หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » บทความ » สุจริตธรรมในฐานะเครื่องมือป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยปัจจุบัน
 
เข้าชม : ๒๒๙๕๘ ครั้ง

'' สุจริตธรรมในฐานะเครื่องมือป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยปัจจุบัน ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2557)


นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ ๕  
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
www.ps.mcu.ac.th 

 

 

 

๑. บทนำ

          ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และความรุนแรงตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการที่สังคมคาดหวังที่จะให้สังคมไทยผ่านพ้นสถานการณ์ความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ โดยการให้โอกาสแก่นักการเมือง และมุ่งหวังเกิดสังคมให้อภัยแก่กันและกันนั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ความคาดหวังให้นักการเมืองมีความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ดังจะเห็นได้จาก “สวนดุสิตโพล” ที่นำเสนอประเด็นโดยการสอบถามความเห็นจากจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น ๑,๓๓๙ คน ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  สรุปว่า (๑)ความรักที่ประชาชนอยากให้ กับ นักการเมืองอันดับ ๑ คือให้โอกาส ให้ความไว้วางใจ เชื่อมั่นในการทำงาน ร้อยละ ๓๖.๓๒  และ  ให้อภัย ไม่ถือโทษ ให้ความเป็นธรรม ร้อยละ ๓๑.๓๑   (๒)ความรักที่ประชาชนอยากได้ จาก นักการเมืองอันดับ ๑ คือซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจ ร้อยละ ๔๕.๗๗  และอยากให้นักการเมืองทำเพื่อส่วนรวม ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ร้อยละ ๓๘.๔๑

          จากโพลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง “ความอยากให้” กับ “ความอยากได้” ที่สังคมมุ่งมั่นจะเห็นจากนักการเมือง  โดยการอยากให้โอกาส และให้อภัย และให้ความเป็นธรรม  ในขณะที่ความอยากได้นั้นสะท้อน สังคมมุ่งเน้นไปที่การอยากได้ความซื่อสัตย์สุจริต  ซึ่งคาดหวังเช่นนี้สอดรับกับ “สวนดุสิตโพล” ที่สังคมมีความคาดหวังต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน ๒๕๐ คน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการศึกษาจัดทำแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๑ ด้าน  ดังจะเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน ๑,๔๕๔ คน ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๗  สรุปผลได้ว่า (๑) อยากให้ตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม ยุติธรรม เป็นกลาง ร้อยละ ๘๑.๒๒ (๒) อยากให้เร่งดำเนินการปฏิรูปปัญหาเร่งด่วนโดยเร็ว โดยฟังความเห็นของประชาชน ร้อยละ ๗๖.๘๙ และ (๓) เน้นการทำงานเพื่อส่วนรวม เห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ ร้อยละ ๗๔.๐๗

      จากผลสำรวจที่คาดหวังต่อการทำงานของนักการเมือง และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ที่สังคมไทยคาดหวังให้มุ่งมั่นอยู่ใน “ความซื่อสัตย์สุจริต”  และสอดรับกับ “นิด้าโพล” อย่างมีนัยสำคัญ ดังจะเห็นได้จากศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ร่วมกับ "ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่  ๒๐-๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑,๒๕๑ หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมตามเงื่อนไขคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และค่านิยมหลักของคนไทย ๑๒ ประการ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อปัญหาทางด้านคุณธรรมจริยธรรม ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๐.๖๘ ระบุว่า เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต การทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ ๑๔.๙๕ ระบุว่า เป็นเรื่องของการเสียสละ แบ่งปัน ขาดความมีน้ำใจ เห็นแก่ประโยชนส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ร้อยละ ๑๒.๔๗ ระบุว่า เป็นเรื่องของการขาดความสามัคคี ปรองดอง รักใคร่กลมเกลียว เกิดความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ ๗.๙๙ ระบุว่า เป็นเรื่องของการขาดจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการประพฤติผิดศีลธรรมอันดีงาม[๑]

          การที่สังคมไทยคาดหวังต่อคุณธรรมจริยธรรมในประเด็น “ความซื่อสัตย์สุจริต” นั้น สะท้อนให้นัย ๒ ประการคือ (๑) ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยปรากฏมีในสังคมไทย จึงเป็นปัจจัย และตัวแปรสำคัญที่ทำให้สังคมมุ่งเน้นอยากจะให้กลุ่มคนต่างๆ ได้พัฒนาให้มีขึ้น เพื่อประโยชน์ และความอยู่รอดของสังคมต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว หรือ (๒) ความซื่อสัตย์สุจริต เคยเป็นมีและปรากฏในสังคมไทย จนกลายเป็นจุดแข็ง และเป็นค่านิยมหลักที่เคยได้รับการประพฤตปฏิบัติในสังคมมา ๗๐๐ กว่าปีแล้ว สังคมจึงถวิลให้เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ ได้น้อมนำกลับมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการทำงานต่อไป 

          จากการวิเคราะห์คุณธรรมและจริยธรรมในประเด็น “ความซื่อสัตย์สุจริต” นั้น นับว่าเป็นองค์ธรรมสำคัญที่เป็นหลักยึดของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหลักการนี้ปรากฏชัดอยู่ในหลัก “อาชวะ” ใน  “ทศพิธราชธรรม” ที่เน้นความซื่อตรงต่อธรรม ต่อตัวเอง ต่อสังคมประเทศชาติ และ “สุจริต” ในหลัก “จักรวรรดิวัตร”  ที่เน้นความสุจริตทั้งกาย วาจา และใจ[๒]  หลักการทั้งสองนี้ จึงถือได้ว่าเป็นหลักการสำคัญที่ชนชั้นนำทางการเมืองได้ใช้เป็นหลักปฏิบัติในการบริหารกิจการบ้านเมืองตามหลักธรรมาภิบาลตามกรอบของผู้นำตามแบบของ “ธรรมราชา” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จากความสำคัญขององค์ธรรมข้อนี้ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน พระราชดำรัส ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ว่า “...ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง  จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดในตัวเอง เพื่อจักได้เป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่งคง...  นอกจากนี้ ทรงพระราชทานในโอกาสที่ประธานศาลฏีกานำผู้พิพากษาประจำกระทรวง  เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ ว่า “... ในประเทศชาตินี้ ก็มีคนที่สุจริต และมีคนที่ทุจริต  ถ้าคนที่สุจริตซึ่งมีมาก ไม่สามารถที่จะป้องกันตัวจากทุจริตชน ก็ทำให้ประเทศชาติล่มจม...”

จากความเป็นมา และความสำคัญของคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” ดังกล่าว  จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์ “ความซื่อสัตย์สุจริต” เชิงเอกสาร โดยงานนี้ จะเลือกศึกษาเฉพาะประเด็น “ความสุจริต” ด้วยเหตุที่สถาบันพระปกเกล้าได้ศึกษาและวิจัยประเด็น “ความซื่อสัตย์”  แต่ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดสนใจ และมุ่งเน้นศึกษาประเด็น “ความสุจริต” ฉะนั้น งานนี้จึงสนใจที่จะศึกษาทั้งในมิติของความหมาย ประเภท คุณค่าและความสำคัญ องค์ธรรมที่สนับสนุนความสุจริต และแนวทางในการพัฒนาความสุจริตให้เกิดขึ้นในจิตใจและสังคม  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความสุจริตจิตใจของพลเมืองตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย รวมไปถึงนักการเมือง ข้าราชการทั้งภาครัฐ และเอกชนที่สัมพันธ์กับการทำงานเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้โปร่งใส่ต่อไป

๒. ความหมายทั่วไปของความสุจริต

          คำว่า “สุจริต” นั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้าง และยากที่จะกำหนดหลักเกณฑ์แน่นอนลงไปให้ชัดเจน[๓]  หากอธิบายความสุจริตตามกรอบของกฎหมายแล้ว การที่จะกล่าวว่าหลักสุจริตมีต้นกำเนิดมาจากอะไร และเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดนั้น จึงเป็นการตีกรอบได้ค่อนข้างยาก แต่เมื่อวิเคราะห์จากหลักทางกฎหมาย  หลักสุจริตจะแทรกซึมอยู่ในระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแบบ Common Law และ Civil Law อีกทั้งคำว่า สุจริต ยังเป็นที่คุ้นเคยกันดีในสังคมมานาน ฉะนั้น หากจะศึกษาที่มาของสุจริตจึงจะต้องศึกกษาตั้งแต่การเกิดขึ้นของมนุษย์ เพราะการรวมกันเป็นสังคมของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีกฎหมาย

เจ เอฟ (J.F O’ Cornor) นักคิดตะวันตกพยายามจะอธิบายถึงที่มาของคำว่า “สุจริต” ว่า การที่มนุษย์มีความต้องการที่จะอยู่รอด ต้องการดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเอง มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีการพึ่งพากันและกัน เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว จึงเกิดการรวมกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยเหตุนี้เองมนุษย์จึงต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ และอดทนต่อสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนแก่กัน รวมทั้งต่างก็มีหน้าที่ของตนเอง และได้รับการคาดหวังจากสมาชิกคนอื่นว่าแต่ละคนจะปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเพื่อความอยู่รอดของกลุ่ม ต่อมาเมื่อกลุ่มคนดังกล่าวพัฒนาไปเป็นชุมชนที่มีความเจริญมากขึ้น แนวคิดเรื่องหน้าที่นี้ก็พัฒนาตามไปด้วย จากระยะเริ่มแรกซึ่งมักจะเป็นหน้าที่ในลักษณะเพื่อการยังชีพ เช่น เมื่อสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มนักล่าสัตว์ได้ล่อเหยื่อไปตามทางที่ตกลงกันไว้แล้ว สมาชิกอีกคนหนึ่งของกลุ่มจะจับสัตว์นั้น ก็พัฒนาไปสู่หน้าที่ตามคำสัญญา (Obligation of Promise) ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ตนได้ให้สัญญาไว้ เกิดจากเหตุผลในทางปฏิบัติเพื่อการดำรงอยู่ของกลุ่มนั่นเอง[๔]

คำว่า “สุจริต” ตาม Black’s Law Dictionary 18th Edition ได้อธิบายไว้ว่า หมายถึง สภาวะทางจิตใจอันประกอบด้วย (๑) ความซื่อสัตย์ในความเชื่อ หรือวัตถุประสงค์ (๒) ความซื่อตรงต่อหน้าที่ หรือหนี้ของตน (๓) ความสอดคล้องกับมาตรฐานทางการค้า หรือธุรกิจใดๆ อันชอบด้วยเหตุผล ในการต่อรองกันอย่างเป็นธรรม (๔) การไร้ซึ่งเจตนาหลอกหลวงหรือแสวงหาผลประโยชน์มิชอบ[๕]

หลักสุจริตนั้น ถูกรับรองโดยบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกตามกฎหมายแพ่งของประเทศเยอรมัน ค.ศ. ๑๙๐๐ ในมาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๒๔๒ คำว่าหลักสุจริตในภาษาเยอรมันตรงกับคำว่า Treu und Glauben คำว่า Treue  แปลว่า ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ (Faith, Royalty, Fidelity, Reliability)[๖] หรือที่ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ได้อธิบายไว้ว่า หลักสุจริต ก็คือหลักความซื่อสัตย์ และความไว้วางใจ[๗]  แต่การที่จะบอกว่า ความซื่อสัตย์และความไว้วางใจประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น กล่าวได้ว่าทำได้ยากยิ่ง และยอมรับว่าหลักสุจริตนั้นเป็นเรื่องของแนวคิด แม้จะมีผู้พยายามอธิบายหลักสุจริตจากหลักย่อยๆ ที่มาจากหลักสุจริต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตออนไลน์ได้ให้ความหมายของ คำว่า สุจริต หมายถึง ประพฤติชอบ ประพฤติในทางที่ถูกต้อง ตรงข้ามกับคำว่า ทุจริต เช่น เขาทำมาหากินด้วยความสุจริต ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความสุขกายสบายใจ.  ธุรกิจที่สุจริตย่อมอยู่คงทนมากกว่าธุรกิจที่ทุจริต ในการใช้สื่อทางอินเทอร์เน็ตทุกคนควรเผยแพร่ข้อความหรือรูปภาพโดยสุจริต  คำว่า สุจริต มักใช้ควบคู่กับคำว่า ซื่อสัตย์ เป็น ซื่อสัตย์สุจริต เช่น กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  เที่ยงธรรม ขยันหมั่นเพียร และดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการ[๘]

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าในการนิยามหลักสุจริตนั้น อาจแบ่งได้ ๓ ลักษณะ ได้แก่ การให้ความหมายในเชิงอัตตะวิสัย (Subjective) และ การให้ความหมายในเชิงภาวะวิสัย (Objective) กล่าวคือ

(๑) หลักสุจริตตามความหมายในเชิงอัตตะวิสัยนั้น  ได้รับการอธิบายโดยอาศัยความรู้ หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงบางประการของบุคคลเป็นสำคัญ  ดังเช่นที่ศาลฎีกาได้เคยอธิบายความสุจริตเอาไว้ว่า หมายถึง การกระทำโดยไม่รู้ หรือไม่ควรรู้ถึงความบกพร่องแห่งสิทธิที่มีมาแต่อดีต ตามคำพิพากษาที่ ๕๕๐/๒๔๙๐ แต่ถ้าการกระทำโดยรู้ถึงความบกพร่องแห่งสิทธิของตนจะถือว่าสุจริตไม่ได้ ตามคำพิพากษาที่ ๑๐๑๒/๒๕๐๔  และยังให้ได้ความหมายเลยไปถึงว่า ถ้าความไม่รู้นั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้กระทำ ก็ถือได้ว่าไม่สุจริตเช่นเดียวกัน หลักสุจริตที่อธิบายโดยความรู้ หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ เรียกว่า หลักสุจริตเฉพาะเรื่อง

(๒) หลักสุจริตตามความหมายในเชิงภาวะวิสัย เป็นหลักการพื้นที่ที่มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับความซื่อสัตย์ (Honesty) ความเป็นธรรม (Fairness) ความมีเหตุผล (Reasonableness) การปกป้องความไว้วางใจ (Protection of Reasonable Reliance) การคำนึกถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น (Due Regard for the interest of other party) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Considerate Behavior)[๙]

(๓) ความประพฤติชอบ และการประพฤติในทางที่ถูกต้อง  ซึ่งเป็นสะท้อนถึงการประพฤติในเชิงบวกต่อตัวเองและสังคม ความสุจริตตามมิติของราชบัณฑิตนั้นมิได้สะท้อนถึงการประพฤติที่มีต่อสังคมเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนเข้าไปถึงภายในจิตใจของแต่ละบุคคลด้วย


๓. ความหมาย และประเภทของความสุจริตในพระพุทธศาสนา

สุจริต มาจากบาลีว่า “สุ บทหน้า” แปลว่า “ดี งาม และง่าย”  และ “จร ธาตุ” แปลว่า “ประพฤติ”  รวมเป็น “สุจริต” แปลรวมกันว่า “ความประพฤติดี, ความประพฤติงาม,  และการประพฤติปฏิบัติในวิถีที่เรียบง่าย  การประพฤติดี งาม และง่ายนั้น สะท้อนผ่าน ๓ มิติคือ

(๑) กายสุจริต เป็นการประพฤติดี และงดงามทางกายโดยงดเว้นจากการไม่เบียดเบียน และฆ่าสัตว์ (ปาณาติบาต) การไม่แย่งชิง คดโกง ยักยอก และลักพาสิ่งของที่เจ้าของมิได้อนุญาต (อทินนาทาน) และการประพฤติผิดในเรื่องกามคุณจนขาดความสำรวมระวัง (กาเมสุมิจฉาจาร)

(๒) วจีสุจริต เป็นการประพฤติดี และงดงามทางกาย โดยการงดเว้นจากการพูดเท็จ และบิดเบือนเพื่อให้มา หรือให้บุคคลอื่นในทางที่ผิด (มุสาวาท) การพูดจาเหน็บแนม และส่อเสียดบุคคลอื่น (ปุสุณวาจา) การพูดคำหยาบคายเพื่อให้คนอื่นเจ็บใจ (ผรุสวาจา) และการพูดจาเพ้อเจ้อ หาสาระมิได้จากการพูดเหล่านั้น (สัมผัปปลาปะ)

(๓) มโนสุจริต เป็นการประพฤติดี และงดงามทางจิตใจ โดยการไม่เพ่งเล็งที่จะแสวงหาช่องทางเพื่อให้ทรัพย์สมบัติของคนอื่น (อนภิชฌา) การไม่ผูกพยาบาทจองเวรคนอื่น (อพยาบาท) และการมีความคิดในทางที่ถูกต้องเหมาะสม มีปัญญาคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ)

หากจะถอดหลักการ “ความสุจริต” ทั้ง ๓ ประการที่สัมพันธ์กับการป้องกันการคอร์รัปชันนั้น จะพบประเด็นที่สอดรับกันดังแผ่นภาพด้านล่าง


 

ความสุจริตในมิติของมโนสุจริตจะเน้นหนักไปที่การไม่คิดละโมบโลภอยากได้ของบุคคลอื่น หรือสมบัติสาธารณะ  โดยการคิดแสวงหาช่องทางที่จะอำนาจ และหน้าที่ไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่จะได้มา  ในขณะที่กายสุจริตจะเน้นไปที่การตัดสินใจประพฤติทุจริตคอร์รัปชันโดยการแสดงออกทางกายด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การใช้กำลัง หรืออาวุธแย่งชิงโดยตรง หรือการแย่งชิง และคดโกงด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของ หรือสมบัติสาธารณะที่ตัวเองได้ตั้งใจและวางแผนเพื่อแย่งชิงหรือคดโกง ส่วนวจีทุจริตนั้น เป็นการใช้วาจาเพื่อโน้มน้าว บิดเบือน โกหก หรือหลอกหลวงด้วยวิธีการอย่างใดอย่างยิ่ง เพื่อให้คู่กรณี หรือบุคคลอื่นๆ หลงเชื่อจนได้มาซึ่งสิ่งที่มุ่งหวัง

 

๔. ความสุจริต: จากพระพุทธเจ้าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

           นอกเหนือจากการที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นให้มนุษย์แต่ละคนพัฒนาองค์ธรรมความสุจริตทั้ง ๓ มิติ คือ กายสุจริต วาจาสุจริต และจิตใจสุจริตดังที่ได้นำเสนอแล้ว  ทรงตรัสสอนโดยการขยายความชุดธรรมนี้ว่า เมื่อปฏิบัติตัวดำรงตนอยู่ในหลักการนี้อย่างสม่ำเสมอแล้ว จะก่อให้เกิดความสุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าด้วยเช่นกัน ดังพุทธพจน์ว่า 

 “บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต  ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต
ผู้มีปกติประพฤติธรรม  ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้ และโลกหน้า”
[๑๐]

   

           นอกจากนี้ พระองค์ทรงตรัสเตือนว่า

“ลุกขึ้นเถิด อย่ามัวประมาทอยู่เลย
จงประพฤติสุจริตธรรม
เพราะผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
[๑๑]

          จะเห็นว่า พระดำรัสดังกล่าว ทรงกระตุ้นเตือนให้เกิดแรงบันดาลใจ  โดยทรงเน้นว่า การลุกขึ้นใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทนั้น มีนัยที่สะท้อนถึงการให้มนุษย์แต่ละคนยึดมั่นอยู่ในสุจริตธรรม เพราะเมื่อมนุษย์ยึดมั่นอยู่ในสุจริตธรรมโดยการสุจริตต่อธรรมแล้ว  ธรรมนั้นจะทำหน้าที่รักษามนุษย์แต่ละคนด้วยความสุจริตเช่นกัน  ประเด็นสำคัญมิได้หมายถึงการที่มนุษย์สุจริตต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทั้งในการดำเนินชีวิตและการทำงาน แต่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยความ “สุจริตต่อธรรม”  เมื่อนั้นธรรมจะทำหน้าที่รักษาผู้ประพฤตธรรมด้วยความสุจริตเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การประพฤติดี และประพฤติชอบที่สอดคล้องต่อธรรม ธรรมจะทำหน้าที่รักษาให้ชีวิตแต่ละคนดี และดำรงมั่นอยู่ในความชอบธรรมเช่นกัน

          พระพุทธดำรัสดังกล่าว นับว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    ภูมิพลอดุลเดชฯ ที่ทรงพระราชทาน ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทั้งปวง จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดในตัวเอง เพื่อจักได้เป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่งคง...””  ความสุจริตจึงถือได้ว่า เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชีวิตสะอาด เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านได้ใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทั้งในการดำเนินชีวิต การประกอบสัมมาชีพ การทำงาน และการเข้าไปเกี่ยวกับข้องกับคนอื่นในชุมชน

          เมื่อนำพระพุทธพจน์มาเชื่อโยงกับพระราชดำรัสกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพบประเด็นที่สอดรับ และเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญดังนี้

      

 

 การดำเนินชีวิตด้วยหลัก “สุจริตธรรม” หรือ “ความซื่อสัตย์สุจริต”  อันเป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักรู้ว่า การดำรงตนอยู่ในครรลองของสุจริตธรรมนั้น  ธรรมะจะรักษาที่คนที่คิด พูด และทำอย่างสุจริตให้มีความสุขทั้งในโลกนี้ และโลกอื่น ตลอดเวลาในการดำเนินชีวิต และความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นพื้นฐาน หรือตัวชี้วัดความดีงามในการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นๆ ในสังคม

ชีวิตที่สะอาดตามความมุ่งหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว สอดรับกับพุทธพจน์อย่างมีนัยสำคัญดังบทว่า “มหาบุรุษทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม ในการฝึก ในความสำรวมในความสะอาด ในศีลที่เป็นอาลัย ในอุโบสถกรรม ในความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในกรรมอันไม่สาหัส ทรงสมาทานมั่น ทรงประพฤติอย่างรอบคอบ[๑๒] ซึ่งคำว่า “สะอาด” ในคำว่า “ชีวิตสะอาด” นั้น หมายถึง ความสะอาดใน ๓ มิติ คือ  สุจริต ๓ ประการ คือ กายสุจริต (ประพฤติชอบด้วยกาย) (๒) วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา (๓) มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ[๑๓] กล่าวคือ ชีวิตสะอาดที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งเน้นนั้นสอดรับกับความสะอาดตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าที่มีพระประสงค์ให้พัฒนาความสะอาดที่ดำรงอยู่บนฐานของความสุจริตทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ  และความสุจริตดังกล่าวจึงได้กลายเป็นพื้นฐานความดีทุกประการดังที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเน้น

การยึดมั่นอยู่ใน “สุจริตธรรม” มิได้ส่งผลดีต่อการดำเนินในปัจจุบันเท่านั้น แต่ได้ขยายผลดีไปสู่ชีวิตในอนาคตเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชีวิตหลังความตาย” ดังที่มีคำถามถึงพระพุทธเจ้าว่า “อะไรหนอ เป็นเหตุปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ หลังจากตายไปแล้วจะเข้าถึงความเป็นอยู่กับเทพทั้งหลายผู้นำเนื่องในหมู่คันธัพพเทพ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต...  นี้แล เป็นเหตุปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ หลังจากตายไปแล้ว จะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพทั้งหลายผู้นับเนื่องในหมู่คันธัพพเทพ[๑๔]

  นอกจากนี้ พระองค์ทรงย้ำให้เห็นความสำคัญของการยึดมั่นอยู่ในสุจริตธรรมจะก่อให้เกิดความสุขในทุกเวลาของการดำเนินชีวิตว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติอบด้วยกาย (กายสุจริต) ประพฤติชอบด้วยวาจา (วจีสุจริต) ประพฤติชอบด้วยใจ (มโนสุจริต) ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น  ประพฤติชอบในเวลาเที่ยง ก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติชอบในเวลาเย็นก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น” [๑๕]

          สรุปแล้วจะเห็นว่า  การยึดมั่นอยู่ในสุจริตธรรมนั้นจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิต และการยึดมั่นดังกล่าว จะก่อให้เกิดความสุขในทุกเวลาของการประพฤติและปฏิบัติ  ซึ่งสุจริตธรรมจะทำหน้าที่ในการดูแลรักษาคนที่ปฏิบัติให้มีความสุขทั้งเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาเย็น  อีกทั้งสุจริตธรรมที่พัฒนาให้เกิดมีในจิตใจนั้น จะส่งผลต่อการทำงาน ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกต่อไป

๕. ความสุจริต: จากรากฐานของความดีสู่ความสะอาดของชีวิตและประเทศชาติ

          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงเห็นคุณค่าและความสำคัญของความซื่อสุจริตว่ามีความสำคัญต่อการเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาความดีให้เกิดขึ้นทั้งภายในจิตใจ และภายนอกที่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อการในสังคม จึงทรงพระราชทาน ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ที่ว่า “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง  จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดในตัวเอง เพื่อจักได้เป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่งคง”    จากพระราชดำรัสนี้ทำให้พบประเด็นของชุดความคิดใน ๒ ประเด็นใหญ่ คือ (๑) ความสุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง  และ (๒) ชีวิตที่สะอาด   หากเชื่อม ๒ ชุดความคิดนี้เข้าด้วยกัน จะพบว่า ความสุจริต นอกจากจะเป็นเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่างแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องให้ชีวิตมนุษย์มีความสะอาดด้วย ซึ่งความสะอาดนั้นมีค่าเท่ากับความซื่อสัตย์สุจริต  สรุปได้ว่า บุคคลใดก็ตามดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมนับถือว่าสะอาด และเจริญมั่นคง

          ด้วยเหตุดังกล่าว คำว่า “ชีวิตสะอาด”  จึงเกิดขึ้นบนฐานของความสุจริตทั้งมิติของความสุจริตทั้งมิติของกายที่สุจริตไม่แสดงออกถึงการคดโกงทุจริต (กายสุจริต) การไม่ใช่วาจาบิดเบือน หรือสื่อสารเพื่อให้มาซึ่งสิ่งต่างๆ ที่มิควรมีควรได้ (วจีสุจริต) และการไม่คิดมุ่งหวังที่จะได้ประโยชน์เพื่อหาช่องทางแย่งชิง หรือทุจริตคิดคด (มโนสุจริต)  การพัฒนาชีวิตที่สะอาดจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการพัฒนากลุ่มบุคคลเชิงปัจเจกในครอบครัว คือ “พ่อ แม่ และลูก” เพื่อให้มีชีวิตสะอาด  เมื่อนั้น ครอบครัวเหล่านั้นจะสะอาด ความสะอาดของแต่ละครอบครัวย่อมส่งผลทำให้หมู่บ้านสะอาด  อันจะต่อเนื่องไปสู่สังคม ประเทศชาติ และโลกสะอาดมากยิ่งขึ้นอันมีผลมาจากชีวิตของแต่ละคนในครอบครัวสะอาด ดังจะเห็นได้จากภาพดังนี้


 

จากภาพข้างบนจะพบประเด็นสำคัญว่า “รากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาชีวิตให้สะอาดโดยการยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมความสุจริต”  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระองค์ทรงจุดประกายให้มนุษย์แต่ละคนได้เห็นมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตให้สะอาดโดยการยึดมั่นอยู่ในความสุจริต” และหากขยายความของคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” นั้น หมายถึง ความสุจริตทั้งกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เพราะเมื่อกายมีอาชีพที่สุจริต พฤติกรรมไม่มุ่งแย่งชิง หรือทุจริตคดโกง จิตใจไม่ละโมบโลภมาก และปัญญาที่ไม่แสวงหาช่องทางทุจริต ย่อมส่งผลถึงความสุจริตของครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ และลูกด้วย  ความสะอาดของแต่ละครอบครัวจึงส่งผลต่อความสะอาดของหมู่ในภาพรวมอันเป็นหน่วยนับรวมของครอบครัว และจะส่งผลต่อสังคม ประเทศชาติให้มีความสะอาดต่อไป ดังนั้น หากชีวิตแต่ละคนสะสมความสะอาดสุจริตได้มากขึ้น ย่อมส่งผลต่อประเทศชาติในฐานะที่จะมีภูมิคุ้มกันการทุจริตคดโกงต่อไป

๖. หลักธรรมที่สนับสนุนและส่งเสริมความสุจริต

          การพัฒนาความสุจริตให้ส่งผลในเชิงบวกต่อชีวิตของแต่ละบุคคลนั้น จำเป็นต้องอาศัยหลักธรรมอื่นๆ เข้ามาช่วยเป็นพลังเสริม เพื่อการพัฒนาองค์ธรรมข้อนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และเกิดรูปธรรมในการแสดงออกต่อตัวเองและสังคมมากยิ่งขึ้น  สำหรับหลักธรรมที่สามารถนำมาสนับสนับสนุนความสุจริตทางกาย วาจา และใจนั้น  ประกอบด้วยหลักธรรมอย่างน้อย ๓ ชุดดังต่อไปนี้

(๑) หลักหิริโอตตัปปะ   คำว่า “หิริ” หมายถึง “การละอายต่อบาป” ซึ่งคำว่า “บาป” หมายถึง “สิ่งที่ทำให้จิตใจเสีย คือมีคุณภาพต่ำลง ไม่ว่าจะเสียในแง่ใดล้วนเรียกว่าบาปทั้งสิ้น สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง บาปหมายถึงสิ่งที่มนุษย์นั้นไม่ควรกระทำ ไม่ว่าด้วยทาง กาย วาจา หรือใจ เพราะเป็นสิ่งที่พึงจะนำทุกข์มาให้แก่ตนและผู้อื่น  บาปในบริบทนี้  คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “สุจริต” นั่นคือ “ทุจริต”  ฉะนั้น หิริ จึงหมายถึงการเกรงกลัวต่อความทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่งที่มนุษย์กำลังตัดสินใจกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตทางใจที่เริ่มจากการคิดและมุ่งหวังจะคดโกง หรือคอร์รัปชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดแสวงหาช่องทางที่จะกระทำ  เมื่อตัดสินใจแล้วจึงนำกายไปคดโกงด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการใช้วาจาพูดจาหว่านล้อม หรือบิดเบือนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองปรารถนา

ในขณะที่โอตัปปะ หมายถึง “การเกรงกลัวต่อผลของบาปที่จะเกิดขึ้นตามมา”   การที่มนุษย์ตระหนักรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังที่ได้ตัดสินใจทุจริตคดโกงด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับได้ การติดคุก และการเสียชื่อเสียงเกียรติภูมิของตัวเอง และตระกูล จึงจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มนุษย์หยุดยั้งที่จะตัดสินใจประพฤติทุจริตคดโกงทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น หรือสมบัติสาธารณะ

หลักธรรมว่าด้วยหิริโอตัปปะ อันหมายถึงความละอายต่อบาป และเกรงกลัวต่อผลบาปที่จะเกิดตามมานั้น ถือได้ว่า เป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ยึดมั่นอยู่ในความสุจริตทั้งางใจ กาย และวาจา   แต่เมื่อใดก็ตามที่ธรรมคู่นี้ล้มสลายลงไปจากใจ จะทำให้มนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมกันในโลกได้อย่างมีสันติสุข เพราะหลักธรรมชุดนี้ ถือได้ว่าเป็นธรรมสำหรับคุ้มครองโลก เพื่อให้ชาวบ้านละอาย และเกรงกลัวที่จะทำให้ผิดพลาดบกพร่องต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ไม่ละอาย และเกรงกลัวต่อผลของบาปที่จะเกิดตามมาคือ “ความโลภ”  จากกรณีศึกษาจำนวนมากพบว่า เมื่อมนุษย์ถูกความโลภครอบงำ จะกลายเป็นแรงจูงใจให้มนุษย์เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในคัมภีร์พระไตรปิฎก คือ “กรณีที่เกิดขึ้นในอัคคัญสูตร” ที่ประชาชนอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม  ทั้งนี้ เมื่อข้าวสาลีเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มนุษย์จะเก็บข้าวรับประทานเพียงเพื่อประทังความหิว เมื่ออิ่มแล้วก็กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง  แต่เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป มนุษย์บางกลุ่มสนใจเฉพาะความอยู่รอดของตัวเอง รวมไปถึงครอบครัวของตนเอง จึงเกิดการสะสมโดยการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีที่เป็นสมบัติสาธารณะไปเป็นของตนเอง โดยมิได้สนใจความอยู่รอดของคนอื่น  จึงตัดสินใจเก็บเกี่ยวไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่สนใจ และกลัวว่าคนอื่นๆ จะอยู่รอดหรือไม่  จากความไม่ละอายใจต่อเพื่อนร่วมสังคม และไม่เกรงกลัวว่าสังคมจะตำหนิหรือไม่ดังกล่าว จะทำให้สังคมเกิดความโกลาหล และขาดสันติสุขจนเป็นที่มาของการทุบต่อ และตำหนิซึ่งกันและกัน   ฉะนั้น ความละอายและความเกรงกลัวจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการคุ้มครองโลกและสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขมากยิ่งขึ้น

(๒) หลักสัมมาอาชีพ  สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือการแสวงหาปัจจัยมาบริโภคที่มิชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง เว้นการประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ หรือก็คือการแสวงหาลาภโดยไม่ประกอบด้วยความเพียร (สัมมาวายามะ ) คือขี้เกียจ อยากได้มาง่ายๆโดยไม่อาศัยกำลังแห่งสติปัญญาและแรงกาย ซ้ำโลภจนไม่ชอบธรรม เช่น ทุจริตคดโกง การเบียดเบียนลูกจ้าง และทำลายสิ่งแวดล้อม

หลักสัมมาอาชีพ สะท้อนถึงการไม่ประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยภาพรวม  ซึ่งหลักพระพุทธศาสนาได้ให้กรอบเอาไว้ ๕ ประการ คือ (๑) สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข (๒) สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก การค้าทาส ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ รวมถึงการขายตัวหรือขายบริการทางเพศทั้งของตัวเองและผู้อื่น (๓) มังสวณิชชา หมายถึง ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (๔) มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด รวมถึงการเสพเอง และ (๕) วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์

การเข้าไปเกี่ยวข้องมิจฉาชีพทั้ง ๕ ประการดังกล่าว จะเป็นตัวแปร หรือปัจจัยเกื้อหนุนให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโอกาสต่างๆ ต่อไป  เพราะอาชีพเหล่านี้มักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีอิทธิพล และกลุ่มผลประโยชน์ในลักษณะต่างๆ  ฉะนั้น การยึดมั่นในสัมมาอาชีพ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ตั้งมั่นอยู่ในความสุจริตทั้งทางใจ กาย และวาจา และประสบความสำเร็จดังที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า    “ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม ไม่ประมาท[๑๖

(๓) หลักสันโดษ   ความสันโดษ คือ ความยินดี ความพอใจ คือความรู้จักพอดี ความรู้จักพอเพียงมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ  (๑) ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่ได้มา ด้วยเรี่ยวแรงของตนในทางชอบธรรม ไม่ดิ้นรนอยากได้จนทำให้เกิดความเดือดร้อน (๒) ยินดีพอใจกำลังของตน ใช้กำลังที่มีอยู่ เช่นความรู้ ความสามารถให้เกิดผลเต็มที่ ไม่ย่อหย่อนบกพร่อง (๓) ยินดีพอใจแต่ไม่เกินเลย คือรู้จักพอเป็น อิ่มเป็น และแบ่งปันส่วนที่เกินเลยไปเอื้อเฟื้อผู้อื่นตามสมควร  ความสันโดษ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความพอดีในชีวิตประจำวัน ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ไม่เขียมเกินไป ไม่ฟุ้งซ่านจนเกิดเดือดร้อน เป็นต้น เป็นแนวปฏิบัติกลางๆ เพื่อให้ชีวิตมีความอิ่ม ไม่พร่อง อันเป็นเหตุให้มีความสุขดังคำกล่าวที่ว่า "รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน"

          ความสันโดษเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในการพัฒนาความสุจริตให้เกิดขึ้น  เพราะเมื่อมนุษย์ยินดี และพอใจการแสวงหาทรัพย์ตามศักยภาพของตนเองแล้ว ย่อมเป็นการง่ายที่จะประพฤติตัวและดำรงตนอยู่ในฐานะของความสุจริต ไม่พยายามที่จะแสวงหาช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันสมบัติสาธารณะหรือสมบัติที่บุคคลอื่นๆ รัก และหวงแหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า “จงสันโดษในสิ่งเสพ แต่อย่าสันโดษในกุศลธรรม”  เมื่อแต่ละคนสันโดษในสิ่งเสพ ย่อมเป็นการง่ายที่จะดำรงตนอยู่ในความสุจริต  อีกทั้งเป็นการพัฒนาตัวสุจริตธรรมให้เจริญ และมีขึ้นภายในจิตใจ  สุจริตธรรมจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันมิให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

 

๗. แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาความสุจริตที่เหมาะสมแก่ชีวิตและสังคมไทยปัจจุบัน

          เมื่อกล่าวถึงการพัฒนาองค์ธรรมเรื่อง “ความสุจริต” ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคมนั้น  ต้องอาศัยทั้งปัจจัยภายใน (โยนิโสมนสิการ) โดยการคิดวิเคราะห์ถึงผลดีจากการยึดมั่นอยู่ในสุจริตธรรมอย่างรอบด้าน ในขณะเดียวกัน ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก (ปรโตโฆษะ) หรือสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้ามากระตุ้นเตือนให้เกิดการศึกษา และเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง  ฉะนั้น กระบวนการพัฒนาจึงมี ๓ ระดับ คือ (๑) ต้องเปิดพื้นที่ให้ความรู้ และความเข้าใจอย่างรอบด้าน (Cognitive)  (๒) ความเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude Change) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน อันเนื่องมาจากการเห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งที่เรียนรู้ และ (๓) การมีพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสมในมิติของความสุจริตที่แสดงออกโดยการไม่คดโกงคอร์รัปชันสมบัติของบุคคลอื่นๆ หรือสมบัติสาธารณะที่เป็นของสังคม  สำหรับแนวทางในการดำเนินการนั้น ควรประกอบด้วยประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

           (๑) การจัดการความรู้เกี่ยวกับความสุจริต  จุดเริ่มต้นในการดำเนินการด้วยเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับความสุจริตเพื่อให้เป็น “ศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับความสุจริต”  โดยการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับ “สุจริต” หรือการจัดการความรู้เกี่ยวกับความสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำวิจัย   หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  และสภาวิจัยแห่งชาติควรให้นำหนักโดยการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านทั้งในเชิงลึก และด้านกว้าง ซึ่งเน้นการศึกษาในภาคทฤษฏี เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลพื้นฐานของหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับความสุจริตของตะวันตกและตะวันกออก ครอบคลุมถึงหลักการที่ปรากฏอยู่ในศาสนาต่างๆ  ตัวแปรสำคัญที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจลึกซึ้งคือแง่มุมเชิงลึกที่มีอยู่ในศาสนา เพราะหลักการศาสนาจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ศาสนิกชนต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ และนำเสนอในมิติอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ ควรนำข้อมูลดังกล่าวไปสู่เวทีของการสัมมนาเชิงวิชาการอันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างนักการศาสนา นักวิชาการ และนักปฏิบัติของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เพื่อที่จะได้อธิบาย ตีความ และประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับหลักการของศาสนา และค่านิยมทางสังคมต่อไปนี้

           (๒) การจัดทำแผนที่ว่าด้วยความสุจริต แผนที่ว่าด้วยความสุจริต (Integrity Map) จะเป็นแผนที่ซึ่งสำรวจความสุจริตในทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมไปถึงจังหวัดต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ  รวมไปถึงหน่วยงาน กรม กระทรวง และบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อที่จะได้วิเคราะห์สภาพความสุจริตขององค์กรต่างๆ  รวมไปถึงการวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค ปัจจัย และตัวแปรในการพัฒนาศักยภาพความสุจริตและโปร่งใส  แนวทางการจัดทำแผนที่ความสุจริตดังกล่าวจะต้องมองให้เห็นภาพทั้งระบบ แต่ในระบบใหญ่จะมีระบบย่อยที่แบ่งออกเป็นภาค เป็นองค์กร และหน่วยงานที่เป็นภาครัฐและเอกชน  ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

           (๓) การค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าด้วยการเสริมสร้างความสุจริต  สังคมไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และเสริมสร้างความสุจริตในหลายมิติ ที่ครอบคลุมในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยแยกย่อยออกไปตามชุมชน และหมู่บ้านต่างๆ  แนวทางในการศึกษาเพื่อพัฒนาความสุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จำเป็นต้องกลับไปวิเคราะห์ฐานรากทางวัฒนธรรม และประเพณีที่เป็นจุดแข็งของแต่ละชุมชน แล้วนำจุดแข็งดังกล่าวมาพัฒนาและต่อยอดให้สอดรับกับสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองต่อไป

           (๔) การพัฒนาองค์กรสุจริตต้นแบบ  การเสริมสร้าง และพัฒนาองค์กรต้นแบบด้านสุจริต ถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้สังคม และองค์กรต่างๆ ได้กลับมาพิจารณาตัวแบบที่ดีดังกล่าว แล้วนำตัวแบบที่ดีไปพัฒนาและต่อยอดให้สอดรับกับองค์กรของตัวเอง  ด้วยเหตุนี้ องค์กรต้นแบบจะกลายเป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้จากองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ  โดยให้องค์กรต้นแบบได้ทำหน้าที่ในการฝึกฝน และพัฒนาองค์กรอื่นๆ ให้พัฒนาจุดแข็งของตัวเองต่อไป เพื่อให้การพัฒนาองค์กรต้นแบบได้ขยายตัวออกไปสู่องค์กรอื่นๆ หรือภูมิภาคอื่นๆ

           (๕) การพัฒนา และต่อยอดหมู่บ้านช่อสะอาดสู่หมู่บ้านสุจริตอย่างยั่งยืน  ตามที่นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ ๕ ได้เข้าไปร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์รุ่นโดยการร่วมกันพัฒนา “หมู่บ้านช่อสะอาด” นั้น รากฐานสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดคือ “ความสุจริต”  จึงสมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกระทรวงมหาดไทย จะได้เข้าไปช่วยสนับสนุนกิจกรรมและโครงการดังกล่าวให้เกิดความยั่งยืน รวมไปถึงการขยายฐานการพัฒนาไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ อีกกว่า ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน  เพื่อให้หมู่บ้านเหล่านั้นเป็นหมู่บ้านที่ยึดมั่นอยู่ในหลักการแห่งความสุจริต  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำ “บวร” คือ บ้าน วัด และโรงเรียนมาร่วมเป็นกลไกในการพัฒนาและส่งเสริมความสุจริตให้มีความยั่งยืน  การพัฒนาโดยยึดหมู่บ้านเป็นฐานนั้น จะนำไปสู่การบ่มเพาะสุจริตธรรมให้เจริญเติบโตขึ้นภายในใจของประชาชนในชุมชนต่อไป

           (๖) การจัดหลักสูตรพัฒนาสุจริตธรรมสู่ชีวิตสะอาดอย่างยั่งยืน   การจัดหลักสูตรนี้จะส่งผลในเชิงบวกต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งฐานราก  โดยการปลูกฝังหลักสุจริตธรรมตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย  โดยใส่ประเด็นนี้หลังไปในวิชาหน้าที่พลเมือง และศีลธรรม  เพื่อให้เยาวชนเกิดค่านิยมโตไปแล้วไม่โกง  ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรนี้จะต้องเชื่อมโยงเข้ากับบริบทของประชาคมอาเซียน โดยนำบริบทของประเทศที่มีมาตรฐานความโปร่งใสมาเป็นฐาน หรือต้นแบบในการเรียนรู้ ผสานเข้ากับกิจกรรมยุวทูตช่อสะอาดในประชาคมอาเซียน   หลักสูตรเหล่านี้ ควรเป็นการจัดการร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน และองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ   ซึ่งจะทำให้ได้ยุวชนคนช่อสะอาด และเป็นต้นแบบให้เยาวชนกลุ่มอื่นๆ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนต่อไป

           (๗) การจัดทำตัวชี้วัดว่าด้วยการพัฒนาสุจริตธรรม  สิ่งสำคัญในเชิงวิชาการคือ การจัดทำตัวชี้วัดว่าด้วยความสุจริต ซึ่งสามารถทำตัวชี้วัดในทุกระดับ โดยเริ่มจากระดับอนุบาล ควรมีตัวชี้วัดให้เด็กอนุบาลได้ซึมซับและพัฒนาอย่างไร รวมไปถึงระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย  ในทุกระดับเหล่านี้ ต้องมีตัวชี้วัดที่จะกำหนดค่ามาตรฐานในการพัฒนาสุจริตธรรม  ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้ จะไปสัมพันธ์กับเนื้อหา กิจกรรม โครงการ และเป้าหมายในการพัฒนาในระดับต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาสุจริตธรรมมีความเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

 

๘. สรุป และวิเคราะห์

          บทความทางวิชาการ เรื่อง “สุจริตธรรมในฐานะเครื่องมือป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยปัจจุบัน” นี้  ผู้เขียนได้กำหนดกรอบที่จะศึกษาความหมาย คุณค่าและความสำคัญ  หลักธรรมที่เข้ามาสนับสนุนกระบวนการพัฒนาความสุจริต และแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาหลักสุจริตธรรมที่เหมาะสมแก่ชีวิตและสังคมไทยยุคปัจจุบัน   จากการศึกษาแง่มุมต่างๆ ทำให้พบคำตอบที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน

เมื่อกล่าวถึงความหมายของความสุจริตนั้น เมื่อวิเคราะห์ความหมายของ “สุจริต” โดยพยัญชนะ จะประเด็นที่น่าสนใจว่า “สุจริตสะท้อนแง่มุมของการประพฤติดี การประพฤติงาม และการประพฤติง่าย” ความหมายโดยพยัญชนะในสองความหมายแรกอาจจะทำให้เราเข้าใจ เพราะมีการแปลโดยทั่วไปตามที่ปรากฏในราชบัณฑิตยสถาน แต่ถ้ากล่าวถึงความหมายว่า “การประพฤติง่าย” นั้น เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของการกิน การอยู่ และการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ซึ่งความเรียบง่ายจะปรากฏผ่านหลักธรรมข้อ “สันโดษ” ที่ยินดีตามที่ได้ และพอใจตามที่มี โดยไม่ใช้อำนาจ และหน้าที่เข้าไปกระทำการบิดเบือนเพื่อให้ได้มาซึ่งสมบัติสาธารณะที่มิควรมีควรได้  หรือแย่งชิงทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น

ในขณะที่ความหมายโดยอรรถนั้น ความสุจริตนั้นสะท้อนแง่มุมทั้งในเชิงอัตตะวิสัย  และภาวะวิสัย  ในเชิงอัตตะวิสัยนั้น  ได้รับการอธิบายโดยอาศัยความรู้ หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงบางประการของบุคคลเป็นสำคัญ  ถ้าความไม่รู้นั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้กระทำ ก็ถือได้ว่าไม่สุจริตเช่นเดียวกัน ในขณะที่เชิงภาวะวิสัย เป็นหลักการพื้นที่ที่มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับความซื่อสัตย์ ความเป็นธรรม ความมีเหตุผล การปกป้องความไว้วางใจ การคำนึกถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความประพฤติชอบ และการประพฤติในทางที่ถูกต้อง  ซึ่งเป็นสะท้อนถึงการประพฤติในเชิงบวกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเองและสังคม

          หลักสุจริตธรรมนั้นจัดได้ว่าเป็นรากฐานความดีทุกประการ เพราะหากบุคคลใดมีหลักสุจริตธรรมภายในจิตใจ จะกลายเป็นบุคคลที่มีชีวิตที่สะอาด  ทั้งทางจิตใจ ทางกาย และทางวาจา  ซึ่งความสะอาดของชีวิตทั้ง ๓ ด้านนั้น จะส่งผลโดยต่อการเป็นอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายในครอบครัว ชุมชน องค์กร  สังคม และประเทศชาติ รวมถึงก้าวไปสู่การสร้างความสะอาดในระดับโลกด้วย จะเห็นว่า ความสะอาดในสังคม หรือระดับประเทศนั้น จึงมีรากฐานสำคัญมากจากความสะอาดในเชิงปัจเจกของประชาชนในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาความสะอาด จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นมาจากฐานรากของชุมชนคือทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จงตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความดี โดยการประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมให้ทุจริต  เพราะสิ่งที่จะรักษามนุษย์และสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขคือสุจริตธรรมนั่นเอง

          ถึงกระนั้น การที่จะส่งเสริม และพัฒนาความสุจริตได้อย่างครอบคลุมได้นั้น ควรที่จะนำหลักหิริ   โอตัปปะ คือ ความละอายต่อบาป หรือความทุจริต และความเกรงกลัวต่อผลของบาป คือการทุจริต อีกทั้งนำหลักสัมมาอาชีวะ หรือสัมมาชีพเข้ามาช่วยกระตุ้นเตือน เพราะสัมมาชีพ หรือการทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น ควรอยู่บนครรลองของความสุจริต ไม่แสวงหาช่องทาง หรือบิดเบือนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ในช่องทางที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน อันจะส่งผลเสียในภาพรวมต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ

          ในขณะที่แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาสุจริตธรรมให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคมนั้น ควรจะเริ่มต้นด้วยการจัดการความรู้เกี่ยวกับความสุจริต   การจัดทำแผนที่ว่าด้วยความสุจริต  การค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าด้วยการเสริมสร้างความสุจริต  การพัฒนาองค์กรสุจริตต้นแบบ  การพัฒนา และต่อยอดหมู่บ้านช่อสะอาดสู่หมู่บ้านสุจริตอย่างยั่งยืน  การจัดหลักสูตรพัฒนาสุจริตธรรมสู่ชีวิตสะอาดอย่างยั่งยืน   และการจัดทำตัวชี้วัดว่าด้วยการพัฒนาสุจริตธรรม 

          บทบาท และหน้าที่ในการพัฒนา และส่งเสริมความสุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น จึงไม่ควรผลักภาระให้แก่กลุ่มคน หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง  แต่ควรเริ่มต้นปลูกฝัง และกระตุ้นเตือนในทุกองคาพยพในสังคมไทย  ในขณะที่แง่มุมด้านการศึกษานั้น ควรเสริมสร้างพลังสุจริตเข้าไปในหลักสูตรที่ว่าด้วยวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม เพื่อให้เด็กเยาวชนละลายชั่ว และเกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริต อันจะส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมโตไปแล้วไม่โกงประเทศชาติบ้านเมือง  ซึ่งจะทำให้พลเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

          การที่สังคมกระตุ้นเตือนให้มีการตระหนักรู้ในคุณค่าและความสำคัญของ “สุจริตธรรม” อย่างต่อเนื่องผ่านโพล และงานวิจัยต่างๆ นั้น สะท้อนให้เห็นถึงการที่กลุ่มคนทั่วไป ทั้งผู้นำ ภาคข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ  ไม่ประพฤติตัวและดำรงตนให้สอดรับกับหลักการสุจริตดังกล่าว  และผลกระทำที่ตามมาคือความสูญเสียงบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก การพัฒนาที่ล้าหลัง การก่อสร้างที่ขาดมาตรฐาน และศักยภาพในการแข็งขันกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน และระดับโลกที่ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพราะต้องจ่ายส่วนต่างๆ จำนวนมากให้แก่บุคคลบางกลุ่ม  ฉะนั้น การกระตุ้นเตือนความสุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทยจนกลายเป็นค่านิยมหลักนั้น จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เหมาะแก่การลงทุน และการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ บนฐานของความรัก แบ่งปัน เคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน


[๑] ดูเพิ่มเติมใน http://www.naewna.com/politic/127762  เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

[๒] สุจริตมีปรากฏในจักวัตติสูตร ดังบาลีว่า “ธมฺมนฺติ ทสกุศลกมฺมปถธมฺมํ”  (ที.ปา.อ.๘๔/๓๔) กุศลกรรมบถ แปลว่า ทางแห่งกรรมดี หรือทางที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ ที่เน้นความดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ.

[๓] ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล, กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป: คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช มาตรา ๔-๑๔, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๘), น. ๖๕.

[๔] J.F O’ Cornor, Good Faith in International Law (Aldershot: Dartmouth Publishing Company Limited, 1991), p. 6-7.

[๕] J.F O’ Cornor, Good Faith in International Law, pp. 7.

[๖] สิทธิโชค ศรีเจริญ, “หลักสุจริตในการปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย,วารสารกฎหมาย ๗, (๑ มิถุนายน ๒๕๒๕), ๕๒.

[๗] ปรีดี เกษมทรัพย์, หลักสุจริตคือหลักความซื่อสัตย์และความไว้วางใจ, ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ดร.สมศักดิ์ สิงหพันธ์ (ม.ป.ท.,๒๕๒๖).

[๘] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ใน http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=6051 เข้าถึงเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗.

[๙] J.F.O ‘Cornor, supra note 1, p 124, Simon Whittaker and Reinhard Zimmermann, Supra note 8, p. 31.

[๑๐]  ธมฺมํ จเร สุจฺจริตํ           น ตํ ทุจฺจริตํ จเร
                 ธมฺมจารี สุขํ เสติ
           อสมึ โลก ปรมฺหิ จฯ
                 ดูใน พระไตรปิฏกภาษาไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๐๘ หน้าที่ ๘๕.

[๑๑] อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย
                ธมฺมํ สุจริตํ จเร
                ธมฺมจารี สุขํ เสติ
                อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จฯ
                
ดูใน พระไตรปิฏกภาษาไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ) เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๐๘ หน้าที่ ๘๕.

 

[๑๒] พระไตรปิฎกภาษาไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ)  เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๒๐๓ หน้าที่ ๑๖๕.

[๑๓] ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อรรถกถา  ข้อที่ ๒๐๗ หน้าที่ ๑๑๒.

[๑๔] พระไตรปิฎกภาษาไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ)  สังยุตตนิกาย ขันธวรรค เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๓๙ หน้าที่ ๓๖๓-๓๖๔.

[๑๕] พระไตรปิฎกภาษาไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ)  อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๑๕๖ หน้าที่ ๓๙๙-๔๐๐.

[๑๖] พระไตรปิฏกภาษาไทย (ฉบับมหาจุฬาฯ)  ขุททกนิกาย ธรรมบท เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๘

 

(ที่มา: บทความวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕