสักการะ ทำให้เกิดความนิยมสร้างพระพุทธรูปในหมู่พุทธศาสนิก ชนทั่วไปในอินเดียยุคนั้น

ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์(ป่วน อินทุวงศ์) แสดงทรรศนะเชิงวิจารณ์เกี่ยวกับตำนานพระแก่นจันทน์ว่า ๑๐

เป็นเพียงความเชื่อของเราที่ว่าพระพุทธรูปเกิดมีขึ้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และเป็นพระบรมพุทธานุญาต แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะได้ตรวจสอบหลักฐานหมดแล้วทั่วอินเดีย ในครั้งพุทธกาลไม่เคยมีพระพุทธรูป แม้ล่วงมาประมาณ พ.ศ. ๓๕๐ ก็ไม่มีพระพุทธรูป จนถึงประมาณระหว่าง พ.ศ. ๓๖๕-๓๘๓ สมัยพระยามิลินท์ซึ่งเป็นชนชาติกรีกผสมอินเดีย ปกครองแคว้นคันธาระและปัญจาป พระองค์ได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสน เกิดความเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยยึดประเพณีการสร้าง ปูชนียวัตถุของชาวมัชฌิมประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ความจริง ในเรื่องการสร้างพระพุทธรูปนี้ เป็นความประสงค์ของพุทธบริษัทในอินเดียโดยตรงก่อนที่ชาวกรีก (โยนก) จะเข้ามาในอินเดีย แต่ที่ไม่ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก่อนหน้านั้น สันนิษฐานว่าเพราะสาเหตุหลายประการ ดังนี้

(๑) ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างพระพุทธรูป แต่มีการสร้างปูชนียวัตถุอย่างอื่นในทางพระพุทธศาสนา

(๒) หลังสมัยพุทธกาล คือเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แม้จะผ่านไป ๑๐๐ ปีหรือ ๒๐๐ ปี พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ มีความสามารถเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธายังมีอยู่มาก พุทธบริษัทมีความมั่นใจหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างพระพุทธรูป

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุ ๒ ประการนี้มีเหตุผลพอสมควร จะเห็นได้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานประมาณ ๓๐๐ ปี เริ่มมีการสร้างปูชนียวัตถุที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้ามากขึ้น เช่น พระแท่นวัชรอาสน์ ธรรมจักร พระนางสิริมหายานประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ ต่อมาเมื่อชาวกรีกนำประเพณีการสร้างเทวรูปเข้ามาในอินเดียพุทธบริษัทในอินเดียหรือแม้พุทธบริษัทที่เป็นชาวกรีก(พระยามิลินท์)ก็สร้างพระพุทธรูปตามประเพณีของกรีก

ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปในอินเดีย

๑. ศิลปะของสกุลช่างทางเหนือ

๑.๑ ศิลปะแบบคันธาระ

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้ว ส่งพระธรรมทูตออกไปประกาศพระพุทธศาสนา พระมัชฌันติกเถระได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่พระธรรมทูตที่แคว้นคันธาระและกาศมีระ (แคชเมียร์) นี่เอง

อาณาจักรคันธาระเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๖๐๐-๑๐๐๐ และประมาณพ.ศ. ๗๐๐ กรีกในสมัยพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชเข้ามาครอบครองอาณาจักรคันธาระ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เกิดคตินิยมสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นที่บูชาสักการะ พระพุทธเจ้าในยุคนี้มีลักษณะเหมือนเทพเจ้าของกรีก เช่น มีพระพักตร์(หน้า)เหมือนเทพเจ้า "อพอลโล" พระนาสิก(จมูก)โด่งเป็นสันมวนพระเมาลี(ผม)เหมือนก้นหอย พระเกสาหยักโศกคล้ายผมสตรี มีพระมัสสุ(หนวด) พระวรกายผึ่งผาย แต่ช่างโยนก(กรีก)ประสงค์จะให้คนรู้จักว่า "รูปที่สร้างนี้เป็นพระพุทธรูป ไม่ใช่เทวรูป" จึงถือเอาคติว่า "พระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์และเป็นสมณะ" จึงทำพระพุทธรูปให้ส่วนองค์พระครองจีวรคลุมไหล่ทั้ง ๒ หรือห่มเฉียง ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนพระเศียรกษัตริย์ ถ้าเป็นปางประทับนั่ง จะประทับบนฐานบัว นิยมทำปางขัดสมาธิเพชร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า๑๑

พวกช่างโยนก(กรีก)ทำตามคติของชาวโยนกทั้งนั้น เป็นต้นว่า ดวงพระพักตร์พระพุทธรูปก็ทำอย่างเทวรูปที่งามของชาวโยนก พระรัศมีก็ทำอย่างประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่ข้างหลังพระพุทธรูปตามแบบรัศมีของภาพโยนก ส่วนกิริยาท่าทางของพระพุทธรูปนั้น ... พระพุทธรูปตรงเรื่องเมื่อก่อนเวลาตรัสรู้ ทำนั่งซ้อนพระหัตถ์เป็นกิริยา(ปาง)สมาธิ พระพุทธรูปตรงเมื่อชนะพระยามาร ทำพระหัตถ์ขวามาห้อยที่ พระเพลาแสดงว่าทรงชี้อ้างพระธรณีเป็นพยาน พระพุทธรูปตรงเมื่อประทานปฐมเทศนาทำจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม หมายความว่าพระธรรมจักร

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเมืองบามิยัน(อาฟกานิสถาน) ก็เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบ คันธาระ เช่น๑๒ ประมาณ พ.ศ. ๘๐๐-๙๐๐ มีการสร้างพุทธรูป ๒ องค์โดยสกัดจากหน้าผา องค์หนึ่งสูง ๑๗๕ ฟุต อีกองค์หนึ่งสูง ๑๒๐ ฟุต

๑.๒ ศิลปะแบบมถุรา

ศิลปะแบบมถุราเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๗๕๐ เมืองมถุราอยู่บริเวณที่ลุ่มน้ำยมนา ตอนเหนือของอินเดีย มถุราเป็นเมืองขึ้นของแคว้นคันธาระ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างแคว้นคันธาระกับแคว้นอื่น ๆ ในอินเดีย

ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปในสมัยคันธาระ ทำให้เกิดประเพณีการสร้างพระพุทธรูปในยุคมถุรา ศิลปะแบบมถุรามีลักษณะแบบพื้นเมืองของอินเดีย ลักษณะพระเศียรกลม พระพักตร์อิ่ม พระโอษฐ์มีรอยยิ้ม พระเกศาเรียบไม่มีเส้น พระเมาลีทำเป็นขมวดก้นหอย พระพุทธรูปในยุคนี้จะมีความอ้วนสมบูรณ์ พระอุระ(อก)มีลักษณะคล้ายถันของสตรีเพศ ครองจีวรห่มคลุม จัดริ้วเป็นระเบียบ ประทับบนฐานสิงห์ มีรูปพระโพธิสัตว์และพระสาวกแวดล้อม แสดงถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนามหายาน๑๓

๑.๓ ศิลปะแบบคุปตะ

ยุคราชวงศ์คุปตะอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๘๐๐-๑๑๐๐ ถือเป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย มีศูนย์กลางการปกครองแยกย้ายไปอยู่หลายที่ เช่น ในเบื้องต้นตั้งอยู่เมืองเมืองปาตลีบุตร(ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ) แคว้นมคธ ต่อมาย้ายไปที่เมืองโกสัมพี พาราณสี อุชเชนีเจดี และสัญจีตามลำดับ๑๔ บ้านเมืองในยุคนี้เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน การเมืองมั่นคง เศรษฐกิจมั่นคง การศึกษารุ่งเรือง มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม

พระพุทธรูปศิลปะแบบคุปตะ นิยมสร้างเป็นรูปสลักขนาดใหญ่ แสดงภาพเต็มตัว พระพักตร์มีลักษณะกลมอิ่ม สีพระพักตร์สงบค่อนข้างขรึม พระโอษฐ์อิ่ม พระนาสิกไม่โด่งเหมือนพระพุทธรูปที่สร้างสมัยแรก ท่านผู้รู้กล่าวว่า "พระพุทธรูปที่สร้างโดยสกุลช่างในสมัยคุปตะนี่เอง เป็นต้นแบบของพระพุทธรูปที่สร้างในประเทศไทย" ดังข้อความตอนหนึ่งว่า๑๕

สกุลศิลปะของสมัยคุปตะ จากศูนย์กลางที่มหาวิทยาลัยนาลันทาแผ่ เข้าสู่สุวรรณภูมิ(ประเทศไทย) ระยะแรกก่อนสุโขทัย-เชียงแสน เมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๐๐-๑๓๐๐ เป็นศิลปะของพระพุทธศาสนามหายาน เช่น พระพุทธรูปสลักหินปูนสีเทาและสีเทาหม่นทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม

ศิลปะแบบคุปตะแผ่อิทธิพลไปทั่วอินเดียและดินแดนเพื่อนบ้านทั้งทางเหนือและใต้ เช่น ประเทศเนปาล ทิเบต ชวา และประเทศไทย

๑.๔ ศิลปะแบบปาละ-เสนะ

ศิลปะแบบแบบปาละ-เสนะรุ่งเรืองอยู่ในยุคราชวงศ์ปาละและราชวงศ์เสนะ ประมาณ พ.ศ.๑๔๐๐-๑๘๐๐ มีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณรัฐเบงกอลในปัจจุบัน

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยนี้มีลักษณะอ้วนเตี้ย พระเศียรใหญ่ พระพักตร์อูมในระยะต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนมหายานแบบตันตระรุ่งเรืองมากขึ้น ได้หันมานิยมสร้างรูปพระโพธิสัตว์ เช่น อวโลกิเตศวร แม้พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาก็เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง มีการแต่งแต้มจนเกินงาม ยิ่งในสมัยราชวงศ์เสนะ พระพุทธรูปจะมีรูปร่างหนอและผิดธรรมชาติ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรและสวมเครื่องประดับ๑๖

๒. ศิลปะของสกุลช่างทางใต้

๒.๑ ศิลปะแบบอานธระ-อมราวดี

ราชวงศ์อานธระ(หรือศาตวาหนะ)เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๓๒๓ ในเบื้องต้นขึ้นอยู่กับแคว้นมคธ ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๕๐๖ พระเจ้าศรีมุกประกาศเอกราชไม่ขึ้นกับแคว้นมคธ สถานปนาราชวงศ์อานธระ(ศาตวาหนะ)แผ่อำนาจครองดินแดนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียจนถึงประมาณ พ.ศ. ๗๗๘ ในเบื้องต้น เมืองหลวงชื่ออมราวดี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำกฤษณะตอนล่าง ต่อมาย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองประดิษฐาน ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโคธาวารีตอนบน ราชวงศ์อานธระแผ่อำนาจปกครองลงไปทางใต้ถึงเทือกเขาวินธยา(วินธัย) ทางเหนือถึงแม่น้ำนารมทา(นัมมทา)๑๗ ศิลปะแบบอานธระ-อมราวดีในยุคต้น ๆ ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ เป็นภาพสลักรูปเทพเจ้า แต่เป็นต้นแบบในการสร้างพระพุทธรูปแบบอมราวดีในยุคต่อมา

ราชวงศ์อานธระรุ่งเรืองที่สุดประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ ศิลปะแบบอานธระ-อมราวดีเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะท้องถิ่นกับศิลปะแบบอานธระ ศิลปะแบบมถุรา และศิลปะแบบ คันธาระ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคนี้มีพระพักตร์งดงามแต่ค่อนข้างยาว เส้นพระเกศาทำเป็นขมวดเล็ก ๆ เวียนขวาทั่วพระเศียร ครองจีวรเป็นริ้ว ถ้าเป็นพระพุทธรูปปางประทับนั่ง นิยมสร้างปางปฐมเทศนา๑๘

 

๒.๒ ศิลปะแบบปาลวะ

ก่อนที่จะถึงยุคศิลปะแบบปาลวะ ในอินเดียตอนใต้ มีศิลปะแบบจาลุกยะรุ่งเรืองอยู่ประมาณ พ.ศ.๑๑๐๐-๑๓๐๐ ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๕๐๐ จึงเกิดศิลปะแบบปาลวะ แต่ศิลปะ ๒ สกุลนี้เกี่ยวกับเนื่องศาสนาพราหมณ์ ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง

ศิลปะแบบปาลวะเกิดขึ้นในระยะใกล้เคียงกับศิลปะแบบคุปตะ แต่เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบอมราวดี พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคนี้มีส่วนอ่อนช้อย ประกอบด้วยเส้นโค้งมากกว่าศิลปะแบบคุปตะ ลักษณะของพระพักตร์เป็นทรงรูปไข่ มีความอูมเต่งเป็นพิเศษ พระหนุ(คาง) ๒ ชั้น

เนื่องจากกษัตริย์ปาลวะมีอำนาจอยู่ในอินเดียตอนใต้ แผ่อำนาจทางทะเลไปถึงศรีลังกา เลยไปถึงชวาและสุวรรณภูมิ ในประเทศไทยจะปรากฏพระพุทธรูปศิลปะแบบปาลวะอยู่ทั่วไป เช่น ทางภาคใต้ที่ตะกั่วป่า ไชยา นครศรีธรรมราช ภาคกลางที่นครปฐม อยุธยา ในประเทศใกล้เคียงก็ปรากฏศิลปะแบบปาลวะ เช่น กัมพูชาและเวียตนามใต้๑๙

 

๒.๓ ศิลปะแบบโจฬะ

ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐-๒๐๐๐ กษัตริย์แห่งแคว้นโจฬะทรงให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาก ทำให้เกิดศิลปะแบบโจฬะ เนื่องจากแคว้นโจฬะอยู่ใกล้เกาะลังกา(อยู่บริเวณใกล้เมืองมัทราสในปัจจุบัน) ทำให้ศิลปะนี้มีอิทธิพลต่อศิลปะในศรีลังกา ความจริงศิลปะแบบโจฬะนี้เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์โดยตรง ในยุคนี้มีการสร้างเทวรูปมาก แต่ส่งอิทธิพลมากต่อศิลปะในศรีลังกาและในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา๒๐

การสร้างพระพุทธรูปในศรีลังกา

๑. ศิลปะแบบอนุราธปุระ

ศรีลังกามีอนุราธปุระเป็นศูนย์กลางการบริหารเป็นเวลาประมาณ ๑,๑๘๒ ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๖-๑๔๓๙ แต่ระยะเวลาการเรืองอำนาจไม่ได้ติดต่อกันทั้งหมด มีขาดตอนบ้าง โดยมียุคโปโลนนรุวะคั่นเป็นบางช่วง** ศิลปะที่สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๐๐-๘๐๐เป็นภาพนูนสูงหรือนูนต่ำเล่าเรื่องในคัมภีร์พระเวท ไม่ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

ประมาณ พ.ศ. ๘๐๐-๑๕๐๐ เริ่มแกะสลักพระพุทธรูปเป็นภาพนูนสูงและนูนต่ำสร้างพระพุทธรูปห่มดอง จีวรเป็นริ้ว ม้วนชายจีวรเป็นลูกบวบพาดพระกร(แขน)ซ้าย ขอบจีวรตอนล่างค่อนข้างหนา

ยุคทองของศิลปะแบบอนุราธ ปุระอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๐๐๐-๑๕๐๐ โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบอานธระ อมราวดี นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานศิลปะแบบคุปตะและปาละด้วย ในยุคอนุราธปุระนี้ นอกจากสร้างพระพุทธรูปตามคติของหินยานหรือเถรวาทแล้ว ยังมีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์ตามคติของฝ่ายมหายานอีกด้วย๒๑

๒. ศิลปะแบบโปโลนนรุวะ

ยุคโปโลนนรุวะปราฏในประวัติศาสตร์การปกครองของศรีลังกาตั้งแต่ พ.ศ.๑๒๐๑-๑๔๖๖ โดยเรืองอำนาจเป็นช่วง ๆ ประมาณ ๕ ช่วงรวมเวลา ๗๔ ปี*** ศิลปะรุ่งเรืองอยู่ในระหว่าง พ.ศ.๑๔๐๐-๑๙๐๐ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบอนุราธปุระและอินเดียตอนใต้ ลักษณะของพระพุทธรูปมีพระพักตร์กลมขึ้น พระเกตุมาลาทรงต่ำ พระกรรณ(หู)งอนยาวขึ้น พระอังสา(บ่า)หนา ความนิยมอีกอย่างหนึ่งคือสร้างพระพุทธรูปด้วยหินและอิฐขนาดใหญ่เท่าคนหรือใหญ่ากว่าคน พระพุทธรูปที่สร้างด้วยสัมฤทธิ์เริ่มมีรัศมีเป็นเปลวแบบสั้นบนพระเกตุมาลา๒๒

๓. ศิลปะแบบแคนดี

ศิลปะแบบแคนดีรุ่งเรืองอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๐-๒๓๐๐ ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาในประเทศไทย พระพุทธรูปในยุคนี้จะมีลักษณะพระพักตร์กลมขึ้น พระกรรณ(หู)เหยียดตรง ครองจีวรเป็นริ้วลูกคลื่น๒๓

 

การสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทย

 

พระพุทธศาสนาแผ่เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ประมาณ ๓๐๐ ปี โดยพระโสณะ พระอุตตระ และพระภิกษุติดตามอีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางแห่งสุวรรณภูมิซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม แม้จะมีข้อสันนิษฐานไปต่าง ๆ

แต่นักประวัติศาสตร์ทางพุทธในเมืองไทยโดยมากเชื่อว่าเป็นบริเวณจังหวัดนครปฐม ในเบื้องต้นนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทย

ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเขียนโดยพระรัตนปัญญาเถระแห่งลานนา มีเนื้อหาแสดงตำนานพระพุทธรูปแก่นจันทน์ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถีในอินเดียจนถึงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ดังเนื้อความตอนหนึ่งว่า

ต่อจากนั้น เจ้านครพระเยาพระนามว่า ยุทธสัณฐิระ ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้นมาประดิษฐานบูชาในวิหารวัดดอนชัย ... ต่อนั้นพระมหาเถระธรรมเสนาบดี อัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นมาประดิษฐานบูชาในวัดอโสการาม นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกนครเชียงใหม่ ท่านประพันธ์ไว้เป็นคาถา แปลความว่า พระพุทธรูปแก่นจันทน์มาสู่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๔๐ เมื่อมาถึงเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก อยู่ในวัดอโสการามอันประเสริฐ และอยู่ได้ ๑๕ ปี เป็นรัชสมัยของพระเจ้าติลกครองราชสมบัติ๒๔

เรื่องตำนานพระแก่นจันทน์นี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปในลานนาและสุโขทัยคือพระพุทธรูปแก่นจันทน์ และคติการสร้างพระพุทธรูปเป็นที่นิยมในลานนามากกว่าในสุโขทัยซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน

ศิลปะของสกุลช่างในประเทศไทย

ศิลปะแบบทวารวดี (พ.ศ. ๕๐๐)

ในยุคต้นทวารวดี ยังไม่นิยมสร้างพระพุทธรูป แต่นิยมสร้างพุทธอาสน์(ที่ประทับของพระพุทธเจ้า) ต่อมาสมัยหลังรับคติการสร้างพระพุทธรูปมาจากอินเดีย สร้างเป็นพระประธานด้วยศิลาหรือปั้นด้วยปูน ทำพระพุทธรูปเป็นภาพเครื่องประดับ หรือทำเป็นพระพิมพ์ พระพุทธรูปที่นิยมสร้างมากคือปางประทานปฐมเทศนานั่งห้อยพระบาท พระพุทธรูปยืนกรีดนิ้วพระหัตถ์ ข้างขวาเป็นวง พระหัตถ์ซ้ายถือชายจีวร พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่นิยมสร้างในสมัยทวารวดี ได้แก่ ปางแสดงธรรมเทศนา ปางประทานอภัย ปางห้ามสมุทร ปางมารวิชัย ปางตรัสรู้๒๕

ศิลปะแบบศรีวิชัย (พ.ศ. ๑๓๐๐)

พระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยศรีวิชัยมีแต่พระพิมพ์เป็นส่วนมาก ศิลปะที่ทำใหญ่กว่านั้นมีแต่รูปพระโพธิสัตว์ เป็นเพราะว่า ในอาณาจักรศรีวิชัยนั้น พระพุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองมากกว่าเถรวาท๒๖

ศิลปะแบบลพบุรี (พ.ศ. ๑๖๐๐)

พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยลพบุรีมีทั้งพระศิลา พระหล่อ และพระพิมพ์ และมีคตินิยมสร้างพระทรงเครื่องเพราะอิทธิพลของพระพุทธศาสนามหายานผสมกับฮินดูที่ได้รับมาจากพวกขอม พระพุทธรูปที่นิยมสร้างมีหลายปาง เช่น ปางนาคปรก ปางมารวิชัย ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ปางห้ามสมุทร ปางป่าเลไลยก์ นอกจากนี้ก็มีรูปพระโพธิสัตว์ เช่น พระอวโลกิเตศวร๒๗

ศิลปะแบบเชียงแสน (พ.ศ. ๑๖๐๐)

พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนบางองค์ สันนิษฐานว่านำมาจากอินเดีย เช่น พระศิลาจำหลักปางปราบช้างนาฬาคิรี ที่วัดเชียงมั่น เชียงใหม่ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในลานนา(เชียงแสน)ในยุคต้น จำลองแบบอย่างพระพุทธรูปในอินเดีย นิยมสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย มีฐานเป็นดอกบัวรองพระพุทธรูป ต่อมาสมัยหลัง นิยมสร้างแบบลังกา สร้างเป็นพระทรงเครื่องก็มี เช่น พระหริภุญชัยโพธิสัตว์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร และที่น่าสังเกตคือ นิยมสร้างด้วยโลหะมากกว่าสร้างด้วยศิลา๒๘

ศิลปะแบบสุโขทัย (พ.ศ. ๑๘๐๐)

ยุคที่กษัตริย์ราชวงพระร่วงเป็นใหญ่ครองเมืองสุโขทัย ตรงกับยุคที่พระพุทธศาสนาในลังการุ่งเรืองมาก พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยสุโขทัยนิยมสร้างตามแบบลังกาทั้งสิ้น พระพุทธรูปที่สร้างแบ่งเป็น ๓ ระยะ คือ ระยะแรกมีลักษณะดวงพระพักตร์กลมแบบลังกา ระยะกลางมีลักษณะดวงพระพักตร์ยาว พระหนุ(คาง)เสี้ยม ระยะหลังมีลักษณะดวงพระพักตร์เหมือนผลมะตูมคล้ายแบบอินเดียเดิม เช่น พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์๒๙

ศิลปะแบบอยุธยา (พ.ศ. ๑๙๐๐)

พระพุทธรูปศิลปะแบบอยุธยา อาจแบ่งเป็น ๔ ยุค คือ ยุคที่ ๑ นับแต่รัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง ประมาณ พ.ศ.๑๘๙๓ นิยมสร้างพระพุทธรูปตามแบบขอม ยุคที่ ๒ นับแต่รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ นิยมสร้างตามแบบสุโขทัย ที่น่าสังเกตคือ มีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์ตามเรื่องนิบาตชาดกทั้ง ๕๕๐ ชาติ

ยุคที่ ๓ นับแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ประมาณ พ.ศ. ๒๑๗๓ นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องตามแบบขอมผสมไทย ตามแบบพระพุทธรูปที่นครวัด นครธม ยุคที่ ๔ นับแต่รัชสมัยพระเจ้าบรมโกศเป็นต้นไป สร้างพระพุทธรูปตามคตินิยมไทย๓๐

ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๒๕) ไม่ทรงประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาใหม่ เพราะทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระพุทธรูปโบราณซึ่งถูกทิ้งไว้ชำรุดทรุดโทรมในที่ต่าง ๆ มาบูรณะ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๕๒) และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗) เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูป โดยเฉพาะพระประธาน เช่น พระประธานวัดราชโอรส พระประธานวัดสุทัศน์พระประธานวัดราชนัดดาราม และพระประธานวัดเฉลิมพระเกียรติเป็นต้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สืบค้นคัดเลือกพุทธอิริยาบถในพุทธประวัติ กำหนดเป็นปางต่าง ๆ รวม ๔๐ ปาง ดังนี้

๑. ปางทุกรกิริยา ๒๑. ปางห้ามพระแก่นจันทน์

๒. ปางรับมธุปายาส ๒๒. ปางนาคาวโลก

๓. ปางลอยถาด ๒๓. ปางปลงพระชนม์

๔. ปางทรงรับหญ้าคา ๒๔. ปางรับอุทกัง

๕. ปางมารวิชัย ๒๕. ปางสรงน้ำ

๖. ปางสมาธิ ๒๖. ปางยืน

 

๗. ปางถวายเนตร ๒๗. ปางคันธารราฐ

๘. ปางจงกรมแก้ว ๒๘. ปางรำพึง

๙. ปางประสานบาตร ๒๙. ปางสมาธิเพชร

๑๐. ปางฉันสมอ ๓๐. ปางสำแดงชราธรรม

๑๑. ปางลีลา ๓๑. ปางประดิษฐานพระพุทธบาท

๑๒. ปางประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ๓๒. ปางสำแดงโอฬาริกนิมิตร

๑๓. ปางปลงกรรมฐาน ๓๓. ปางรับผลมะม่วง

๑๔. ปางห้ามสมุทร ๓๔. ปางขับพระวักกลิ

๑๕. ปางอุ้มบาตร ๓๕. ปางไสยา

๑๖. ปางภุตตากิจ ๓๖. ปางฉันมธุปายาส

๑๗. ปางพระเกศธาตุ ๓๗. ปางห้ามมาร

๑๘. ปางเสด็จลงเรือขนาน ๓๘. ปางสนเข็ม

๑๙. ปางห้ามญาติ ๓๙. ปางชี้อัครสาวก

๒๐. ปางพระปาเลไลยก์ ๔๐. ปางเปิดโลก

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้นี้เพียง ๓๓ ปาง นอกจากนี้ยังมีปางสัตตมหาสถานอีก ๗ ปาง เช่น ปางนั่งขัดสมาธิใต้ต้นโพธิ์

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้เช่นกัน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ขณะทรงผนวชอยู่ ทรงสร้างพระพุทธรูปแล้วถวายพระนามว่า "พระสัมพุทธพรรณี" ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีด้านหน้าในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากนั้น คติการสร้างพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนไทย๓๑

ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัฐบาลไทยจัดสร้างพุทธมณฑลขึ้น ณ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมในบริเวณเนื้อที่ ๒๕๐๐ ไร่ เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้มีการสร้างพระพุทธรูปางลีลาสูง ๒๕๐๐ นิ้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานนามว่า "พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" และในโอกาสสำคัญอื่น ๆ พุทธศาสนิกชนชาวไทย นิยมที่จะสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นที่บูชาสักการะ การสร้างพระพุทธรูปถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการทำบุญในประเทศ

 

ไทย ที่สำคัญคือ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมที่จะมอบถวายวัตถุที่มีค่ามีทองคำเป็นต้น เพื่อใช้สร้างองค์พระหรือสมทบทุนในการสร้างองค์พระที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยศรัทธามั่นคงในพระพุทธเจ้า

มีเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตที่สะท้อนความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ คือ การสร้างพระพุทธรูปรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม จำนวน ๖๖ ปาง รวม ๘๐ องค์ หล่อด้วยสำริด สร้างขึ้นจากศรัทธาบริจาคของพุทธศาสนิกชน ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๗ มีการจารึกชื่อผู้บริจาคไว้ที่ฐานของพระพุทธรูปเหล่านั้น**

ความสำคัญของพระพุทธรูป:

พระพุทธรูปเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า

 

แม้จะเกิดหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว ไม่เห็นเคยเห็นพระพุทธเจ้าขณะที่ทรงมีชีวิตอยู่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พระองค์มีรูปร่างหน้าตาแท้จริงอย่างไร ได้อ่านเฉพาะข้อความในหนังสือพุทธประวัติ ในพระไตรปิฎกอรรถกถา แต่ชาวพุทธทุกคนศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธรูปว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ แม้จะเป็นเพียงวัตถุ ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่มีความศักดิ์สิทธิ์และน่าเคารพกราบไหว้เหมือนกับพระพุทธเจ้า เพราะชาวพุทธทุกคนเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า พระพุทธรูปคือองค์แทนพระพุทธเจ้า

หลักฐานยืนยันความเชื่อมั่นของชาวพุทธที่ว่า "พระพุทธรูปเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้า" คือ กรณีที่รัฐบาลทาลิบันทำลายพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาที่เมืองบามิยัน(หรือฮามิยัน) ชาวพุทธทั่วโลกยื่นประท้วงรัฐบาลทาลีบัน เพราะการทำลายพระพุทธรูป เท่ากับทำลายจิตใจของพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระพุทธรูปเก่าแก่ซึ่งแกะสลักบนหน้าผา มีอายุเป็นพันปีอย่างนั้น ไม่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้นที่ยื่นประท้วงการกระทำของรัฐบาลทาลีบัน คนทั่วโลกแม้กระทั่งคนที่นับถืออิสลามก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะทำลายมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

 

พระพุทธรูปเป็นสื่อให้เข้าถึงพระธรรม และพระสงฆ์

 

ชาวพุทธกราบไหว้พระรัตนตรัย ไหว้ครั้งที่ ๑ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ไหว้ครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรม ไหว้ครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระสงฆ์ การไหว้พระพุทธเจ้าทำได้ ๒ แบบ คือ แบบพุทธานุสสติล้วน คือ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า แสดงความเคารพในใจหรือแสดงออกทางกายก็ได้ และแบบพุทธรูปานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยผ่านพระพุทธรูป ประเพณีชาวพุทธคือ "ไหว้พระ" จะฟังธรรมก็ต้องไหว้พระ จะปฏิบัติธรรมก็ต้องไหว้พระ จะนอนก็ต้องไหว้พระ คำว่า "ไหว้พระ" ก็คือไว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ในการไหว้พระสงฆ์ที่เป็นบุคคลปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน จะไหว้พระ ก. พระ ข. ในจิตใจของชาวพุทธทุกคน จะไหว้พระ ก. พระ ข.ได้สนิทใจก็ต่อเมื่อรู้สึกนึกอยู่ในใจว่า "มีพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา"

ชาวพุทธไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งใด ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ขาดพระพุทธรูปไม่ได้ ความคิดจิตใจเกิดความกระด้างขึ้นมาเมื่อใด ครั้นเห็นพระพุทธรูปย่อมรู้สึกอ่อนโยนลงมา ความอ่อนโยนนั่นแหละคือ ตัวธรรม ความคิดจิตใจใฝ่ชั่วมัวหมองเมื่อใด ครั้นเห็นพระพุทธรูป กลับละเว้นชั่วนั้นเสีย นั่นแหละคือธรรม เกิดความเดือดร้อนใจเมื่อใดเมื่ออยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป ได้ก้มกราบพระพุทธรูป จิตใจก็เย็นสงบลง อธิษฐานจิตให้มั่นคงได้ นั่นแหละคือ ธรรม

 

พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา

 

 

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในอินเดียยุคต้น แม้จะได้ต้นแบบมาจากแบบสำหรับสร้างเทวรูปของชาวกรีกแต่เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ชาวพุทธทุกคนรู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นของชาวพุทธ ไม่ใช่เทวรูปของชาวกรีก แบบที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูปจะเป็นของชนชาติใด นับถือศาสนาไหนก็แล้วแต่ เมื่อสร้างพระพุทธรูปตามแบบนั้นเสร็จแล้ว ทุกคนเห็นก็รู้ว่าเป็นพระพุทธรูป

ในประเทศไทยทุกภูมิภาค มีพระพุทธรูปปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธโดยแท้ แต่ในต่างประเทศ ผู้คนหน้าตาแปลกจากคนไทย เห็นเพียงรูปภายนอก ดูไม่ออกว่านับถือศาสนาอะไร แต่พอเห็นพระพุทธรูปก็บอกได้ทันทีว่าเป็นชาวพุทธ แม้คนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจัง แต่มีพระพุทธรูปอยู่ด้วย ก็พอคาดเดาได้ว่ามีใจโอนเอียงเป็นชาวพุทธอยู่ด้วย พระพุทธรูปจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง

 

พระพุทธรูปเป็นอุเทสิกเจดีย์

ในสมัยพุทธกาล พุทธบริษัทไม่นิยมสร้างวัตถุขึ้นมาบูชา นับถือบูชาพระไตรสรณคมน์เป็นหลัก เจดีย์ในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วทั้งนั้น เจดีย์ที่ตำรากำหนดไว้มีอยู่ ๔ ประเภท คือ๓๒

(๑) ธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์ที่เจ้าเมืองทั้งหลาย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งได้รับแจก หลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

(๒) บริโภคเจดีย์ ในเบื้องต้นได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ก่อนจะปรินิพพาน คือ ป่าลุมพินีที่ประสูติ โพธิพฤกษ์เมืองคยาที่ตรัสรู้ ป่าอิสิปตน-มฤคทายวันที่แสดงปฐมเทศนา และกุสินาราสถานที่ปรินิพพาน

ต่อมา หลังพุทธปรินิพพาน เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พุทธบริษัทบางคนได้สร้างพระสถูปบรรจุพระอังคาร(ถ่าน)ที่ถวายพระเพลิง สถูปนี้ก็จัดเป็นบริโภคเจดีย์เช่นกัน

(๓) ธรรมเจดีย์ คือ เจดีย์ที่บรรจุคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ในเบื้องต้น สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธานุญาตที่จะอำนวยความสะดวกให้พุทธบริษัทที่ไม่มีโอกาสไปกราบไว้ธาตุเจดีย์ หรือบริโภคเจดีย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะจารึกคัมภีร์ เขียนพระพุทธพจน์แล้วประดิษฐานไว้ในที่เหมาะเพื่อเป็นที่บูชาสักการะก็ได้

(๔) อุเทสิกเจดีย์ คือ เจดีย์ที่สร้างอุทิศเจาะจงพระพุทธรูป คำว่า "เจดีย์" แปลว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา กล่าวเฉพาะอุเทสิกเจดีย์นั้น เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า แต่ไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นพระพุทธรูป ในตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานยังไม่นาน อุเทสิกะเจดีย์ที่นิยมสร้างกันคือ พุทธบัลลังก์(แท่นที่ประทับ) ต่อมาเมื่อพวกโยนก (ฝรั่งชาติกรีก)เลื่อมใสพระพุทธศาสนา เข้ามาอยู่ในแคว้นคันธาระ(อินเดียตอนเหนือ) แต่ยังติดวัฒนธรรมเดิมของตนอยู่ จึงคิดประดิษฐ์การสร้างพระพุทธรูปขึ้น

ต่อมา พระพุทธรูปมีความสำคัญต่อชาวพุทธมากขึ้นจนรู้สึกว่า แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้ว แต่เมื่อมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ก็ถือว่าพระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ พระพุทธรูปจึงอยู่ในฐานะเป็น"พุทธเจดีย์"ที่สำคัญยิ่ง และเมื่อกล่าวถึงพุทธเจดีย์ ผู้คนก็จะนึกถึงพระพุทธรูป

สร้างพระพุทธรูปคือสร้างสื่อดีงาม

 

สร้างสื่อให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ

คตินิยมสร้างพระพุทธรูป ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่หรือในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๒๐๐-๓๐๐ ปี ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การสร้างพระพุทธรูปแม้จะเกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธปรินิพพานนานแล้ว แต่พุทธบริษัทหรือแม้แต่คนที่นับถือศาสนาอื่นต่างถือว่าเป็นวัฒนธรรมดีงาม การสร้างรูปของบุคคลสำคัญไว้สักการะบูชา เป็นที่นิยมโดยทั่วไปอยู่แล้ว ยิ่งเป็นบุคคลที่บริสุทธิ์ เป็นศาสดาของศาสนา ยิ่งเป็นที่นิยมกันมาก

การสร้างพระพุทธรูปแม้จะเป็นเพียงการสร้างวัตถุรูปเหมือนพระพุทธเจ้า ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่มีความสำคัญต่อพุทธบริษัทมาก ชาวพุทธกราบไหว้พระพุทธรูปในที่ทุกแห่งหนที่พบพระพุทธรูป เมื่อกราบไหว้แล้วทำให้เกิดความสบายใจ ทำให้น้อมระลึกถึงพระพุทธองค์ สมัยเมื่อดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และน้อมระลึกถึงพุทธคุณทั้งส่วนที่เป็นพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ถือเป็น "อนุสสตานุตตริยะ คือการระลึกอันยอดเยี่ยม" ได้แก่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธสาวก

สร้างมิ่งขวัญให้แก่ดวงตาและดวงใจ

พระพุทธศาสนามีองค์ประกอบสำคัญ คือ (๑) ศาสนบุคคล คือพระสงฆ์ พุทธบริษัท (๒) ศาสนธรรม (๓) ศาสนพิธี และ(๔) ศาสนวัตถุ การเห็นได้พบเห็นพระสงฆ์ถือเป็นมงคล ดังข้อความในมงคลสูตรตอนหนึ่งว่า "ความอดทน ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย การพบเห็นสมณะ การสนทนาธรรมตามกล เป็นมงคลอย่างสูง" ชาวพุทธทุกคนเห็นพระสงฆ์แล้วเกิดความสบายใจ อยู่ถิ่นไหนไกลแสนไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน รู้สึกหว้าเหว่ เมื่อเห็นชายผ้าเหลืองแล้วเกิดความสบายใจ นั่นคือการเห็นศาสนบุคคล

พระพุทธรูปอยู่ในฐานะเป็นทั้งศาสนบุคคลและศาสนวัตถุในขณะเดียวกัน กล่าวคือ พระพุทธรูปเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าและเป็นปูชนียวัตถุเพื่อกราบไหว้บูชา พระพุทธรูปเก่าแก่ทรงคุณค่าทั้งทางด้านจิตใจและราคา พระพุทธรูปเล็กที่เรียกกันว่าพระเครื่อง เช่น พระผงธรรมขันธ์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ มีคุณค่าทั้งทางด้านจิตใจและราคาประมาณมิได้ พุทธบริษัทเมื่อรู้สึกขาดที่พึ่ง เมื่อรู้สึกหวาดกลัว เมื่อเห็นพระพุทธรูปอยู่ใกล้ หรือเมื่อห้อยพระพุทธรูปอยู่ในคอแล้วรู้สึกอบอุ่นใจ เห็นพระพุทธรูปแล้วสบายตาและรู้สึกอบอุ่นใจ นั่นคือเป็นมิ่งขวัญแก่ดวงตาและดวงใจ

พระพุทธรูปที่ถือว่า "เป็นมิ่งขวัญแก่ดวงตาและดวงใจ" นั้น เพราะการเห็นพระพุทธรูปถือเป็น "ทัสสนานุตตริยะ คือการเห็นอันยอดเยี่ยม และลาภานุตตริยะ คือการได้อันยอดเยี่ยม"๓๓ ทัสสนานุตตริยะระดับที่ ๑ คือการได้เห็นพระพุทธรูป พระพุทธสาวกรูป ระดับที่ ๒ คือ การได้เห็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่และพระสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่ ระดับที่ ๓ คือการได้เห็นธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิว่า "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ได้แก่ธรรมกาย เมื่อเกิดทัสสนานุตตริยะแล้ว ย่อมเกิดลาภานุตตริยะคือการได้อันยอดเยี่ยม ได้แก่การได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในพระพุทธสาวก

 

สร้างสื่อน้อมนำให้ระลึกถึงคุณความดี

 

สื่อน้อมนำให้ระลึกถึงแต่สิ่งดีงาม คือ กัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรว่า๓๔

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังขึ้น ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นเครื่องหมายบอกล่วงหน้า ฉันใด กัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นเครื่องหมายบอกล่วงหน้าว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ จะ

เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ฉันนั้น ภิกษุมีกัลยาณมิตร พึงหวังได้ว่าจักบำเพ็ญกระทำให้มากซึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘

คำว่า "กัลยาณมิตร" ไม่ได้หมายถึงเพื่อนดีที่เป็นคนเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้ระลึกถึงแต่สิ่งดีงาม พระพุทธรูปอยู่ในฐานะเป็นกัลยาณมิตรที่ประเสริฐวิเศษกว่ากัลยาณมิตรทั้งหลาย เพราะมีพลังศักดิ์สิทธิ์ที่จะน้อมนำให้ระลึกถึงแต่สิ่งดีงามอย่างเดียว การสร้างพระพุทธรูปก็คือการสร้างสื่อให้ระลึกถึงสิ่งดีงาม ย่อมจะได้รับอานิสงส์คือมีสื่อดีงาม

พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์รวมแห่งคุณความดีที่ได้บำเพ็ญมาสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ๕๔๗ ชาติ สั่งสมคุณความดีนับประมาณมิได้ พระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าเป็นสื่อให้น้อมระลึกถึงคุณความดีเหล่านั้น นี้เป็นส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่ง คือ พลังที่อยู่ในองค์พระพุทธรูปนั้น ไม่มีพลังด้านลบ มีแต่พลังด้านบวก มีแต่พลังสร้างสรรค์ความดีงามในสังคม ในบ้านเมือง พระพุทธรูปเป็นเพียงวัตถุ ไม่มีอำนาจสร้างพลังขึ้นในตนเอง พุทธบริษัทนั่นแหละเป็นผู้สร้างพลังขึ้นในองค์พระพุทธรูป และสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อมีพระพุทธรูปที่ใดก็จะมีพลังศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นที่นั้น พระพุทธรูปคือสัญลักษณ์แห่งความดีงาม คนที่ห้อยพระเครื่องเต็มคอ หรือคนที่กราบไหว้พระพุทธรูป คนที่สร้างพระพุทธรูปจะเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่พระพุทธรูปทรงคุณความดีอย่างแน่นอน

สร้างสื่อน้อมนำให้งอกงามในการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกรรมฐานที่จะให้บรรลุจุดหมายไม่ว่าจะเป็นระดับโลกิยะหรือโลกุตตระ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องได้อาจารย์ดี มีสถานที่ปฏิบัติดี มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ พระพุทธรูปอยู่ในฐานะเป็นสื่อประเสริฐที่สุดที่จะน้อมนำให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ผู้ที่สร้างสื่ออันประเสริฐย่อมจะรับอานิสงส์คือสื่ออันประเสริฐนี้เช่นกัน

ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อจูฬปันถก เป็นพระสติปัญญาไม่ว่องไวเหมือนคนอื่น นั่งบำเพ็ญวิปัสสนาพิจารณาความเสื่อมสิ้นไปแห่งสังขารอยู่ในวัด วาระจิตขึ้นสู่วิปัสสนา พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปฉันภัตตาหารเพลที่บ้านหมอชีวก พระพุทธองค์ทราบเรื่อง ทรงเปล่งพระรัศมี แสดงพระองค์ต่อหน้าพระจูฬปันถก ตรัสกับพระจูฬปันถก ทำให้พระจูฬปันถกบรรลุอรหัตผล

การที่พระจูฬปันถกบรรลุอรหัตผลได้โดยง่ายนั้น เป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ไปปรากฏต่อหน้า การได้เห็นพระพุทธองค์ถือว่าเป็นมงคลเนื่องจากพระพุทธองค์เป็นสมณะและทำให้กระแสจิตดิ่งไปสู่คุณธรรมได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะพระจูฬปันถกได้อารมณ์คือพุทธานุสสติชัดเจน การสร้างพระพุทธรูปคือการสร้างสื่อน้อมนำให้เกิดความงอกงามในปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เพราะพระพุทธรูปเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าเหมือนกับที่ทรงแสดงพระองค์ต่อหน้าพระจูฬปันถก

 

สร้างสื่อสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง

การสร้างพระพุทธรูปคือการสร้างสื่อศักดิ์สิทธิ์ ย่อมจะได้รับอานิสงส์คือความศักดิ์สิทธิ์ในตนด้านการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ในการดำเนินชีวิตครอบครัวก็เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในการประกอบธุรกิจหน้าที่การงานก็ราบรื่นเพราะสื่อสารกันเข้าใจ ทำให้เกิดความไว้วางใจกันและกัน ภายในครอบครัวก็ดี ในหมู่เพื่อนฝูงก็ดี ในหมู่เพื่อนร่วมงานก็ดี ย่อมไม่มีความเข้าใจผิดกันเกิดขึ้น หรืออาจมีความขัดใจจะมากหรือน้อยก็สามารถแก้ไขทำความเข้าใจกันได้โดยง่าย

นอกจากนี้ ย่อมปลอดภัยจากคำพูดส่อเสียด คำว่า "คำส่อเสียด" หมายถึงคำพูดที่ยุแหย่ให้แตกกัน ไม่ได้หมายถึงการพูดเสียดสีต่อหน้าอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน คำส่อเสียดเป็นอันตรายอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต เพราะเป็นเหมือนการเสี้ยมเขาควายให้ชนกัน เกิดจากมือที่สามที่นำเอาเรื่องฝ่ายนี้ไปยุแหย่ฝ่ายโน้นเพื่อให้เกิดความไม่พอใจฝ่ายนี้แล้วนำเรื่องฝ่ายโน้นมาบอกว่าฝ่ายนี้เพื่อให้เกิดความไม่พอใจฝ่ายโน้น โดยที่สองฝ่ายไม่รู้ความจริง ไม่มีโอกาสปรับความเข้าใจกัน นี่คืออันตรายของคำส่อเสียด

ในชีวิตของเรา ขอให้อธิษฐานเสมอเถิดว่า "ชาตินี้ให้ปลอดภัยจากคำส่อเสียด อย่าได้พบเจอคนส่อเสียด" การสร้างพระพุทธรูปย่อมมีอานิสงส์คือความปลอดภัยจากคำพูดส่อเสียดดังกล่าวนี้

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕