หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ผศ.ดร.สมิทธิพล เนตรนิมิตร » ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ในอริยวินัย วิถีชีวิตและบทบาทของพระสงฆ์
 
เข้าชม : ๓๕๓๒๖ ครั้ง

''ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ในอริยวินัย วิถีชีวิตและบทบาทของพระสงฆ์''
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิตร (2553)

        บทคัดย่อ
                   งานวิจัยนี้  ต้องการศึกษาความหมายคำว่าสงฆ์ ประวัติศาสตร์ ตลอดถึงการดำเนินชีวิตและบทบาทของพระสงฆ์ในอริยวินัย เพื่อทราบบทบาทของพระสงฆ์ในสมัยแรก   
                      พบว่า  “สงฆ์” ชื่อนี้มีใช้อยู่ก่อนสมัยก่อนพุทธกาล  เมื่อชนเผ่าเร่ร่อน คือ อารยัน  อพยพเข้าทางอินเดียเหนือ ชนเผ่าที่มีอำนาจปกครองในเวลาต่อมา คือ ลิจฉวี เมืองเวสาลี  ลิจฉวีสร้างระบบปกครองคัดเลือกผู้นำบริหารองค์กร โดยผลัดเปลี่ยนกัน ระบบนี้ เป็น ลิจฉวีสงฆ์  แม้ชนเผ่าแถบเชิงเขาหิมาลัยได้รับรูปแบบบริหารองค์กรเหมือนลิจฉวี

        เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตั้งสังคมสงฆ์ ต้องการให้เป็นแบบอย่างของผู้ปฏิบัติธรรม ทรงนำชื่อระบบปกครองที่ทรงคุ้นเคย เรียกสังคมที่ตั้งขึ้น ว่า สงฆ์  (สังฆะ)  ทรงดัดแปลงรูปแบบบริหารองค์กรสงฆ์คล้ายกับระบบของลิจฉวี มุ่งให้พระสงฆ์มีความสามัคคี เปิดโอกาสให้ทุกวรรณะเข้ามาพัฒนาตน สมาชิกพระสงฆ์มีสถานภาพอย่างเดียว เป็น สมณะศากยบุตร มีความประพฤติและทัศนคติอย่างเดียวกัน  การดำเนินชีวิตมีเอกลักษณ์ มีเป้าหมาย อยู่กันด้วยระเบียบวินัย
        พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นครูต้นแบบ ดำเนินชีวิตตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้น พัฒนาตนก่อนจึงไปพัฒนาผู้อื่น ตามหลักที่ว่า การช่วยเหลือคนจมเปือกตม ผู้ช่วยจะต้องไม่แปดเปื้อนโคลนตม เหมือนกับผู้จม  
 
        บทนำ
         สงฆ์คือกลุ่มผู้ที่รวมกันเพื่อทำกิจบางอย่าง  เดิมทีเดียว เป็นชื่อระบบการปกครองของกลุ่มลิจฉวี ในพระพุทธศาสนา สงฆ์เป็นกลุ่มของคนผู้มีทัศนคติและมีความประพฤติสอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ทรงบัญญัติไว้ พระพุทธเจ้าทรงตั้งสงฆ์ให้มีรูปแบบการครองชีพที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตไปสู่จุดหมายที่กำหนดเอาไว้ ทรงกำหนดขอบเขตความประพฤติของพระสงฆ์ ขอบเขตนั้น คือ อริยวินัย หมายถึงกฎระเบียบสำหรับอริยชน, วินัยสำหรับอริยชน, วิถีชีวิตของผู้ที่มีความเจริญ, ระเบียบปฏิบัติของผู้ประเสริฐ  ผู้เป็นอริยชน
        สงฆ์ ไม่ใช่หมายถึงคนผู้หนึ่งผู้เดียว สงฆ์ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ ๕ ประเภท คือ (๑) สงฆ์จตุวรรค  (๒) สงฆ์ปัญจวรรค  (๓) สงฆ์ทสกวรรค  (๔) สงฆ์วีสติวรรค (๕) สงฆ์อติเรกวีสติวรรค   
                            สมาชิกสงฆ์มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรของพระสงฆ์ อำนาจการบริหารไม่อยู่ที่หัวหน้าคนเดียว เมื่อมีสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้น พระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้พระสงฆ์บริหารกันเอง การบริหารมีรูปแบบต่อต้านอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และสอดคล้องกับระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย มีธรรมาธิปไตยเป็นฐาน
                            ปัจจัยทางสังคม  ส่งผลให้พระสงฆ์พัฒนาตนตามพุทธประสงค์ได้ ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนา ที่สำคัญมาก คือ กัลยาณมิตร  พระสงฆ์ได้กัลยาณมิตรคือพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่ได้พบเห็นกัลยาณมิตร จึงทำให้รู้จักความดี รู้วิธีทำความดี กัลยาณมิตรคอยชี้แนวทางให้คำแนะนำ ความประพฤติที่อาจไขว้เขวผิดพลาดไปจากอุดมคติจึงเกิดขึ้นได้ยาก
 
      ขอบเขตของการวิจัยและและกรอบแนวคิด
                        งานวิจัยนี้ เป็นวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ค้นคว้าจากเอกสาร (Documentary Research) รวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ   มหาจุฬาอรรถกถา (ข้อมูลหลักอยู่ในพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก) หนังสือภาษาไทย  และภาษาอังกฤษ 
                        มีกรอบแนวคิด ดังนี้

 
อริยชน
(อารยัน)
 
สงฆ์
ก่อนพุทธกาล
 
ลิจฉวีสงฆ์
ระบบปกครอง
 
พระสงฆ์
 พระอริยสงฆ์
 
บทบาทของพระอริยสงฆ์
 
 
สรุป
 

 
                 วิธีดำเนินการวิจัย
                        ๑.   ค้นคว้าข้อมูลในพระไตรปิฎกบาลี อรรถกถาบาลี และงานที่เกี่ยวข้อง
                        ๒. รวบรวม เรียบเรียง วิเคราะห์ข้อมูล
                        ๓. นำเสนอผลการวิจัยต่อสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์
 
                  นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย
                      พระสงฆ์       หมายถึง กลุ่มบุคคลผู้มีความคิดเห็นและมีความประพฤติอย่างเดียวกัน
                        พระอริยสงฆ์  หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
                          อริยวงศ์     หมายถึง วงศ์ของพระอริยสงฆ์ วงศ์ของพระอริยบุคคล ที่พระพุทธเจ้า
                                          ทรงตั้งขึ้น (เป็นวงศ์ที่ ๘) 
                        อริยตันติ        หมายถึง  แบบแผนของพระอริยสงฆ์
                        อริยประเพณี   หมายถึง  ประเพณีของพระอริยสงฆ์
                        อริยชาติ        หมายถึง    การอยู่ในสังคมของพระอริยสงฆ์ ชาติของพระอริยสงฆ์
                        อริยครรภ์       หมายถึง   การเป็นสมาชิกของพระอริยสงฆ์ (อริยคพฺภ) 
                        อริยบุคคล      หมายถึง   กลุ่มพระอริยบุคคลชาวพุทธ
                        บรรพชา         หมายถึง   การรับสมาชิกของพระสงฆ์ในสมัยแรก
                        อุปสมบท       หมายถึง   การรับสมาชิกของพระสงฆ์ การบวชเป็นภิกษุ
                        อริยวินัย         หมายถึง   กฎระเบียบ วินัยของพระอริยสงฆ์
  
    ผลการวิจัย
        ก่อนพุทธกาลเมื่อชนเผ่า อารยัน อพยพเข้ามาทางอินเดียเหนือ ชนเผ่าที่มีอำนาจการปกครองเวลาต่อมา คือ ลิจฉวี เมืองเวสาลี กลุ่มลิจฉวีมีระบบปกครองด้วยวิธีเลือกผู้นำขึ้นมาบริหารองค์กร โดยผลัดเปลี่ยนกัน ระบบนี้ เรียกว่า ลิจฉวีสงฆ์  ชนเผ่าอื่น มี ศากยวงศ์ และพวกมัลละ เป็นต้น รับรูปแบบบริหารองค์กรจากกลุ่มลิจฉวี
        เมื่อพระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสังคมขึ้นใหม่ ต้องการให้เป็นแบบอย่างของผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมทรงใช้ชื่อระบบการปกครองที่คุ้นเคย เรียกสังคมที่ตั้งขึ้นมา ว่า สงฆ์   ทรงดัดแปลงรูปแบบบริหารองค์กรสงฆ์ไม่ต่างกับระบบลิจฉวี มุ่งให้พระสงฆ์มีความสามัคคี เปิดโอกาสให้คนทุกวรรณะเข้ามาฝึกพัฒนาตนเอง  พระสงฆ์ของพระพุทธเจ้าเป็นสมณะศากยบุตร ความประพฤติและทัศนคติอย่างเดียวกัน ความเป็นอยู่เป็นเอกลักษณ์ มีเป้าหมายในชีวิต อยู่ในระเบียบวินัยของคนที่มีความเจริญ
    สงฆ์ในพระพุทธศาสนาจัดเป็น อริยวงศ์ คือ วงศ์ผู้ประเสริฐ วงศ์ที่ ๘  (อฏฺฐโม อริยวํโส) ต่างจากวงศ์อื่นในสังคม ได้แก่ กษัตริยวงศ์  พราหมณวงศ์ ไวศยวงศ์ ศูทรวงศ์ สมณวงศ์ กุลวงศ์ และราชวงศ์ 
        พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นครูต้นแบบ ดำเนินชีวิตตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้นมา ศึกษาพัฒนาตนได้แล้วจึงไปพัฒนาสังคม  
        พระสงฆ์ในอริยวงศ์  มีลักษณะสำคัญ คือ
     - ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ด้วยความเพียรพยายามของตนเอง มิใช่หวังพึ่งพิงเทพเจ้า
     - สั่งสอนประชาชนให้รู้จักสัจธรรม มิได้เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับสวรรค์
     - เสียสละต่อชาวโลก มิใช่ผู้ประกอบอาชีพทางพิธีกรรม
  - เข้ามาเป็นสมาชิกแล้วได้เป็นพุทธบริษัทฝ่ายหนึ่ง ที่ยังต้องมีความผูกพันกับสังคม
  - ปฏิบัติธรรมก็สามารถบรรลุภาวะอันสูงสุดได้
        - ไม่ละเมิดพระธรรมวินัยแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
        พระสงฆ์ในอริยวินัยดำเนินชีวิตตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้นมา พัฒนาตนได้ก่อนแล้วจึงไปพัฒนาผู้อื่น ตามหลักที่ว่า การช่วยเหลือคนจมเปือกตม ผู้ช่วยจะต้องไม่แปดเปื้อนโคลนตม เหมือนกับผู้จม   
        อภิปรายผล
        กฎระเบียบเป็นมาตรการที่คนสร้างขึ้นมา ทุกสังคมต้องมีกฎระเบียบไปตามความจำเป็นในสังคมนั้น ๆ กฎระเบียบพระสงฆ์มีลักษณะพิเศษ เป็น อริยวินัย เป็นแบบแผนของพระอริยบุคคล ระบบชีวิตที่ขัดเกลาความประพฤติปุถุชนให้เป็นอริยชน ตามหลักการที่ว่า “เมื่อบุคคลเห็นความผิดเป็นความผิด แก้ไขให้ถูกต้องแล้วสำรวมต่อไป อย่างนี้เป็นความเจริญในวินัยของอริยชน”   ผู้ยอมรับว่าผิดพลาดแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ได้ชื่อว่าดำเนินชีวิตอยู่ในกฎระเบียบของพระอริยบุคคล 
           พระพุทธเจ้าเป็นผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากที่สุดคนหนึ่ง การตั้งสังคมสงฆ์ของพระพุทธเจ้าถือเป็นประวัติศาสตร์องค์กรของผู้ดำเนินชีวิตสันโดษ คณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยมีเอกลักษณ์ต่างจากสังคมสงฆ์อื่น ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ในความหมายดั้งเดิมหรือองค์กรสงฆ์ในศาสนาเชน  “สงฆ์” ตามพุทธประสงค์เป็นแบบอย่างของผู้ดำเนินชีวิตด้วยการเสียสละ     
                   ในฐานะที่ทรงเป็นผู้แก้ไขปัญหาสังคม พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมครู  ทรงจัดตั้งสังคมขึ้นเปิดโอกาสคนทุกวรรณะให้เข้ามาพัฒนาตนเอง  สังคมสงฆ์เป็นสังคมของการเรียนรู้ สังคมสงฆ์เป็นศูนย์ในการเรียนรู้ เป้าหมายการศึกษาคือปัญญาหรือปัญญาวิมุตติ พระพุทธเจ้าทรงพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องวรรณะ ไม่ว่าใครมาจากวรรณะไหน เมื่อมาเป็นสมาชิกสงฆ์ (บวช) จะทิ้งเผ่าพันธุ์ มีชื่อใหม่เหมือนกันคือสมณะเชื้อสายของพระศากยะบุตร    
                  อริยชน ในพระพุทธศาสนาวัดกันที่ความประพฤติ อริยชนเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพสมบูรณ์ ทั้งด้านในและด้านนอกพระพุทธศาสนาไม่กำหนดคุณค่าความเป็นอริยชนด้วยปัจจัยแวดล้อมภายนอก ไม่กำหนดว่าอริยชนต้องเกิดที่นั่นที่นี่ มีอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าต้องพูดภาษานั้นภาษานี้อริยชนของชาวพุทธจะต้องมีความประพฤติแบบอริยะ (อารยัน) (อาจารอริยะ) ครองเพศแบบอริยะ (ลิงคอริยะ) มีทัศนคติแบบอริยะ (ทัสสนอริยะ) และฉลาดรู้เท่าทันแบบอริยะ (ปฏิเวธอริยะ)
        พระพุทธเจ้าทรงกำหนดขอบเขตความประพฤติสำหรับพระสงฆ์ คือ ศีล  ซึ่งแตกต่างจากศีลในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป   
        อริยวินัย ครอบคลุมถึงความเป็นอยู่ของสงฆ์ คุณสมบัติ สิทธิ หน้าที่   และวิธีการรับสมาชิกเข้ามา รวมทั้งการฝึกอบรมดูแลสมาชิกที่มาอยู่ใหม่
        อริยวินัย มีหลักการ เป็นไป . . .
        ๑. เพื่อให้เกิดความดีงามแก่สมาชิกของพระสงฆ์
        ๒. เพื่อให้เกิดความผาสุกแก่สมาชิกของพระสงฆ์
        ๓. เพื่อกำราบคนหน้าด้านไร้ยางอาย
        ๔. เพื่อความอยู่ผาสุกของสมาชิกของพระสงฆ์ผู้มีศีลดีงาม
        ๕. เพื่อปิดกั้นความเสื่อมเสียที่จะมีในปัจจุบัน
        ๖. เพื่อบำบัดความเสื่อมเสียที่จะมีในภายหน้า
        ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
        ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
        ๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งสัทธรรม
        ๑๐.  เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย
        อริยวินั เป็นระบบแบบแผนของหมู่สมาชิก จะทำให้สมาชิกของพระสงฆ์ตั้งอยู่ถาวรได้ด้วยดี มีชีวิตตามหลักการ  สามารถปฏิบัติกิจดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ตั้งไว้
        อริยวินัย มีความหมายครอบคลุม มีระบบแบบแผนเกี่ยวกับการปกครอง การบริหาร การศาล นิติบัญญัติ การเศรษฐกิจ
        อริยวินัย เป็นเครื่องช่วยให้สมาชิกของพระสงฆ์มีความเจริญงอกงาม ได้รับประโยชน์ที่พึงได้จากองค์กร  เมื่ออริยวินัยยังมีอยู่ สมาชิกของพระสงฆ์ก็ยังอยู่ เมื่อสมาชิกยังอยู่ ประโยชน์ที่บุคคลพึงได้จากระบบสงฆ์ก็จะยังคงอยู่
        อริยวินัย เป็นภาคปฏิบัติที่นำเอาเนื้อหาและหลักการไปจัดสรรให้ความประพฤติและความเป็นอยู่ที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์เกิดเป็นจริงขึ้น และสามารถขยายกว้างออกไปในสังคมมนุษย์
        อริยวินัย เป็นเครื่องมือของธรรม มุ่งรูปแบบ เน้นที่ระบบ จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึงจุดมุ่งหมายชีวิต
                        ปัจจัยสำหรับดำรงชีวิตพื้นฐาน มีเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค พระสงฆ์อาศัยปัจจัย ๔ เหมือนมนุษย์ทั้งหลาย ที่ต่างคือรูปแบบสังคมที่เข้มงวด พระพุทธเจ้าทรงมุ่งพัฒนาสมาชิกสงฆ์ให้มีความมักน้อยสันโดษการใช้ปัจจัย ๔ (ปจฺจยสนฺโตสทีปกํ อริยวํสปฏิปทํ) สงฆ์คือวงศ์ของอริยชน ลำดับที่ ๘ คือ อริยวงศ์(อฏฺฐโม อริยวํโส
                        การบริหารองค์กร มีรูปแบบการจัดการที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพระสงฆ์ การบริหารมีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตย มีธรรมาธิปไตยเป็นฐาน  การบริหารจัดการองค์กรเป็นไปเพื่อประโยชน์สำหรับสมาชิกของพระสงฆ์ ถือตามมติของสมาชิก สมาชิกพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นครูต้นแบบ พระพุทธเจ้ามิได้มีอำนาจเพียงผู้เดียว   แต่งตั้งสมาชิกดำรงตำแหน่งทำหน้าที่บริหารตามความเห็นชอบของสมาชิกพระสงฆ์ สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมการบริหาร การบริหารมีรูปแบบต่อต้านการถือครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่สอดคล้องกับการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ต่อต้านระบบปกครองแบบเผด็จการ 
                        พระพุทธเจ้าทรงตั้งสังคมสงฆ์เพื่อปฏิบัติตามที่ประกาศ ว่า “ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว”    ผู้ดำเนินไปตามอุดมการณ์ดังกล่าว ต้องพัฒนาตนได้ก่อนจึงสามารถทำตามอุดมการณ์นี้ได้              
                 
                        ข้อเสนอแนะ
        เพื่อให้การศึกษาบทบาทของพระสงฆ์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงเสนอให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้
        ๑.   บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน
        ๒. การประยุกต์อริยวินัยของสังคมสงฆ์เพื่อสร้างสังคมอุดมคติในโลกปัจจุบัน
        ๓.  อริยวินัยในพระพุทธศาสนากับอริยวินัยในศาสนาร่วมสมัย
 
        กิตติกรรมประกาศ
        ความสำเร็จของงานวิจัยเรื่องนี้ อาศัยแหล่งข้อมูลการค้นคว้า เอกสาร ตำรา คัมภีร์ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ นอกจากห้องสมุดส่วนบุคคล ได้อาศัยหน่วยงานที่ผู้วิจัยเกี่ยวข้อง ใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แก่ หอสมุดกลาง   ฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสน์ บัณฑิตวิทยาลัย   และ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ร่วมเป็นพลังผลักดันให้งานวิจัยสัมฤทธิผลลุล่วงด้วยดี
 
 
 
 
 
 
(ที่มา: บทความวิจัย )
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕