หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » บทความวิขาการ61 » พัฒนาความรู้ ควบคู่การปฏิบัติงานจริง
 
เข้าชม : ๖๖๒๕ ครั้ง

''พัฒนาความรู้ ควบคู่การปฏิบัติงานจริง''
 
พุธทรัพย์ มณีศรี (2561)

 

พัฒนาความรู้ ควบคู่การปฏิบัติงานจริง

                การเดินทางไปปฏิบัติและดูงานการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ณ แดนพุทธภูมิ ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 5 เมษายน 2557 นั้น

          นอกจากได้ฟังด้วยหู ดูด้วยตา กล่าวคือได้ฟังวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและพระธรรมทูตบรรยายและอภิปราย ได้ดูสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์แล้ว ยังต้องแบ่งกลุ่มกันศึกษาตามเรื่องที่ได้กำหนดไว้ด้วย

           ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ศึกษาเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การศึกษา กลุ่มที่ 2 การจัดองค์ความรู้ กลุ่มที่ 3 การส่งทอดทางวัฒนธรรม กลุ่มที่ 4 กรรมฐาน กลุ่มที่ 5 การจัดองค์กร กลุ่มที่ 6 รูปแบบการทำงานของพระธรรมทูต และกลุ่มที่ 7 พุทธศิลปกรรม

          แต่ละกลุ่มก็มีผู้ฝึกสอน (Coach) และมีผู้ให้คำปรึกษา (Mentor) ประจำกลุ่มด้วย

          ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มก็มีการปรึกษาหารือในการทำงานกลุ่มกันอย่างใกล้ขิด

ได้นำเสนอผลงานของกลุ่มภายในรถระหว่างการเดินทาง และนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยพระธรรมทูตทั้งหมดและคณาจารย์ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ได้รับทราบความคืบหน้า ผลการดำเนินการและให้ข้อสังเกตเป็นระยะ ๆ อีกด้วย

การจัดทำรายงานกลุ่มนี้ นอกจากประโยชน์จากการค้นคว้าหาความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มและระหว่างพระธรรมทูตด้วยกันแล้ว

พระธรรมทูตยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีมอีกด้วย

เพราะงานพระธรรมทูตนั้น ในแต่ละวัดที่ไปประจำ อาจมีพระธรรมทูตมากกว่า 1 รูป

การทำงานเป็นทีมจะช่วยให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าวัดที่ไปประจำบางวัดจะมีพระธรรมทูตเพียงรูปเดียว แต่ต้องทำงานร่วมกับพระธรรมทูตวัดอื่นซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน รัฐเดียวกันหรือประเทศเดียวกัน

ขอเรียนกับท่านผู้อ่านเพื่อความเข้าใจด้วยว่า คำว่า “วัด” ในต่างประเทศนั้น บางแห่งเป็นเพียงการตั้งชื่อเพื่อเรียกขานเท่านั้น ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่มีโบสถ์ ไม่มีวิหาร ใด ๆ ทั้งสิ้น

เพราะกฎหมายของบางประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป บางวัดนั้นมีบ้านเช่าเพียงหลังเดียวเท่านั้น

การศึกษาและการจัดทำรายงานกลุ่มนี้ ได้สร้างความอดทนและความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างสูง

เพราะแม้มีศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น การเดินทางและการเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ การปฏิบัติงานด้านสาธาณูปการ รวมทั้งการฟังการบรรยายและการอภิปรายเป็นคณะในตอนกลางคืน ทำให้เวลาในการสอบถาม ศึกษาและค้นคว้ามีน้อยมาก

แต่ก็ถือเป็นการสร้างความกดดันและความแข็งแกร่งให้แก่พระธรรมทูตเหล่านี้ ที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะต้องพบในภายภาคหน้าต่อไป

ผู้เขียนในฐานะผู้ฝึกสอนกลุ่มที่ 5 การจัดองค์กร ได้สัมภาษณ์พระมหาอภิสิทธิ์ วิริโย ถึงประโยชน์ที่

ได้รับจากการทำงานกลุ่ม ซึ่งท่านก็ได้ชี้แจงว่า

 สิ่งที่อาตมามองเห็นประโยชน์จากการจัดทำรายงานการจัดองค์กรของพระธรรมทูตสายอินเดีย-

เนปาล  ได้เห็นการจัดรูปแบบโครงสร้างองค์กร ซึ่งแบ่งหน้าที่ในการบริหาร โดยมุมมองวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลถึงอนาคตและค่อนข้างรัดกุม ยึดแบบของพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง โดยนำเอาวิธีการบริหารของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เคยใช้และได้ผลดีมาแล้ว ทั้งนี้ พระเดชพระคุณฯ พระเทพโพธิวิเทศ ได้นำมาเป็นแบบอย่างในการบริหารเชิงพุทธและการจัดการเชิงพุทธ ท่านได้จัดรูปแบบองค์กรพระธรรมทูตสายต่างประเทศอินเดีย-เนปาลตามวิธีการของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาตมาเห็นว่าพระธรรมทูตควรนำแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทำไว้ก็ดี หรือที่พระเดชพระคุณฯ พระเทพโพธิวิเทศ  หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ก็ดี ซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว นำมาปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแก้ไขสถานการณ์ตามภูมิภาคและท้องถิ่นนั้น ๆ”  

 

 

การปรึกษาหารือภายในกลุ่มที่วัดไทยสารนาถ เมืองพาราณสี

 

พระมหาอภิสิทธิ์ วิริโย นั่งซ้ายมือของผู้เขียน

 

 

ภารกิจอีกประการหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย คืองานสาธารโณปการหรืองานก่อสร้าง

   หลายท่านอาจสงสัยหรือไม่เข้าใจว่า เหตุใดพระธรรมทูตจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปฏิบัติด้าน

การก่อสร้างเองด้วย

            เรื่องนี้มีความจำเป็นครับ เพราะพระธรรมทูตต้องไปประจำต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการวางผังพัฒนาพื้นที่วัด รู้จักคุณสมบัติและรู้จักการใช้วัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับอาคาร

          นอกจากนั้น การทำงานร่วมกันยังเป็นการละลายพฤติกรรมอีกด้วย

 

          พระธรรมทูตได้ไปช่วยงานสาธารณูปการณ์หลายวัด เช่น ที่วัดไทยพุทธคยา วัดไทยลุมพินี วัดเชตวันมหาวิหารและวัดไทยสิริราชคฤห์

 พระธรรมทูต มจร และ มมร ช่วยงานเทปูนเพื่อก่อสร้างหอวิปัสสนาวีระภุชงค์ ที่วัดไทยพุทธคยา

 

ที่ทำคัญที่สุดก็คือ คณาจารย์หลายรูปก็ได้ลงไปร่วมในการปฏิบัติด้วย

เห็นแล้วชื่นใจในความร่วมมือร่วมใจกันครับ

          โดยเฉพาะที่วัดไทยพุทธคยานั้น พระธรรมทูตที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ซึ่งไปศึกษาดูงานเช่นกัน ได้เข้ามาร่วมปฏิบัติงานสาธารณูปการด้วย

และเป็นที่น่าปลื้มปิติเป็นอย่างมากก็คือ ในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเทพโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูต

คณะสงฆ์ไทยจัดพิธีเจริญพระพรชัย ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา

 

สายอินเดีย-เนปาล ได้นำคณะสงฆ์ไทยจัดพิธีเจริญพระพรชัย ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา โดยพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดราชผา นำเจริญพระพุทธมนต์ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร

คณะสงฆ์ประกอบด้วยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรพระธรรมทูตสายประเทศ รุ่นที่ 20 ประจำปี 2557 และคณาจารย์ จาก มจร 80 รูป จาก มมร 60 รูป พระธุดงค์สายวัดนาคปรก 56 รูป สายอุทยานธรรมดงยาง 113 รูป รวมทั้งสิ้น จำนวน 321 รูป และพุทธบริษัทพสกนิกรชาวไทยร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก

เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย จะได้ร่วมมือร่วมใจพัฒนาพระสงฆ์ของไทยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต

เห็นได้ว่าหลักสูตรการอบรมพระธรรมทูต รุ่นที่ 20 ของ มจร นั้น เป็นหลักสูตรที่เข้มข้นมาก

ทั้งนี้ โดยตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อพระธรรมทูตเหล่านี้ได้ออกไปปฏิบัติศาสนกิจตามประเทศต่าง ๆ จะทำให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป และสามารถดำรงอยู่ร่วมทั้งปฏิบัติศาสนกิจให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

ขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ

 

                                                          พุธทรัพย์ มณีศรี

                                                          puthsup@gmail.com

 

(ที่มา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕