หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล , ผศ.ดร. » การศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎก
 
เข้าชม : ๒๘๐๔๐ ครั้ง

''การศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎก''
 
พระครูปลัดมารุต วรมงฺคโล, ผศ.ดร. (2556)

 

บทคัดย่อ

 

ในงานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยมุ่งที่จะศึกษาศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎกโดยผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๒ ประการ (๑) เพื่อศึกษาถึงประวัติและพัฒนาการของจิตวิทยาในตะวันตก (๒) เพื่อศึกษาถึงแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกับการประยุกต์ใช้กับสังคม

ผลการวิจัยพบว่า 

แนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตและกระบวนการทำงานของจิตที่พระพุทธศาสนาถือว่าจิตนั้นมีพลังในการควบคุมกาย แต่ถึงอย่างนั้นจิตก็ไม่ได้เป็นเอกเทศจากกายเพราะจิตกับกายจะต้องทำงานแบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ในแง่อภิธรรมจิตมนุษย์หรือสัตว์มีความละเอียดอ่อนสามารถจำแนกประเภทได้อย่างหลากหลาย เมื่อนำแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยามาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับแนวคิดเรื่องจิตวิทยาตะวันตกก็จะพบว่า จิตวิทยาตะวันตกศึกษาจิตและกระบวนการทำงานของจิตในแง่ของพฤติกรรมภายนอกด้วยการพิสูจน์ทดลองโดยหลักวิทยาศาสตร์ แต่พุทธจิตวิทยานั้นศึกษาจิตและกระบวนการทำงานของจิตในแง่ของการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนจิตด้วยการปฏิบัติธรรมทั้งในด้านสมถะและวิปัสสนากรรมฐานโดยมุ่งทำให้จิตมีศักยภาพที่จะสามารถเอาชนะหรือควบคุมกิเลสได้

เมื่อวิเคราะห์แนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎกพบว่า แนวคิดเรื่องจิตในทางพระพุทธศาสนานั้นสามารถที่จะนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตและสังคมได้หลายประการทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ การเรียนการสอน การพัฒนาตนเองและการแก้ไขปัญหาเรื่องทุกข์ด้วยการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ ซึ่งเป็นวะการที่พระพุทธองค์ทรงนำไปใช้ได้ผลมาแล้ว

 

Abstract

 

This research has three objectives, namely, (1) to study the history and the development of the psychology in the west, (2) to study the concept of the Buddhist Psychology in the Theravada Buddhist Scriptures, and (3) to analytically study the concept of Buddhist Psychology in Theravada Buddhist Scriptures with social application.

The results of research were as follows:

the concept  of the Buddhist Psychology is pertaining to mind and the procedure of mind that are regarded to have the power to control body , thereby the mind is not departed from the body because the mind and body work together, In terms of Abhidhammatriptaka, mind of human beinge or animas has the delicacy which can be classified variously. When analyzing the idea of Buddhist Psychology in comparison with the idea of West Psychology, it was found that west Psychology studies the mind and the working procedure of the mind in terms of outside behavior by scientific experiment, while Buddhist studies the mind and the working procedure of the mind in terms of the practical experiences in dharma both in concentration development  and insight development with the aim of developing mental potential which can overcome or control the defilements analysing the idea about Buddhist psychology in the Tripitaka, it was found that the idea about the mind in Buddhism  can be applied in daily life in many aspects, such as learning, teaching ,self  development and the solution of suffering problems by Buddhist counseling effectively used by the Buddha.

 

บทนำ

 

ปัจจุบันการศึกษาเรื่องจิตนั้นได้มีพัฒนาการก้าวหน้าไปเป็นอย่างมากเนื่องจากการพยายามที่จะค้นหาคำตอบเกี่ยวกับหลักความจริงเรื่องจิตในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่าการศึกษาในเชิงปรัชญามากขึ้นเนื่องจากการศึกษาเรื่องจิตในแง่ปรัชญานั้นย่อมให้คำตอบกับมนุษย์เฉพาะความจริงที่เป็นหลักการหรือทฤษฎีเท่านั้นไม่สามารถที่จะนำมาปฏิบัติได้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจในเรื่องดังกล่าวจึงได้พัฒนากรอบความรู้เรื่องจิตให้สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับมนุษย์ได้ โดยใช้หลักและวิธีการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตั้งสมมตติฐาน พิสูจน์ ทดลองได้ ซึ่งเราเรียกศาสตร์สมัยใหม่ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตนี้ว่า “จิตวิทยา” หรือ Psychology ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในทางตะวันตก  ซึ่งเราจะพบว่าจิตวิทยาตะวันตกมีการศึกษาค้นคว้าในฐานะศาสตร์เฉพาะแขนงหนึ่ง และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลายวงการ อาทิ การศึกษา การแพทย์ ธุรกิจ กฎหมาย การปกครอง หรือแม้กระทั่งในขอบเขตเชิงปฏิบัติของศาสนาเอง โดยเป้าหมายของการศึกษาจิตวิทยาเป็นไปเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อพยายามหาคำตอบว่า สาเหตุของประพฤติความเชื่อ และการกระทำต่าง ๆ ในบุคคลนั้นเป็นเพราะอะไร สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และสัมพันธ์กับเรื่องใดบ้าง จะเห็นได้ว่าความรู้จากจิตวิทยาตะวันตกเป็นการศึกษาถึงสาเหตุของการกระทำต่าง ๆ เพื่อนำผลการศึกษานั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดแก่มนุษย์ เนื่องจากจิตวิทยาได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นศาสตร์ที่ใช้หลักการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นระเบียบวิธีของการศึกษา อันประกอบด้วยวิธีการศึกษาเชิงเหตุผลและรวมกับความรู้ในรูปแบบของพฤติกรรมเชิงประจักษ์ และมีการพัฒนาแนวคิดและทฤษฎีมากมาย รวมทั้งวิธีการรักษาที่สอดคล้องกับแนวคิดหรือทฤษฎีในแต่ละยุคสมัยมาเป็น ระยะ ๆ ฉะนั้นแนวคิดหรือทฤษฎีของจิตวิทยาตะวันตกจึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามข้อสรุปของข้อเท็จจริงจากการศึกษาวิจัยที่ค้นพบเป็นส่วนใหญ่

สำหรับในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าเป็นศาสนาที่ถือกำเนิดมากว่า ๒๕๐๐ ปี แม้จะไม่มีการบัญญัติคำว่าจิตวิทยามาใช้เป็นการเฉพาะเหมือนกับชาวตะวันตก แต่เราก็จะพบว่าเมื่อพิจารณาเนื้อหาของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดก็จะพบว่า พระพุทธองค์นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ทรงเป็นนักจิตวิทยาและสอนเรื่องจิตวิทยาโดยส่วนเดียวเนื่องจากตลอดพระชนม์ชีพนั้นพระองค์ทรงสั่งสอนธรรมเพื่อรักษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์อันเนื่องมาจากกาประสบปัญหาทางจิตเพราะถูกกิเลสครอบงำทำให้เกิดโรคประเภทหนึ่งเรียกว่าโรคจิต ดังนั้น หลักธรรมของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องราวของจิตวิทยาแทบทั้งสิ้นเพราะพระพุทธองค์นั้นทรงสอนหลักธรรมเพื่อรักษาโรคจิตเพื่อให้เหล่าสาวกสามารถฝึกฝนจิตเพื่อให้บรรลุธรรมได้นั่นเอง ความที่พระพุทธศาสนาเน้นย้ำในเรื่องจิตนั้นก็มีปรากฏในพระพุทธพจน์ที่ว่า

โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตผลักไสไป จิตเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ[1]ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย เหมือนล้อที่หมุนไปตามรอยโคที่ลากเกวียน[2]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนอกุศล ที่เป็นไปในฝักฝ่ายอกุศลทั้งหมดมีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเกิดขึ้นทีหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนกุศล ที่เป็นไปในฝักฝ่ายกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้นกุศลธรรมเกิดขึ้นทีหลัง[3]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจะเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายจะบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว[4]

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำขุ่นมัวเป็นตม บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่ง ไม่พึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วยบ้าง ฝูงปลาบ้าง ซึ่งเที่ยวไปบ้างตั้งอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำขุ่น ฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักรู้ประโยชน์ตนบ้าง จักรู้ประโยชน์ผู้อื่นบ้าง จักรู้ประโยชน์ทั้งสองบ้าง จักกระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือ อุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ได้ด้วยจิตที่ขุ่นมัว ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตขุ่นมัว.”[5]

คำว่าจิตเป็นสภาวะธรรมที่เป็นนามธรรม มีสภาพที่นึกคิด เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์[6] บางครั้งเรียกว่ามโนบ้าง หรือวิญญาณบ้าง แต่ก็ใช้ในความหมายเดียวกันดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมชาติที่เรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้างวิญญาณบ้าง ขณะที่ดวงหนึ่งกำลังดับ ดวงใหม่กำลังเกิดขึ้น เป็นอย่างนี้เรื่อยไปตลอดวันและคืน[7]

พระพุทธศาสนายืนยันการมีอยู่ของจิต ในพระไตรปิฎกยืนยันการมีอยู่ของจิตว่า มีอยู่ตั้งแต่เกิด การเริ่มต้นของชีวิตนั้นเกิดตั้งแต่จิตดวงแรกหรือปฐมวิญญาณ เกิดขึ้นในครรภ์มารดาความเป็นมนุษย์จึงเริ่มขึ้น การปฏิสนธิของจิตดวงแรก คือ เมื่อมีขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ มารวมกัน การเริ่มต้นของชีวิตจึงมีคุณสมบัติเบื้องต้น ประการ คือ              .) กายทสกกลาป คือ กลุ่มของลักษณะทางกายภาพ .) ภาวะทสกกลาป คือ กลุ่มของความเป็นหญิงหรือเป็นชาย โดยกรรมเป็นตัวกำหนด และ .) วัตถุทสกกลาป คือ กลุ่มที่ตั้งของจิตทางมโนทวาร[8] จิตในพระพุทธศาสนาจึงถือเป็นของความจริง แต่เป็นความจริงที่ไม่สามารถสืบเนื่องอยู่ได้นาน โดยอธิบายว่าเป็นภาวะที่เกิดและดับอย่างรวดเร็วมาก จนจับกระแสที่ต่อเนื่องคงตัวของเหตุหรือจุดตั้งต้นแทบไม่ได้ และไม่ใช่อยู่ในรูปของพลังงาน ซึ่งหลักอภิธรรมถือว่าจิตเป็นของแท้ ตรวจสอบได้ ส่วนพลังงานนั้นเป็นเรื่องสมมุติฐานประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์[9]

โดยเนื้อหาขอการศึกษามักอธิบายตามเนื้อหาในพระอภิธรรมปิฎก[10] ซึ่งเป็นการอธิบายเชิงอภิปรัชญา (Metaphysics) และเพื่อการค้นหาความจริงสุดท้ายโดยตรงของธรรมชาติมนุษย์และโลก เกี่ยวกับองค์ประกอบของจิต กระบวนการของจิต หน้าที่ และองค์ประกอบต่าง ๆ ในภาวะต่าง ๆ ของจิตหลักและทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยาในทางพระพุทธศาสนาอันแสดงให้เห็นว่ากรอบแนวคิดเรื่องจิตวิทยาของพระพุทธศาสนานั่นมีอยู่และมีองค์ประกอบที่สามารถจะอธิบายได้ทัดเทียมกับพุทธจิตวิทยาตะวันตกได้

อย่างไรก็ตามเราจะพบว่าในกรอบความคิดเรื่องพุทธจิตวิทยานั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่พระพุทธองค์ทรงสอนเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความจริงเรื่องจิตด้วยการพัฒนาจิตในรูปแบบต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นผู้วิจัยก็มีคำถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องจิตในทางพระพุทธศาสนาว่าความรู้เรื่องจิตในทางพระพุทธศาสนานั้นให้คำตอบในเรื่องใดบ้างนอกจากเรื่องจิตและกระบวนการทำงานของจิต เช่น เรื่องจิตการการบรรลุธรรมจิตกับปัญหาในเชิงปรัชญา จิตกับการรักษาหรือจิตกับการดำเนินชีวิตหรือจิตกับปัญหาเรื่องการเรียนรู้ การเรียนการสอน เป็นต้น ซึ่งเรื่องต่างที่นำเสนอมานั้นถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาที่มีผู้ถกเถียงกันอยู่ ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้วิจัยต้องการศึกษาเพื่อหาคำตอบและจะได้นำเสนอคำตอบนั้นแก่ผู้สนใจในโอกาสต่อไป

 

 

              วัตถุประสงค์ของการวิจัย

(๑) เพื่อศึกษาถึงประวัติและพัฒนาการของจิตวิทยาในตะวันตก

(๒) เพื่อศึกษาถึงแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

(๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทกับการประยุกต์ใช้กับสังคม

              ปัญหาในการวิจัย

(๑) จิตวิทยาตะวันตกกับจิตวิทยาพุทธศาสนามีประวัติความเป็นมาอย่างไร

(๒) พระพุทธศาสนาเถรวาทมีทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยาหรือไม่

(๓) เราสามารถที่จะประยุกต์แนวคิดเรื่องจิตวิทยาเชิงพุทธกับการแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ ได้หรือไม่

              ขอบเขตของโครงการวิจัย

               ในการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยจากเอกสาที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของเอกสารปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยเอกสารปฐมภูมิจะศึกษาจาก พระไตรปิฎก ส่วนเอกสารทุติยภูมินั้นจะศึกษาจากคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนา ส่วนเอกสารทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกนั้นผู้วิจัยจะศึกษาจากเอกสารปฐมภูมิและทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องที่เป็นภาษาอังกฤษโดยเน้นแหล่งข้อมูลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก

              ทฤษฎี สมมุติฐาน และกรอบแนวความคิด (Conceptual Framework) ของโครงการวิจัย

งานวิจัยนี้ได้กำหนดทฤษฎีหรือกรอบแนวคิดในการวิจัยไว้  ดังนี้

(๑)   ศึกษาประวัติและพัฒนาการของจิตวิทยาตะวัน

(๒)  ศึกษาแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทที่

(๓)  รวบรวมทัศนะจากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอันเป็นแหล่งความรู้ที่ได้มาจากการวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทอันจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เนื้อหาหลักที่ปรากฎในคัมภีร์

 

 

 

 

วิธีการวิจัย

 

ในการวิจัยครั้งนี้จะใช้แนวทางและวิธีการในการดำเนินการวิจัยที่สำคัญดังนี้

. การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เป็นการศึกษา ค้นคว้าและ เก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) จากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และเอกสารวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องคือหนังสือ บทความ งานวิจัยต่าง ๆ โดยได้ใช้แหล่งข้อมูลในการค้นคว้าที่สำคัญคือ สำนักหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรีและบรรดาหอสมุดที่สำคัญ ๆ ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

. จัดลำดับข้อมูลตามขั้นตอนที่ค้นคว้ามาให้มีความสัมพันธ์กับเนื้อหาให้เป็นระบบแล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาศึกษาวิเคราะห์แล้วนำไปสรุปผลเพื่อนำเสนอเป็นผลงานวิชาการต่อไป

   

ผลการวิจัย

 

จากการศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎกมาทั้งหมดนั้นสามารถที่จะสรุปเพื่อให้เห็นกรอบสาระสำคัญของพุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎกได้ดังนี้

(๑) จิตวิทยาตะวันตก มีการวางรูปแบบการศึกษาตามหลักเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรูปแบบและกระบวนการคิดของโลกยุคสมัยใหม่ (modernity) ที่เน้นการจัดระเบียบตามลำดับขั้น เพื่อจำแนกความแตกต่าง โดยการหาโครงสร้างหรือหน้าที่ที่เป็นแกนกลางของเรื่องนั้น ๆ ทั้งนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของระบบ และมนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลในการนำความเจริญก้าวหน้าให้กับโลกได้ เพื่อความเป็นสากลของโลก การจัดรูปแบบมโนทัศน์ของจิตวิทยาจึงสามารถแยกออกได้ชัดเจน 2 รูปแบบ คือ แนวคิดเรื่องพฤติกรรม หรือสิ่งที่สามารถวัดหรือประเมินได้ เช่น สมอง ระบบประสาท เป็นต้น การเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไข การปรับพฤติกรรม โดยการให้แรงเสริม หรือ การลงโทษ ไม่เน้นเรื่องบุคลิกภาพ แต่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำมากำหนดผลที่ตามมาได้ชัดเจน กลุ่มนี้จะมีข้อด้อยที่ไม่ค่อยได้คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แต่ก็มีประสิทธิภาพมากในการค้นหาความผิดปกติทางกายภาพและการรักษา อีกกลุ่มหนึ่งเน้นเรื่องแบบอัตวิสัย มีที่ตัวตนหรือภาพลักษณ์ของตนเองเป็น ปรากฏการณ์เชิงจิตวิทยา พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู ความเชื่อ และปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม กลุ่มนี้เน้นคุณค่า ความหมายของมนุษย์ ความเป็นอิสระ และการพัฒนาไปสู่ภาวะบุคคลที่สมบูรณ์ การเรียนรู้จึงเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลักและมีความเป็นอิสระและมีรูปแบบที่หลากหลาย กลุ่มนี้มีการศึกษาทั้งจิตสำนึก จิตไร้สำนึก และศึกษาผสมผสานทุก ๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูลึกลับและไม่มีสาระตามการประเมินทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มนี้ยังพัฒนาวิธีการบำบัดรักษาโดยกระบวนการทางจิตโดยการสนทนา โดยมีรูปแบบหลากหลายเช่นกัน

การใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์มาเป็นเกณฑ์ของการศึกษา ทำให้จิตวิทยาตะวันตก มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีคือสามารถอธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ชัดเจนเชิงประจักษ์มากขึ้น และข้อด้อย คือ การใช้แนวคิดเชิงสสารนิยมมาศึกษาเรื่องของจิตที่นามธรรม ทำให้ไม่สามารถอธิบายรอบคลุมทุปรากฏการณ์ของจิต อย่างไรก็ตาม การศึกษาจิตวิทยาตะวันตกในปัจจุบัน มีการศึกษาโดยใช้แนวคิดของพหุนิยม ซึ่งยอมรับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นในการศึกษาเรื่องจิต นำให้เกิดมิติของการศึกษาที่หลากหลายตามไปด้วย และการศึกษายังคงเรื่องความน่าเชื่อถือและความสม่ำเสมอของการได้มาของความรู้ เช่น การวิจัยเชิงคุณภาพ การตีความการศึกษาปรากฏการณ์วิทยา เป็นต้น

(๒) เมื่อนำจิตวิทยาตะวันตก มาพิจารณาเทียบเคียงกับแนวคิดเชิงจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว พบว่ามโนทัศน์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน คือ การยอมรับว่ามีจิต การอธิบายการมีอยู่ของจิตในพระพุทธศาสนาเป็นลักษณะพิเศษ คือ การมีอยู่ในลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงทน และไม่มีอยู่แบบนิรันดร์ จิตวิทยาตะวันตกจะสร้างการอธิบายจิตในมิติเฉพาะของตน ซึ่งไม่อาจครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน แต่จากการศึกษา ทำให้ทราบว่ามโนทัศน์พื้นฐานของแนวคิดเชิงจิตวิทยาพระพุทธศาสนาเถรวาท อธิบายอยู่ระหว่างกลาง และมีความใกล้เคียงกับการอธิบายของกลุ่มจิตวิทยาเชิงรู้คิด และจิตวิทยาผ่านตัวตน ซึ่งกลุ่มจิตวิทยาเชิงรู้คิดสามารถอธิบายกระบวนการของจิตระดับสูงที่ชัดเจน ในรายละเอียดในแง่ของการเกิดและความสัมพันธ์ของการเกิดกระบวนการทางจิตต่าง ๆ เชิงประจักษ์ แต่ก็ยังขาดการอธิบายที่ชัดเจนในส่วนของจิตที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า วิญญาณ การอธิบายจึงครอบคลุมในเพียง รูป เวทนาสัญญา และสังขารบางส่วน การอธิบายของจิตวิทยาผ่านตัวตนทำให้สามารถขยายขอบเขตการอธิบายของมิติของจิตในประสบการณ์ที่ลี้ลับต่าง ๆ ได้มากขึ้น แนวคิดเชิงจิตวิทยาพระพุทธศาสนาเถรวาท สามารถอธิบายได้ในลักษณะของการศึกษาแบบอัตวิสัย เป็นไปในเชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบไม่มีตัวตน  มีลักษณะเป็นปรากฏการณ์วิทยา และอยู่กึ่งกลางระหว่างเจตจำนงเสรีและเหตุวิสัย                           ที่พระพุทธศาสนามักเรียกว่าเหตุ-ปัจจัยซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกัน

การศึกษาแนวคิดเชิงจิตวิทยาในพระพุทธศาสนา ต้องใช้วิธีการ๓ แบบ คือ                   ) ความรู้ระดับประสาทสัมผัส หรือ ทิฏฐิ ซึ่งสามารถทดสอบหาความรู้ได้ด้วยวิธีอุปนัย ) ความรู้ระดับประสบการณ์จิต หรือญาณ ซึ่งเป็นความรู้เชิงเหตุผล ระดับวิชาการของศาสตร์ต่าง ๆ  ในโลกการศึกษาจึงใช้หลักตรรกศาสตร์ นิรนัย การวิจัยเชิงคุณภาพ อรรถปริวรรตศาสตร์ หรือการตีความ ๓) ความรู้ระดับเหนือประสบการณ์ หรือ โพธิญาณ เป็นความรู้ที่จะประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ฉะนั้นการตรวจสอบจึงต้องมาจากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาเท่านั้น

รูปแบบของแนวคิดเชิงจิตวิทยาในพระพุทธศาสนา จึงได้มาจากความเชื้อพื้นฐานว่ามนุษย์มีความขัดแย้งในใจ ที่ทำให้ส่งผลออกมาในรูปแบบของกพฤติกรรมที่ไม่เป็นสุข ด้วยความปรารถนาที่ขัดกับกฎความจริงของธรรมชาติ คือ อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา (กฎไตรลักษณ์) ถ้าความทุกข์ในใจนี้ไม่สามารถทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถพบกับความสงบสุขในชีวิต ซึ่งมนุษย์ทุกคนต่างปรารถนาที่จะได้ความสุข หนทางที่จะพบความสงบได้จึงต้องหันกลับมาตรวจสอบปัญหาในใจ เพื่อทำให้เกิดปัญญา ที่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้

ดังนั้น แนวคิดพุทธจิตวิทยาจึงมีกรอบสำคัญของกระบวนการทางจิตได้ดังนี้                ) ข้อมูลจากภายนอก การรับรู้จากประสาทสัมผัส คือ อายตนะภายในและภายนอกทั้ง                ) ข้อมูลจากภายใน หรือ อารมณ์ การคิด การจำ และความรู้สึกตัว คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ๓) การเรียนรู้ คือ ระเบียบของความสัมพันธ์ ตามเหตุ-ปัจจัย ในปฏิจจสมุปบาท          ) การมีอิสระทางจิต หรือ ชีวิตที่ดี คือ หนทางนำความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ และปัญญา เพื่อนำไปสู่นิพพาน ส่วนมโนทัศน์รอง เรื่อง สติปัญญา และบุคลิกภาพเป็นมโนทัศน์ที่ซับซ้อน และเจือไปด้วยความเป็นตัวตน จึงไม่ควรนำมาศึกษาเป็นมโนทัศน์หลัก เพราะมโนทัศน์หลักต้องการนำออกจากความซับซ้อนของระบบความคิดมนุษย์เพื่อประจักษ์แจ้งกับรูปแบบที่ธรรมดาของความไม่มีตัวตน

(๓) เมื่อนำหลักพุทธจิตวิทยามาวิเคราะห์เราจะพบว่าเราสามารถวิเคราะห์ให้เห็นถึงสาระสำคัญของพุทธจิตวิทยาในแง่ของสารัตถะทางจิตที่เป็นปัญหาโต้แย้งกันอยู่ดังนี้

๑)วิเคราะห์ธรรมชาติดั้งเดิมของจิต พบว่าแม้ว่าจะมีหลักฐานว่าจิตของมนุษย์นั้นมีธรรมชาติบริสุทธิ์ แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมาแต่ก็มีข้อสรุปจากนักวิชาการฝ่ายเถรวาทว่าคำว่าจิตปภัสสรนั้นไม่ได้หมายความว่าจิตมนุษย์หมดจดจากกิเลสมาตั้งแต่ต้น แต้เป็นเพราะการตีความที่ผิดจึงทำให้เกิดความเข้าใจเช่นนั้น แต่ความจริงจิตมนุษย์ประภัสสรจริงแต่ก็ยังคงมีกิเลสอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสได้

๒)หลักพื้นฐานของพุทธจิตวิทยาเถรวาท จากการศึกษาพบว่าแนวคิดเรื่องจิตของพุทธศาสนาเถรวาทนั้นเห็นว่ามีพื้นฐานมาจากหลักการสำคัญตามหลักคำสอนพระพุทธศาสนาดังนี้

(ก) แนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติ (อิทัปปัจยตา-ปฏิจจสมุปบาท)(ข) แนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติคือนิยาม ๕ ประการ (ค)แนวคิดเรื่องกฎไตรลักษณ์

๓)  พุทธจิตวิทยากับความเป็นมนุษย์ จากการศึกษามาทั้งหมดพบว่าจิตวิทยาพุทธศาสนานั้นได้อธิบายว่ามนุษย์มีองค์ประกอบสองส่วนคือกายกับจิตและจิตนั้นถือว่ามีอำนาจเหนือกาย ดังนั้นความเป็นมนุษย์จึงเกิดมาจากการที่กายกับจิตทำงานประสานสอดคล้องกัน

๔) พุทธจิตวิทยากับปัญหาความเป็นเอกนิยมหรือสัจนิยม จากปัญหาที่มีผู้ถามว่าจิตมนุษย์ในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นเอกเทศจากกายหรืออยู่เหนือการทำงานของกายหรือเป็นจิตผู้อยู่ในฐานะของการเป็นผู้สร้างเหมือนแนวคิดเชิงอัตวิสัยหรือไม่ คำตอบคือไม่เพราะจิตของพุทธศาสนาเถรวาทเป็นจิตที่มีกระบวนการทำงานแบบเกิดดับเปลี่ยนแปลงตามหลักอนิจจังดังนั้นจึงไม่ใช่จิตตามแนวคิดเอกนิยมแต่ประการใด

๕) พุทธจิตวิทยากับปัญหาเรื่องเจตจำนงเสรี และเมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ว่าจิตมีเจตจำนงเสรีหรือไม่ก็จะพบว่าจิตในทางพระพุทธศาสนานั้นมีเจตจำนงเสรีเป็นบางครั้ง บางครั้งก็ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำเป็นอื่น ๆ ได้

นอกจากนั้นเราก็จะพบว่าผลการวิเคราะห์เรื่องจิตในประเด็นอื่นก็สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับเอกัตลักษณ์ของจิตเชิงพุทธได้ เช่น (๖) พุทธจิตวิทยากับหลักจริยธรรม (กรรม-เจตนา) (๗) พุทธจิตวิทยากับการบรรลุธรรม (๘)  จิตกับการเวียนว่ายตาย (จุติจิต) เกิด (ปฏิสนธิจิต) และ(๙) จิตกับความฝัน  เป็นต้น

(๔) การฝึกอบรมจิต จากการศึกษามาทั้งหมดจะพบว่า จิตมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ด้วยการปฏิบัติธรรมตามแนวของกรรมฐาน ๒ ประการคือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งผลการฝึกจิตก็จะก่อให้เกิดความสุข จากสุขในเบื้องต้นจนถึงสุขในที่สุดก็คือพระนิพพาน

(๕) เมื่อศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยากับการประยุกต์ใช้ในสังคมก็จะพบว่า จิตมนุษย์หรือจิตในทางพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการที่สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคมได้ เช่น พุทธจิตวิทยากับการเรียนรู้ พุทธจิตวิทยากับการเรียนการสอน พุทธจิตวิทยากับการปกครอง จิตวิทยากับการดำเนินชีวิต พุทธจิตวิทยากับการให้คำปรึกษา เป็นต้น

(๖) และเมื่อพิจารณาถึงสถานะและจุดยืนของพุทธจิตวิทยาในสังคมไทยก็จะพบว่าสังคมไทยนั้นให้ความสนใจเกี่ยวกับหลักการทางด้านพุทธจิตวิทยาเป็นอย่างมากอันจะสังเกตได้จากการที่มีการนำเอาหลักการทางพุทธจิตวิทยาไปศึกษาในสถาบันทางการศึกษาในทุกระดับรวมถึงการนำไปปฏิบัติในรูปของงการเปิดสำนักหรือสถานที่ปฏิบัติธรรมทั่วประเทศด้วย แสดงให้เห็นถึงท่าทีและจุดยืนที่แท้จริงของพุทธจิตวิทยาที่มีต่อสังคมไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

 

ข้อเสนอแนะ

 

สำหรับการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นเราจะพบว่า ได้มีการนำเอาหลักการทางพุทธจิตวิทยาในเรื่องต่าง ๆ ที่ปรากฏในกรอบของคัมภีร์อยู่มาก แต่ก็ยังไม่มีการนำไปประยุกต์หรือพัฒนาเพื่อศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจด้านอื่น ๆ ดังนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าสมควรที่จะมีการนำเอากรอบของการวิจัยพุทธจิตวิทยานี้ไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

() ควรนำกรอบแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรอบแนวคิดเรื่องจิตวิทยาของศาสนาอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงกรอบแนวคิดของศาสนาต่าง ๆ กับพระพุทธศาสนา มีมุมมองหรือทรรศนะด้านจิตวิทยาที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

() ควรนำเอากรอบแนวคิดเรื่องพุทธจิตวิทยาไปไปศึกษาในเชิงปฏิบัติการทางโลก เช่น กรณีการให้คำปรึกษา เพื่อเป็นกุศโลบายลดหรือผ่อนคลายความเครียด การลดภาวการณ์ฆ่าตัวตาย การเยียวยาผู้ประสบภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการนำเอาหลักทฤษฎีไปใช้เพื่อการปฎิบัติให้เกิดผลจริงได้เหมือนกับที่นักจิตวิทยาตะวันตกนำไปใช้ได้ผลมาแล้ว นั่นเอง

 

กิตติกรรมประกาศ

 

งานวิจัยเรื่อง การศึกษาวิเคราะห์พุทธจิตวิทยาในพระไตรปิฎกฉบับนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็เนื่องด้วยได้รับการสนับสนุนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลและได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ผู้วิจัยขอขอบคุณและอนุโมทนาขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

ขอขอบคุณพระมหาสุทิตย์ อาภากโร, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้สนับสนุนและส่งเสริมทุนในการทำวิจัยครั้งนี้และขอนุโมทนาขอบคุณคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยทุกท่านที่ได้กรุณาตรวจสอบและแนะนำข้อมูลเพิ่มเติมอันเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยทุกครั้งที่มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัย

ขออนุโมทนาขอบคุณ ดร.อธิเทพ ผาทา ที่ให้ข้อปรึกษาให้ข้อเสนอแนะให้การแนะนำ ในการจัดทำข้อมูลประกอบการเขียนรายงานการวิจัยครั้งนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงานวิจัยสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ขอขอบคุณและอนุโมทนาขอบคุณเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ได้ประสานงานด้านข้อมูลต่าง ๆ ทำให้การติดต่อข้อมูลด้านโครงวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอขอบคุณและอนุโมทนาขอบคุณผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่คณะครุศาสตร์ทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการทำโครงการวิจัยครั้งนี้ให้มีความสมบูรณ์และสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

เอกสารอ้างอิง

 

๑. ข้อมูลปฐมภูมิ

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  เล่มที่ ๔๕. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

(ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง).  มิลินทปัญหา.  ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย.  พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

 

๒. ข้อมูลทุติยภูมิ

ระวี ภาวิไล.  อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่.  (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์), ๒๕๓๕.

พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ).  จิตวิทยาในพระอภิธรรม.  พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓.



[1]สํ.. (ไทย) ๑๕/๖๒/๗๓.

[2]ขุ.. (ไทย) ๒๕//๒๓.

[3] องฺ.เอกก. (ไทย) ๓๒/ ๕๗-๕๘/๑๐๗

[4] สํ.. (ไทย) ๒๗/๒๕๙/๓๔๓

[5] องฺ.เอกก. (ไทย) ๓๒/๔๖/๙๔

[6] สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๖๑/๑๑๖.

[7] สํ.นิ. (ไทย) ๑๖/๒๓๑/๑๑๕.

[8] ระวี ภาวิไล, อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่, (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์), ๒๕๓๕, หน้า ๓๓๒.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๖.

[10] พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ), จิตวิทยาในพระอภิธรรม, พิมพ์ครั้งที่ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย), ๒๕๔๓, หน้า .

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕