Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาสัญญา ปญฺญาวิจิตฺโต (โปร่งใจ)
 
Counter : 20050 time
ศึกษารูปแบบและแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรมของพระครูพิศาล-ธรรมโกศล (สุพจน์ กญฺจนิโก, “หลวงตา” – “แพรเยื่อไม้”) (๒๕๔๔)
Researcher : พระมหาสัญญา ปญฺญาวิจิตฺโต (โปร่งใจ) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
Committee :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  พระพิจิตรธรรมพาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมฑฺฒโน)
  ดร.สำเนียง เลื่อมใส
Graduate : ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔
 
Abstract

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรมของพระครูพิศาลธรรมโกศล (สุพจน์  กญฺจนิโก, "หลวงตา" - "แพรเยื่อไม้") ซึ่งผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ บท  ในแต่ละบทมีรายละเอียดที่จะศึกษา ดังนี้     

          บทที่ ๑  บทนำ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา และวัตถุประสงค์ของการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย คำจำกัดความในการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย

          บทที่ ๒ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเผยแผ่พุทธธรรมและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์    วรรณกรรม และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

          บทที่ ๓ การศึกษารูปแบบและแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรมของพระครูพิศาลธรรมโกศล (สุพจน์  กญฺจนิโก, "หลวงตา" - "แพรเยื่อไม้") ทั้ง ๓ ประเภทคือ ๑. การเทศนา  (เทศน์มหาชาติ  เทศน์ธรรมวัตร)  ๒. การปาฐกถา - บรรยายธรรม  อภิปราย สนทนา และโต้วาที           ๓. เขียนหนังสือ  บทความ  วรรณกรรมเรื่องสั้นต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีวิธีการนำเสนอ ๔ วิธี คือ  ๑. การนำเสนอโดยตรง  ๒. การนำเสนอโดยเปรียบเทียบ  ๓. การนำเสนอโดยใช้การเชื่อมโยง  ๔. การนำเสนอโดยการใช้ตัวอย่าง และจากการศึกษาแนวทางการใช้สำนวนภาษาของท่านซึ่งปรากฏอยู่ในรูปแบบดังกล่าวมานั้น ผู้วิจัยพบว่ามีลักษณะเด่น ๓ ประการ คือ ๑. การใช้ถ้อยคำ มีการใช้คำง่าย และการใช้คำเชิงสัพยอก ๒. การใช้ภาพพจน์ มีการใช้ภาพพจน์อุปมา  ภาพพจน์บุคลาธิษฐาน และภาพพจน์การเลียนเสียงธรรมชาติ ๓. การใช้สำนวนพุทธศาสนสุภาษิต สุภาษิต คำพังเพย คำคม คำกลอน และแหล่มาประกอบ

          บทที่  ๔    การเปรียบเทียบความสอดคล้องระหว่างการเผยแผ่พุทธธรรมของพระครู
พิศาลธรรมโกศล (สุพจน์  กญฺจนิโก, "หลวงตา" - "แพรเยื่อไม้") กับวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์  ผู้วิจัยพบว่า มีความสอดคล้องกันทั้ง ๒ วิธีการ

          บทที่ ๕  ว่าด้วยสรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ จากการวิจัยผลการศึกษารูปแบบและแนวทางการเผยแผ่ของพระครูพิศาลธรรมโกศล  (สุพจน์  กญฺจนิโก, "หลวงตา" - "แพรเยื่อไม้")  ผู้วิจัยพบว่า ท่านได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเทศน์มหาชาติและการเทศน์ธรรมวัตรตามแบบประเพณีโบราณดังกล่าวมาเป็นการเทศน์มหาชาติแบบประยุกต์และนำเข้ามาสู่การปาฐกถาธรรม - บรรยายธรรม  อภิปราย โต้วาที  และการสนทนาธรรมแบบร้อยแก้ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้การเผยแผ่พุทธธรรมผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ  เช่น วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร แถบบันทึกเสียง และจัดพิมพ์หนังสือธรรมะออกเผยแผ่เป็นต้น โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ มุ่งที่จะให้ผู้ฟังที่มีโลภะ โทสะ โมหะ ก็ให้หายจากโลภะ โทสะ โมหะ ลงบ้าง ผู้ฟังที่มีความทุกข์ก็ให้คลายจากความทุกข์ลงบ้าง ผู้ฟังที่มีความประพฤติไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง  ก็ให้เลิก ลด ละได้  หรือผ่อนให้คลายลงได้  โดยเฉพาะวรรณกรรมเรื่องสั้นได้สะท้อนให้เห็นค่านิยมและปัญหาต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยในสมัยนั้น ท่านได้ให้คำแนะนำและเสนอความคิดเห็นเชิงแก้ไขปรับปรุงในเรื่องต่าง ๆ ชักจูงโน้มน้าวจิตใจบุคคลให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในครอบครัว ส่งเสริมให้เกิดความสงบสุขในสังคม และส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกในเรื่องต่าง  ๆ  ที่สังคมไทยยังบกพร่อง

          รวมความว่า ท่านมีทั้ง "ศาสตร์"และ "ศิลป์" ในการนำเสนอหรือเผยแผ่พุทธธรรม  (ศาสตร์ คือ ความรู้ ส่วนศิลป์ คือ เทคนิคหรือวิธีการ) ซึ่งท่านนำมาใช้จนเป็นเอกลักษณ์ของท่านและได้เป็นรูปแบบหนึ่งที่เป็นแนวทางขององค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาสนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน  ดังนั้น รูปแบบและแนวทางการเผยแผ่พุทธธรรมของพระครูพิศาลธรรมโกศล (สุพจน์  กญฺจนิโก, "หลวงตา" - "แพรเยื่อไม้") จึงอาจเป็นแบบอย่าง เป็นบรรทัดฐานแห่งการเผยแผ่พุทธธรรมที่วัดต่าง  ๆ  สามารถนำไปศึกษาเพื่อเผยแผ่พุทธธรรมอย่างมีประสิทธิภาพได้
 

Download : 254315.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012