หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » สภาไทย สภาพุทธ: จุดเริ่มต้นแห่งสันติสุข
 
เข้าชม : ๘๔๑๘ ครั้ง

''สภาไทย สภาพุทธ: จุดเริ่มต้นแห่งสันติสุข''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2556)

 

 

http://www.komchadluek.net/detail/20130822/166423/สภาไทยสภาพุทธจุดเริ่มต้นสันติสุข.html

 

     เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ รับนิมนต์จาก ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ไปบรรยายให้แก่ข้าราชการเมือง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภาจำนวนเกือบ ๑๐๐ ท่าน ณ สถาบันพระปกเกล้าในหัวข้อ "คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักการเมืองไทย" อนึ่ง ผู้ชำนาญการบางส่วนที่เข้ารับฟังนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สส. สามารถ ราชพลสิทธิ์ และ สส.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ซึ่งเคยเรียนร่วมกันในหลักสูตร ปปร. รุ่นที่ ๑๕ สถาบันพระปกเกล้า เมื่อสองปีที่แล้ว สังเกตเห็นว่า สส. ทั้งสองท่านเป็นนักการเมืองอาชีพที่นุ่มนวล รักเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ

 

     เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญบางส่วนได้พยายามนำเสนอเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ "การทำสภาให้เป็นสภาในความหมายที่แท้จริง" เพราะคำว่า สภาในความหมายที่แท้นั้น หมายถึง สถานที่ที่สัปบุรุษหรือคนดีมาร่วม พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อคิด ประสบการณ์และความเห็นเพื่อหาทางออกในฐานะกัลยาณมิตร ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสในโขมทุสสสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรคว่า "เนสา สภา ยัตถะ นะ สันติ สันโต" แปลว่า "ที่ประชุมใดไม่มีสัปบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่เรียกว่าสภา" และพระองค์ได้ตรัสเพิ่มเติมว่า "สันโต น เต เย น วทันติ ธัมมัง" แปลว่า "คนเหล่าใด ไม่กล่าวธรรม คนเหล่านั้น ไม่ชื่อว่า คนสงบ"  หมายความว่า สภานอกจากจะเป็นสถานที่คนดีที่ได้รับเลือกจากประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองด้วยการพูดคุยเพื่อออกกฎเกณฑ์สำหรับใช้เป็นหลักในการประพฤติร่วมกันแล้ว สถานที่ดังกล่าวจะต้องเป็นแหล่งในการเสริมสร้าง และบ่มเพาะความสงบสุข และใช้สภาเป็นสถานที่ปรึกษาหารือเพื่อจัดการกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

     แม้คำว่า “สัปบุรุษ” หรือ “สัตบุรุษ” แปลว่า “คนดี” หรือ “คนที่มีความสงบ” ในโขมทุสสสูตรจะหมายถึง "คนดีที่มีจิตใจสงบเย็นเพราะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของราคะ โทสะ และโมหะแล้วพูดจาในสิ่งที่ดี และมีคุณค่าแล้ว ถึงกระนั้น คำว่า "คนดี" ยังครอบคลุมไปถึง “คนที่มีความสงบทางกาย วาจา และใจ” โดยการคิด พูด หรือกระทำสิ่งใดแล้วนำไปสู่ความสงบ ร่มเย็น และเป็นสันติสุข และด้วยเหตุดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงได้วางตัวบ่งชี้เอาไว้ว่า คนที่จะได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษได้นั้น จะต้องประกอบด้วยตัวชี้วัด ๗ ประการ คือ (๑) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ (๒) ความเป็นผู้รู้จักผล ๓) ความเป็นผู้รู้จักตน (๔) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ (๕) ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาหรือจังหวะ (๖) ความเป็นผู้รู้จักบริษัทหรือสังคม และ (๗) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล

     “เหตุผลไม่จำเป็นต้องถูก แต่สิ่งที่ถูกจำเป็นต้องมีเหตุผลข้อที่ ๑ และ ๒ การนำเสนอเหตุผลนั้น ไม่ควรถือเอาแต่อำนาจหรืออารมณ์ของตัวเอง หรือกลุ่มของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจเหตุผลของคนอื่น หรือกลุ่มอื่นๆ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือ หลายครั้ง เหตุผลดีหรือไม่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเหตุผล แต่อยู่ที่คนนำเสนอเหตุผล ทั้งๆ ที่เหตุผลอาจจะถูกต้อง สมสมัย และเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เพราะเราไม่ชอบคนที่นำเสนอเหตุผล จึงทำให้เหตุผลนั้นฟังไม่ขึ้นในแง่มุมของเรา

     สรุปแล้ว สภาจึงจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างชีวิตและสังคมเกิดสันติสุข เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นจุดศูนย์รวมของคนดีที่มีความสงบ ทั้งทางกาย วาจา และใจ และใช้สภาเป็นสถานที่ระดมข้อคิด ความเห็น รวมไปถึงข้อห่วงใยของพลเมือง ด้วยเหตุและผล ซึ่งตัวตนแต่ละท่านได้ประจักษ์ และรับรู้ผ่านการทำงานในแต่ละพื้นที่ โดยการนำเสนอเหตุผลที่สอดคล้องกับจังหวะเวลา และสอดคล้องกับความต้องการของบุคคล และชุมชน สังคม อย่างไรก็ดี นอกจากสภาจะสะท้อนผู้คนดีที่ทำหน้าที่ในสภาแล้ว สภายังเป็นภาพสะท้อนของหน้าตาพลเมืองไทยต่อพลเมืองโลกด้วย เพราะพลเมืองไทยเป็นผู้ที่เลือกสรรคนดีทั้งหลายเข้าไปทำหน้าที่อยู่สภาในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ฉะนั้น หน้าตาของคนดีที่อยู่ในสภา คือหน้าตาของพลเมืองไทยต่อพลเมืองอาเซียน และพลเมืองโลก

(ที่มา: บทความวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕