Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม (กลางพนม)
 
Counter : 20000 time
การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความจริงเรื่องจิตของวิลเลียม เจมส์(๒๕๔๘)
Researcher : พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม (กลางพนม) date : 23/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
  ผศ.ดร. ประเวศ อินทองปาน
Graduate : 6 / สิงหาคม / 2548
 
Abstract

ปรัชญาถือว่าเป็นแม่ของศาสตร์ทั้งปวง และเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก วิธีคิดในทางปรัชญาสามารถตอบปัญหาชีวิตได้ ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้มนุษย์สร้างระบบและวิธีคิดของตนเอง หลังจากที่ได้ศึกษาจากนักปรัชญารุ่นก่อน กาลเวลาได้บ่มเพาะให้เกิดทฤษฎีทางปรัชญามากมาย เพื่อแสวงหาความรู้ และตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของมวลมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มนุษย์ผ่อนคลายจากสถานการณ์อันตึงเครียดทางเศรษฐกิจ หันมาตรวจสอบการดำเนินชีวิต ด้วยวิถีแห่งปรัชญาชีวิตมากขึ้น แนวคิดว่าด้วยค่าของคนและการกระทำถูกหยิบมากล่าวถึงเสมอในการดำรงชีวิตว่า ควรที่จะปฏิบัติอย่างไรชีวิตถึงจะมีค่าและมีความสุข ประเด็นที่แตกออกมาพอสรุปได้เป็น ๒ ประเด็น คือ
๑. การดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงจิตใจอย่างเดียว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติให้เกิดผลตามทฤษฎีที่ได้เล่าเรียนมา หรือตามที่จิตใจต้องการแสวงหา เน้นที่ความมีคุณธรรมภายในตัวอย่างเดียวก็เพียงพอ
๒. การดำเนินชีวิตที่ถือว่าดีและมีคุณภาพจำต้องมีความดีในจิตใจ มีคุณธรรมและสิ่งสำคัญที่สุดคือ การนำมันออกมาสู่การปฏิบัติให้ได้ผล อย่างที่ดำรงอยู่ในใจด้วย การปฏิบัติเป็นการยืนยันถึงความมีอยู่แห่งคุณธรรมของบุคคลนั้น ๆ อย่างดีเยี่ยม
งานวิจัยเล่มนี้ได้นำหลักปรัชญาของวิลเลียม เจมส์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีเรื่องจิต และการนำแนวคิดเรื่องความมีอยู่แห่งจิตไปสู่การปฏิบัติ (จิตนิยมเชิงประสบการณ์) ในหนังสือ
ของวิลเลียม เจมส์ และหนังสือเล่มอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้มีผู้นิพนธ์ไว้ นำมาเสนอเป็นประเด็นหลัก แล้วนำทรรศนะเรื่องจิตของพุทธปรัชญาเถรวาท ที่ปรากฏเป็นหลักฐานในคัมภีร์พระไตรปิฎกมาเปรียบเทียบบางประเด็น เพื่อให้เห็นแนวความคิดเรื่องจิตหรือวิญญาณว่ามีความคล้ายคลึงกันหรือแตก ต่างกันเพียงใด รวมทั้งวิธีการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้นด้วย
เมื่อผู้วิจัยได้ศึกษาแนวความคิดเรื่องจิตของเจมส์ทั้งในหนังสือว่าด้วย “ระเบียบแห่งจิตวิทยา” ซึ่งเป็นงานเขียนเกี่ยวกับจิตโดยตรงของเจมส์แล้ว พบว่า นิยามคำว่า “จิต” ของเจมส์นั้นไม่ได้หมายถึงจิตที่เป็นวิญญาณอย่างเดียว แต่มีคำที่เป็นไวพจน์อยู่หลายคำ เช่นคำว่า เจตจำนง เจตนา และเพทนาการ เป็นต้น และภาวะของจิตก็เป็นผลให้เกิดการกระทำที่สมเหตุสมผล เป็นสิ่งที่ยืนยันความมีอยู่แห่งจิตได้เป็นอย่างดี ประเด็นเรื่องลักษณะและการดำรงอยู่ของจิตนั้น จิตดำเนินต่อกันไปเป็นกระแสแห่งพฤติกรรม มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นวัฏจักร ในประเด็นเรื่องการหลุดพ้นของเจมส์นั้น ผู้วิจัยพบว่า เจมส์เน้นเรื่องการปฏิบัติที่สมเหตุสมผลในชีวิตประจำวัน โดยเน้นที่การทำลายความเห็นแก่ตัว มากกว่าการบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อหลุดพ้นจากกิเลส และเข้าสู่พระนิพพานเหมือนศาสนาพุทธ แต่เจมส์เน้นความสุข การทำลายทิฎฐิและความเห็นแก่ตัว เพื่อให้เกิดสันติสุขที่แท้จริงในโลกนี้
ทางด้านคำสอนของพุทธปรัชญามีมากมายที่กล่าวถึงเรื่องจิต แต่ผู้วิจัยเลือกมาบางประเด็นที่สมควรเปรียบเทียบให้เห็นความต่างบ้าง และการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยก็ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะตีความว่าแนวความคิด เรื่องจิตของวิลเลียม เจมส์ ผิดจากพระพุทธศาสนา หรือดีกว่านักปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ เพียงแต่นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ระเบียบแห่งจิตวิทยา” และตำราที่เกี่ยวข้องเล่มอื่นๆ มานำเสนอเท่านั้น
ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ทัศนะว่าด้วยเรื่องจิตของเจมส์ มีอิทธิพลต่อนักปฏิบัตินิยมในยุคร่วมสมัยของเรา อีกทั้งแนวคิดเรื่องหน้าที่นิยม (Functionalism) หรือหน้าที่ทางจิตของเจมส์ที่หันมาสนใจเรื่องจิตผ่านพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการเรียนรู้และเน้นการศึกษาการทำหน้าที่อวัยวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของมนุษย์นั้น ได้นำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปได้อย่างกว้างขวาง เป็นปัญหาท้าทายให้ศึกษาค้นคว้ากันต่อไป การศึกษาข้อมูล และการค้นคว้าด้วยวิธีการวิจัย เป็นอีกแนวทางที่จะให้เราเข้าถึงข้อเท็จจริงได้พอสมควร จึงหวังว่าความจริงเรื่องจิตที่นำเสนอเรื่องนี้จะเป็นแสงสว่างและเป็น ประเด็นทางปรัชญาในการศึกษาอย่างกว้างขวางต่อไป

Download : 254854.pdf


Download :
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012