หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหากฤษณะ ตรุโณ » การวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา
 
เข้าชม : ๗๗๑๒ ครั้ง

''การวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา''
 
พระมหากฤษณะ ตรุโณ (2556)

 

การวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา

A Philosophical Analysis of Thai Way of Life

 

พระมหากฤษณะ ตรุโณ, ผศ.,ดร.

          พธ..(การบริหารการศึกษา),

พธ..(ปรัชญา), Ph.D.(Philosophy)

กฤต ศรียะอาจ

พธ..(ปรัชญา), M.A ( Philosophy)

 

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย และวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีการเก็บข้อมูลจากตำรา เอกสาร และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในเชิงลึก ผลการวิจัยพบว่า

1. คนไทยกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเภท คือประเภทปราชญ์ชาวบ้าน ประเภทครูมีประสบการณ์การสอน 10 ปีขึ้นไป ประเภทครูดีเด่น ประเภทพระภิกษุผู้ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ประเภทเภสัชกร ประเภทแม่ดีเด่นแห่งชาติ และประเภทพ่อตัวอย่างแห่งชาติ ในทุกประเภทมีอาชีพต่าง ๆ กันคืออาชีพเกษตรกรรม อาชีพครู อาชีพเภสัชกร อาชีพค้าขาย อาชีพนักธุรกิจ อาชีพตำรวจ และเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา สาขาอาชีพและบุคคลที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่มีจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เกิดความดีงาม และเป็นประโยชน์ สำหรับอาชีพเกษตรกรรมผู้วิจัยค้นหาไม่พบจึงประมวลเอาตามความเข้าใจ และสำหรับพระภิกษุผู้วิจัยเห็นว่าจรรยาบรรณของท่านก็คือพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนเกี่ยวกับวิธีการดำเนินชีวิตที่ดีในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ผู้มีอาชีพเป็นทหาร เป็นนักการเมือง เป็นวิศวกร เป็นสถาปนิก และเป็นแพทย์ ล้วนมีจรรยาบรรณไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเช่นกัน

2. จากการสัมภาษณ์คนไทยกลุ่มตัวอย่างในเชิงลึกเพื่อทราบการดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา พบว่าคนไทยเหล่านั้น ได้ดำเนินชีวิตตามจรรยาบรรณวิชาชีพด้วยและดำเนินชีวิตในเชิงปรัชญาด้วย ที่เห็นชัดเจนคือในเชิงญาณวิทยา คนไทยมีวิธีแสวงหาความรู้และมีวิธีการนำความรู้มาใช้ ในเชิงจริยศาสตร์ คนไทยมีความเพียรในการปฏิบัติตามหลักจริยศาสตร์ในศาสนาที่ตนนับถือ ในเชิงตรรกศาสตร์ คนไทยส่วนใหญ่รู้จักใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต ในเชิงอภิปรัชญา คนไทยมีความคิดและมีคำตอบสำหรับปัญหาอภิปรัชญาเช่นเรื่องกำเนิดของโลกซึ่งมีคำตอบหลากหลาย และในเชิงสุนทรียศาสตร์ คนไทยมีความคิดหลากหลายในเรื่องเกี่ยวกับความงาม มีความซาบซึ้งในความงามของงานศิลปะ ในคำสอนทางศาสนา ในบทกวี และวรรณคดีต่าง ๆ

คนไทยประเภทต่าง ๆ กัน ประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน มีการดำเนินชีวิตตามจรรยาบรรณวิชาชีพของตนและดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาที่ตนสนใจ รวมทั้งชอบครุ่นคิดปัญหาปรัชญาที่เป็นอุดมคติตามความสนใจและตามสภาพแวดล้อมที่อำนวยให้ชีวิตเป็นไป และสนใจปฏิบัติตามหลัก จริยศาสตร์ของศาสนาที่ตนนับถือ เช่นหลักจริยศาสตร์ของศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นต้น.

 

Abstract

 

  There are two objectives in the research; that is, to study the Thai ways of life and a philosophical analysis of Thai ways of life. It is documentary research add In-dept interview.  The result is shown that:

1. The group study was done to seven kinds of Thais people, there are divided by special quality, e.g. Local Scholar, Teacher with 10 years experient, Dominant Teacher, Monk with Srmadhammajakka Reward, Pharmacist, Dominant Mather and Dominant Father. They carry various occupations, also all pratice occupational ethics and philosophical ways of life.

2. By the process of in-dept interview found as bellows:

The seven kinds of Thais people always pratice occupational ethics and philosophical ways of life, most of them pay their role on occupations and all branch of philosophy, that is: Metaphysics, Epistemology, Ethics, Aesthetics and Logics. In Metaphysics, they thought that ‘Where the world come from?’ They take discussion and got many answers.  Also in Epistemology, Ethics, Aesthetics and logics, they put the questions, take discussion and got many answers, too.  In the case of religious ethics, they pratice with no doubt at all.

This is to show that: The Thais people always pratice occupational ethics, religious ethics and philosophical ways of life in the same action in daily life.  Also, Thais people no doubt to practice in the good ways for getting merit and benefit of ownselve and the others. 

 

บทนำ

 

ในปัญหาสังคมทุกวันนี้ หลาย ๆ คนต่างแสวงหาสิ่งที่อำนวยความสะดวกของชีวิตของตน ไม่ว่าจะอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ยารักษาโลก จนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นในสังคมคนทุกคนที่เกิดมาต่างดำเนินชีวิตของตนไปตามบทบาทและวิถีของใครของมัน สังคมไทยเป็นสังคมหนึ่งที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ ด้วยวิถีของตน การดำเนินชีวิตของคนไทยที่มีความสำเร็จทั้งหน้าที่และการงาน การครองเรือน การสร้างสรรค์สังคม อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีอยู่ในท่ามกลางปัญหาสังคมหลาย ๆ ด้าน ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีหลักการดำเนินชีวิตเป็นที่น่าสนใจว่า ท่านมีหลักการ วิธีการและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตเอาไว้อย่างไร ดังที่กล่าวว่า สถานการณ์ของชีวิต ทำให้เราคิดในเชิงปรัชญา จากประเด็นดังกล่าวทำให้มองได้ว่า ปรัชญาคือการคิดหาความจริงที่เกี่ยวกับปัญหาชีวิต โดยคิดหาความจริงในชีวิตว่า ในทางที่ถูกต้องที่สุดและมีความหมายที่สุด ชีวิตนี้คืออะไร จากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ มีขอบเขตกว้าง มีปัญหาปลีกย่อยที่ควรพิจารณา คือ

1.  ในชีวิตนี้มนุษย์ควรรู้อะไร

2.  ในชีวิตนี้มนุษย์ควรทำอะไร

3.  ในชีวิตนี้มนุษย์พอหวังอะไรได้บ้าง

การเข้าถึงปัญหาเหล่านี้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติคือการเข้าถึงปรัชญาชีวิต ในสภาพสังคมปัจจุบันเป็นสังคมแข่งขันทางวัตถุนิยม ท่านทั้งหลายเหล่านี้ ดำเนินชีวิตอย่างไร ดังจะเห็นได้จากนายประยงค์ รณรงค์ จบการศึกษาเพียงชั้น ประถมศึกษาที่ 4 ตาสามารถคว้ารางวัลแม็กไซไซ มาได้ จากรางวัลดังกล่าวทำให้รู้ว่า ความรู้นั้นไม่ได้มีเฉพาะในสถาบันการศึกษาเท่านั้น หากอยู่ที่การศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติจริง[1] การเรียนรู้ถึงแก่นของนักคิด นักปฏิบัติหรือปราชญ์ชาวบ้าน มีการพูดถึงอยู่เสมอว่า พวกเขาเหล่านี้เปรียบเสมือนรากเหง้าของแผ่นดินที่สืบสาน สร้างสรรค์ องค์ความรู้จากบรรพบุรุษ สะท้อนความเป็นภูมิปัญญาไทยมิให้สูญหายต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน ในความเป็นจริงของชีวิตนักคิดเหล่านี้สร้างสรรค์ องค์ความรู้ใหม่ ๆ อยู่ทุกวันด้วยรูปแบบและวิธีการที่เรียกว่า ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้จริงผ่านการปฏิบัติด้วยการปฏิบัติเป็นแบบอย่าง

การดำเนินชีวิตบางทีเรียกว่าปรัชญาการดำเนินชีวิตซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ท่าทีต่อชีวิต และคำว่า การมองโลก เพราะคนมีท่าทีต่อชีวิตหรือมองโลกย่างไรก็มักดำเนินชีวิตไปตามท่าทีหรือการมองนั้น ๆ ดังที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ระบุไว้ในรายงานวิจัย บทสังเคราะห์ภาพรวม การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคม ตอนหนึ่งว่า โดยหลักมาตรฐานสากลที่เรียกว่า ระบบ 3 แปด คือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ (วันละ)           8 ชั่วโมง และพักผ่อนหลับนอน (วันละ) 8 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง คนไทยพร้อมที่จะทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง แล้วก็พักผ่อน บันเทิงและนอน [2]

ในเรื่องปรัชญาการดำเนินชีวิต มีนักปรัชญาหลาย ๆ ท่านมีวิธีการดำเนินเป็นที่น่าสนใจ คือ โสคราติส ค้านต์ ขงจื๊อ หรือแม้แต่ในปัจจุบันอย่างเช่น พระพรหมคุณาภรณ์ สุชีพ  บุญญานุภาพ ท่านทั้งหลายเหล่านี้มีวิธีการดำเนินชีวิตของตนเอง ท่านแรกคือ คือโสคราตีส           (พ.ศ. 73-144) เจ้าของคำพูดปรัชญาว่า หนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้ารู้ คือรู้ว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไร สื่อให้เห็นว่า โสคราตีสเป็นผู้แสวงหาความรู้ตลอดเวลา สังเกตได้จากการที่ท่านไปเที่ยวโต้วาทะกับคนเก่งและคนมีชื่อเสียงในสังคมชาวกรีกในเวลานั้น เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ จนกระทั่งในวาระสุดท้าย ท่านยังบอกกับ เพื่อน ๆ และศิษย์ที่มาเยี่ยมว่า นักปรัชญาคือผู้แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์ แต่นักปรัชญาไม่มีวันเข้าถึงความรู้ที่สมบูรณ์หากเขายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะวิญญาณของเขาถูกคุมขังอยู่ในร่างกาย จึงขาดอิสรภาพในอันเข้าถึงสัจธรรม การประสบความตายคือการได้ปลดปล่อยวิญญาณจากเครื่องพันธนาการ เมื่อนั้นวิญญาณจะเข้าถึงความรู้ที่สมบูรณ์ นักปรัชญาผู้แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์จึงไม่กลัวความตาย การแสวงหาความรู้จึงเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตของโสคราตีส[3] ท่านที่สองคืออิมมานูเอล ค้านท์ (ค.ศ.1724-1804) ท่านเชื่อว่า เราทุกคนยอมรับว่าคุณลักษณะหรือสิ่งอื่นอาจดีได้ เช่น ความฉลาด ลาภยศ อำนาจ เกียรติยศ ความสุข ฯลฯกระนั้นความดีของสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความดีที่มีเงื่อนไข ในบางสถานการณ์สิ่งเหล่านี้อาจไม่ดีก็ได้ เจตนาดี เท่านั้นที่ดีอย่างสมบูรณ์... การกระทำและการพูดของท่านตลอดชีวิต ก็อยู่ในกรอบที่เรียกว่าเจตนาดี จึงกล่าวได้ว่า เจตนาดีเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตของท่าน[4] พระพรหมคุณาภรณ์ คติชีวิตที่อาตมายึดประพฤติปฏิบัติมาตลอดคือบัณฑิตย่อมฝึกตน คติอีกข้อหนึ่งซึ่งถือมาก่อนและต่อมาก็ถือไว้ด้วยกันคือ ถ้าจะทำอะไรต้องพยายามทำให้สำเร็จและทำให้ดีที่สุด[5]

ผู้วิจัยเห็นว่า ควรที่จะได้มีการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยว่า สอดคล้องกับปรัชญาสาขาต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ปฏิบัติเช่นนั้น เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินชีวิตของคนไทยในสมัยปัจจุบัน

 

วิธีการวิจัย

 

               รูปแบบการวิจัย เป็นแบบวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์แบบลึก

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ใช้กลุ่มตัวอย่างคนไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต 7 ประเภท ประเภทละ 2 ท่าน (เป็นอย่างน้อย) คือ 1. ประเภทปราชญ์ชาวบ้าน 2. ประเภทครูมีประสบการณ์การสอน 10 ปีขึ้นไป 3. ประเภทครูดีเด่น 4. ประเภทพระภิกษุผู้ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร 5. ประเภท เภสัชกร 6. ประเภทแม่ดีเด่นแห่งชาติ 7.  ประเภทครูพ่อตัวอย่างแห่งชาติ

การเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีเก็บจากประวัติของคนไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยดำเนินการ ดังนี้คือ ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลประวัติของคนไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จำนวน 15 ท่าน จากหนังสือประวัติบุคคลสำคัญ และหนังสืออื่น ๆ และสัมภาษณ์ ส่วนความรู้เชิงปรัชญาเก็บจากหนังสือปรัชญาทั่วไป ทำหลักฐานอ้างอิง และจัดลำดับเนื้อหาให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน

การวิเคราะห์ข้อมูล

1.  วิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูล จัดกลุ่มเนื้อหา

2.  วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบปัญหาการวิจัย

3.  เรียบเรียงและนำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบและรับรองอย่างน้อย 2 ท่าน

4.  เสนอต่อสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์เพื่อจัดพิมพ์รูปเล่ม

 

 

 

 

ผลการวิจัย

 

ในงานวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา ผู้วิจัยและคณะได้ศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก และตำราทางวิชาการต่าง ๆ และได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างคนไทยในเชิงลึก แล้วนำมาวิเคราะห์ พรรณนาความให้เห็นภาพชัดเจน

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ ศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย และศึกษาวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา จากการวิจัย พบว่า

1.  คนไทยกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเภท คือประเภทปราชญ์ชาวบ้าน ได้แก่นายเชียง ไทยดีอายุ 84 ปี จังหวัดสุรินทร์ และนายคำเดื่อง ภาษี อายุ 75 ปี จังหวัดสุรินทร์ ประเภทครูมีประสบการณ์การสอน 10 ปีขึ้นไป ได้แก่นางวรรณา วัดฟุ้งเฟื่อง อายุ 51 ปี กรุงเทพฯ นางสาวพรศิริ แก้วมาก อายุ 55 ปี กรุงเทพฯ นางสาวศุภลักษณ์ โสตถิสรรเสริญ อายุ 59 ปี กรุงเทพฯ นายเฉลิมพงษ์ นาคม อายุ 42 ปี กรุงเทพฯ นายกสิณ แสงสมพร อายุ 55 ปี กรุงเทพฯ ประเภทครูดีเด่น นางสาววราภรณ์ แสงเจริญ อายุ 45 ปี จังหวัดมุกดาหาร นางอันติกา กลางประพันธ์ อายุ 43 ปี จังหวัดมุกดาหาร นางอุไรรัก พันโกฏิ อายุ-ปีจังหวัดมุกดาหาร นางสาวมินตรา คำปาน อายุ-ปี จังหวัดมุกดาหาร ประเภทพระภิกษุผู้ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ได้แก่พระมหากมล ถาวโร  เจ้าอาวาสวัดเทพนารี กรุงเทพฯ พระมหาวัฒนา อตฺตสาโร วัดเทพากร กรุงเทพฯ ประเภทเภสัชกร  นางนฤมล ธนาคม อายุ 46 ปี นายวุฒิพง์ ธนาคม อายุ 43 ปี กรุงเทพฯ ประเภทแม่ดีเด่นแห่งชาติ ได้แก่ นางพิมพ์ใจ โพธิภักติ อายุ 58 ปี กรุงเทพฯ นางยุวดี ธัญญสิริอายุ 61 ปี จังหวัดนนทบุรี และประเภทพ่อตัวอย่างแห่งชาติ  ได้แก่นายอวบ กองสมัคร อายุ88 ปี จังหวัดตราด ดาบตำรวจสมชาย รักญาติ อายุ 57 ปี จังหวัดตราด ในทุกประเภทรวมกัน มีอาชีพต่าง ๆ กันคือ อาชีพเกษตรกรรม (ได้แก่ นายเชียง ไทยดี นายคำเดื่อง ภาษี) อาชีพครู อาชีพเภสัชกร อาชีพค้าขาย อาชีพนักธุรกิจ (ได้แก่ นายอวบ กองสมัคร) อาชีพตำรวจ และอาชีพพระภิกษุ สาขาอาชีพที่กล่าวมานั้นส่วนใหญ่มีจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เกิดความดีงาม และเป็นประโยชน์ สำหรับจรรยาบรรณวิชาชีพเกษตรกรรมตามความเข้าใจ ของผู้วิจัย ได้แก่ 1. ไม่ใช้สารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร 2. ใส่สิ่งปลอมปนลงในสินค้าเกษตร 3. กำหนดราคาไม่เกินจริง 4. มีความซื่อสัตย์เชื่อถือได้ ถ้าเกษตรกรปฏิบัติได้ตามนี้ ก็เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม คนทั่วไปให้ความเชื่อถือ คนในสังคมอยู่อย่างสงบสุข อีกประการหนึ่งผู้วิจัยเห็นว่าจรรยาบรรณของพระภิกษุก็คือสิกขาบท 227 ข้อ รวมถึงอาจาระ จริยาวัตร กฎ ระเบียบของมหาเถรสมาคม และส่วนที่เป็นหลักธรรมทั้งหมดในพระไตรปิฎกหรือในพระพุทธศาสนาทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีจรรยาบรรณของกลุ่มคนอาชีพทหาร นักการเมือง วิศวกร สถาปนิก และแพทย์ นำมารวมไว้โดยตั้งจะสัมภาษณ์ คนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ด้วย แต่เวลาไม่พอ อย่างไรก็ตาม จรรยาบรรณเหล่านี้ก็เป็นหลักหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนอาชีพนั้น ๆ ซึ่งก็มีส่วนสร้างสรรค์สังคมให้สงบดีงามอีกส่วนหนึ่ง

ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยมองว่าจรรยาบรรณวิชาชีพก็เป็นหลักจริยศาสตร์แขนงหนึ่งที่แยกออกมาจากจริยศาสตร์แขนงหลักหรือแขนงใหญ่ งานนี้จึงได้รวมเอาจริยศาสตร์ในศาสนาที่สำคัญต่าง ๆ มาไว้ด้วย เช่นจริยศาสตร์ของพระพุทธศาสนา นำมาไว้ในหัวข้อการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน จริยศาสตร์ของศาสนาอื่นก็นำมาไว้ให้ศึกษาในงานนี้ด้วย เช่น จริยศาสตร์ของศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู สิกข์ และโซโรอัสเตอร์ ดูรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในบทที่ 2 ประกอบกัน

2. จากการสัมภาษณ์คนไทยกลุ่มตัวอย่างในเชิงลึกเพื่อทราบการดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา พบว่าคนไทยเหล่านั้นดำเนินชีวิตตามจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย และดำเนินชีวิตในเชิงปรัชญาด้วย ผู้ที่ทำอาชีพเกษตรกรรมงานของเขาก็คือปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เขาต้องคิดว่าปลูกพืชอย่างไร จะให้ได้ผลดี เลี้ยงสัตว์อย่างไรสัตว์จึงให้ผลิตดี ขายผลผลิตอย่างไรเวลาไหนจึงจะได้กำไรดี การคิดเป็นอุดมคติอย่างนี้ ผู้วิจัยเห็นเป็นการคิดเชิงอภิปรัชญา การแสวงหาความรู้เพื่อจะทำให้อุดมคติเป็นจริง ก็เข้าขอบข่ายของญาวิทยา การดำเนินการจริงนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามอุดมคติที่กำหนดไว้ ต้องกำหนดว่าดำเนินไปในทางที่ดี ไม่ผิดกฎเกณฑ์ ไม่ผิดศีลธรรม          ก็เข้าขอบข่ายจริยศาสตร์ การดำเนินการโดยการไตร่ตรองคิดหาเหตุผล ใช้เหตุผลในการดำเนินการ ก็ถือว่าเข้าถึงการใช้ตรรกศาสตร์ มีความอิ่มเอมใจในผลสำเร็จ เมื่องานสำเร็จอะไรก็งามไปหมด มีความสุข มีสุนทรียภาพ ก็เข้าเขตสุนทรียศาสตร์

จะเห็นได้ว่าเมื่อมองภาพให้มันสัมพันธ์กัน มันก็สัมพันธ์กันไปหมด ทั้งแนวทางการดำเนินชีวิต ทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งจริยศาสตร์ในศาสนาต่าง ๆ ตลอดถึงท่าทีทางปรัชญาสาขาต่าง ๆ ล้วนมีความสัมพันธ์กันได้ ดูจรรยาบรรณของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีทั้งจรรยาบรรณต่อลูกค้า ต่อผลิตภัณฑ์ ต่อคู่แข่ง ต่อส่วนราชการ ต่อพนักงาน ต่อสังคม ต่อผู้ประกอบธุรกิจ มองอีกแง่หนึ่ง จรรยาบรรณก็คือหน้าที่นั่นเอง คน ๆ หนึ่งเมื่อเข้าไปอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ เมื่อย้ายจากตำแหน่ง หน้าที่ก็เปลี่ยนไป เรื่องนี้เป็นเรื่อที่เข้าใจได้ไม่ยาก

การดำเนินชีวิตในเชิงญาณวิทยา ที่เห็นชัดก็คือคนไทยรู้จักว่าความรู้คืออะไร รู้วิธีแสวงหาความรู้และมีวิธีการนำความรู้ไปใช้ แต่ละคนก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน อาจเป็นสภาพแวดล้อม อาจเป็นเพราะพื้นฐานความรู้ ทำให้วิธีการต่างกัน  การดำเนินชีวิตในเชิงจริยศาสตร์ คนไทยมีความเพียรในการปฏิบัติตามจริยศาสตร์ในศาสนาที่ตนนับถือ หลักจริยศาสตร์จะเป็นสิ่งนำทางให้มีการปฏิบัติที่ดี ที่เหมาะสม เป็นไปในทางดีงาม การดำเนินชีวิตในเชิงตรรกศาสตร์ คนไทยส่วนใหญ่รู้จักใช้เหตุผล ถ้าเป็นตรรกศาสตร์ล้วน ๆ ก็เป็นการใช้เหตุผลทั้งในทางที่ดีและในทางที่เสีย แต่ถ้านำจริยศาสตร์เข้ามาด้วย จะมีการใช้เหตุผลไปในทางที่ถูกต้องดีงามในการดำเนินชีวิต ในเชิงอภิปรัชญา คนไทยมีความคิดมีคำตอบสำหรับปัญหาอภิปรัชญา แสดงว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยชอบครุ่นคิดในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องภายในตนเอง และเรื่องนอกตน ตลอดจนเรื่องนอกโลก และการดำเนินชีวิตในเชิงสุนทรียศาสตร์ คนไทยมีความคิดหลากหลายในเรื่องเกี่ยวกับความงาม มีความซาบซึ้งในความงามของงานศิลปะในคำสอนทางศาสนา ในบทกวีแลวรรณคดีต่าง ๆ ผู้สนใจพึงดูรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ด้านปรัชญาสาขาต่าง ๆ ประกอบกัน

คนไทยประเภทต่าง ๆ กันตามกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเภท (ยังมีประเภทอื่นอีก) ประกอบอาชีพต่าง ๆ กัน ที่ยกมาเป็นกลุ่มตัวอย่างมี 7 อาชีพ อาชีพต่าง ๆ ยังมีอีกมาก ทุกอาชีพมีการดำเนินชีวิตตามจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเป็นส่วนใหญ่ และดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาที่ตนสนใจซึ่งเป็นขอบเขตของจริยศาสตร์ รวมทั้งชอบครุ่นคิดปรัชญาที่เป็นอุดมคติซึ่งเป็นขอบเขตของอภิปรัชญาซึ่งเป็นไปตามความสนใจ พื้นฐานความรู้ สาขาอาชีพ และตามสภาพแวดล้อมที่อำนวยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปเพื่อความอยู่รอด และเพื่อความอยู่รอดนี่เอง ทำให้มนุษย์มองหาดาวดวงใหม่สำหรับเป็นที่อาศัยในเวลาที่โลกนี้ไม่เหมาะที่มนุษย์จะอยู่ได้ และหนึ่งในกลุ่มนั้น ก็มีคนไทย อยู่ด้วย

 

วิจารณ์

 

คนไทยกลุ่มตัวอย่าง 7 ประเภทดังกล่าวมีวิธีการดำเนินชีวิตในเชิงปรัชญาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกล่าวได้ว่าคนไทยเหล่านั้นดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับปรัชญาทุกสาขา ซึ่งก็มีคนไทยบางส่วนที่ไม่สนใจโดยเฉพาะสาขาจริยศาสตร์หรือส่วนที่เป็นจรรยาบรรณวิชาชีพ จึงปรากฏข่าวร้ายให้เห็นในโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ เข้าเข้าทำนองว่าคนดีก็ดีเหลือเกิน คนร้ายก็ร้ายมาก แนวทางที่จะส่งเสริมให้คนไทยดำเนินชีวิตในเชิงปรัชญา เช่นปฏิบัติตนตามแนวจริยศาสตร์ หรือจรรยาบรรณวิชาชีพของตนให้มากขึ้นนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าอยู่ที่ระบบการศึกษาของประเทศ ถ้ามีการปลูกฝังเรื่องนี้อย่างจริงจังในทุกระดับการศึกษา ก็มีหวังคนไทยจะมีวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวจริยศาสตร์ หรือจรรยาบรรณวิชาชีพของตนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นให้สังคมสงบสุขมากขึ้น แต่ระบบการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ และในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีการลดวิชาศีลธรรม วิชาจริยศาสตร์ลงเรื่อย ๆ จึงเป็นผลให้คนไทยบางส่วนมีความประพฤติไม่ดีเท่าที่ควร การแก้ไขอาจทำได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของประเทศให้มีวิชาศีลธรรม จริยธรรม จริยศาสตร์ และจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่ในหลักสูตรมากขึ้นในทุกระดับการศึกษา ถ้าพร้อมใจกันทำอย่างนี้เชื่อได้ว่าคนไทยจะมีพฤติกรรมดีขึ้นอย่างแน่นอน

 

ข้อเสนอแนะ

 

ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

จากการวิจัยพอเห็นว่า คนไทยส่วนมากเป็นคนดีมีศีลธรรม จิตใจดีงาม ตั้งใจประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว จะมีที่เกเรไม่ได้เรื่องก็เป็นส่วนน้อย จากการวิจัยนี้ ส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย น่าจะนำงานนี้ไปศึกษาแล้วสร้างโครงการสำหรับพัฒนาคนที่ไม่รู้จักทำมาหากิน ไม่ชอบประกอบอาชีพ หรือพวกมิจฉาชีพ ถ้าทำได้สังคมจะน่าอยู่มากขึ้น เมืองไทยจะได้เป็นเมืองพุทธที่แท้จริง

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยต่อไป

น่าจะวิจัยในหัวข้อ หรือประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม ดังต่อไปนี้ เพื่อหาทางออกต่อไป

(1) ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดอุดมคติของกลุ่มเด็กแว้นเด็กสก้อย

(2) ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดอุดมคติของกลุ่มคนขายคนเสพยาบ้า ยาเสพติด

(3) ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดอุดมคติของกลุ่มคนก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้ (ศึกษาจากกลุ่มที่กลับใจแล้ว)

(4) ศึกษาวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนกัมพูชาในเชิงปรัชญา

(5) ศึกษาวิเคราะห์ปรัชญาการดำเนินชีวิตของนักการเมืองไทยผู้ได้รับรางวัลดีเด่นในด้านต่าง ๆ

 

กิตติกรรมประกาศ

 

งานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์การดำเนินชีวิตของคนไทยในเชิงปรัชญา” ฉบับนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย           ในปีงบประมาณ 2554 มีผู้ช่วยวิจัย 1 คน คือ นายกฤต ศรียะอาจ ได้ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ แข่งกับเวลาเพื่อให้ทันกำหนดส่ง

ตั้งแต่เริ่มต้นทำก็ได้รับความอนุเคราะห์ ได้คำแนะนำ ปรับปรุงแต่งเติมเรื่อย ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งเพื่อนนักวิจัยหลายท่าน ทำให้งานสำเร็จออกมาด้วยความภาคภูมิใจ

ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนช่วยให้งานนี้สำเร็จ ทั้งพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดี ทั้งพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์องค์เก่า และพระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์องค์ปัจจุบัน และบุคลากรประจำสถาบันฯทุกท่านที่อำนวยความสะดวก และได้กรุณาสอบถามติดตามงานอยู่เสมอ  ถ้ามีข้อบกพร่อง ขอให้ท่านผู้รู้ได้เมตตาชี้แนะด้วย จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

ขออนุโมทนาบุญ ขอขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้อง

                       

เอกสารอ้างอิง

 

1. หนังสือ 

ภาวนีย์  เจริญยิ่ง.  ภูมิปัญญาไทย: ขุมทรัพย์แห่งแผ่นดินสยาม. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2554.

ราชวรมุนี(ประยูร  ธมมจิตโต), พระ.  ปรัชญากรีก บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก.  พิมพ์ครั้งที่ 3,  กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ศยาม บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2540.

พนิดา  อังจันทรเจริญ.  วิถีแห่งปราชญ์ฉบับสมบูรณ์.  พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร: ลิเบอร์ตี้เพรส, 2548.  

 

2. งานวิจัย

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ.  บทสังเคราะภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย.  รายงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กรุงเทพฯ: บริษัทเอดิสันเพรส โปรดักส์ จำกัด, 2546.



[1] ภาวนีย์  เจริญยิ่ง, ภูมิปัญญาไทย: ขุมทรัพย์แห่งแผ่นดินสยาม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2554), หน้า 15-16.

[2] รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, “บทสังเคราะภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย”, รายงานวิจัย, ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุน            การวิจัย (สกว.), (กรุงเทพฯ: บริษัทเอดิสันเพรส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 161.

[3] ราชวรมุนี(ประยูร  ธมมจิตโต), พระ, ปรัชญากรีก บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก, พิมพ์ครั้งที่ 3,   (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ศยาม บริษัทเคล็ดไทย จำกัด, 2540), หน้า 113-121.

[4] อ้างแล้ว, ราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต), พระ, ปรัชญากรีก บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก, หน้า 122.

[5] พนิดา  อังจันทรเจริญ, วิถีแห่งปราชญ์ฉบับสมบูรณ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพมหานคร:  ลิเบอร์ตี้เพรส, 2548), หน้า 255.  

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕